ผู้เขียน: ร่มฉัตร จันทรานุกูล, University of International Business and Economics, School of International Education
จีนเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาคล้ายกับประเทศไทย หนึ่งในเรื่องใหญ่ระดับประเทศในเดือนนี้คือการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยพร้อมกันทั่วประเทศของจีน สำหรับปีนี้เนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่เชื้อโควิด-19 ทำให้การจัดสอบเลื่อนช้าออกมาหนึ่งเดือนซึ่งปกติจีนจัดการสอบฯระหว่างวันที่ 7-10 มิ.ย. ของทุกปี(เวลาในการสอบของแต่ละมณฑลต่างกันเล็กน้อย บางพื้นที่ใช้เวลาเพียง 2 วัน)แต่ในปีนี้การสอบถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 ก.ค. ที่ผ่านมา
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของแผ่นดินใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศนี้ทางจีนเรียกว่า ‘เกาเข่า’(高考/Gao Kao)ซึ่งเป็นคำย่อจาก 高等学校招生全国统一考试 (อ่านว่า เกาเติ่งเสวียเสี้ยวจาวเชิงฉวนกั๋วถ่งอีเข่าชื่อ)หรือในภาษาอังกฤษคือ National Unified Examination for Admissions to General Universities and Colleges
การศึกษาในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาในจีนมีความเข้มข้นมาตลอด ยิ่งในเมืองชั้นหนึ่งอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น เป็นแหล่งรวมทรัพยากรชั้นยอดในด้านต่างๆ ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยดีชั้นนำกระจุกตัวอยู่ในเมืองเหล่านี้และแน่นอนว่าการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศที่ตั้งอยู่ในกลุ่มเมืองชั้นหนึ่งเหล่านี้มีการแข่งขันรุนแรงเป็นเท่าตัว
ความกดดันของเด็กจีนยุคใหม่มาจากสังคมและครอบครัว การเปรียบเทียบกันทางสังคมและภายในครอบครัวระหว่างญาติพี่น้อง นำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรง สุดท้ายเด็กๆก็ต้องรับความกดดันนี้ไปโดยปริยาย ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมผัสกับเด็กนักเรียนมัธยมจีนและเพื่อนร่วมงานชาวจีนรอบตัวที่มีลูก ต่างพยายามอย่างสุดความสามารถดันให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดีๆตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ทั้งยังวางแผนระยะยาวไปถึงการเข้าโรงเรียนมัธยมระดับท็อปของเมือง เพื่อปูทางสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยชิงหัวและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นต้น
การสอบเอ็นทรานซ์ของจีนมีขึ้นครั้งแรกในปี 1952 และในระหว่างปี 1966-1976 ได้หยุดชะงักไปเนื่องจากการปฎิวัติวัฒนธรรมภายในประเทศ หลังจากนั้นในเดือนต.ค. ปี 1977 การสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยจีนได้กลับมาอีกครั้ง จากการพัฒนาการศึกษาของจีนช่วงหลายสิบปีมานี้ มาตรฐานและกฎระเบียบการสอบเอ็นทรานซ์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในปัจจุบันระบบการสอบเอ็นทรานซ์ของจีนแบ่งเป็นวิชาหลักที่ต้องสอบ 3 วิชาและวิชาตามสายวิทย์ 3 วิชาหรือสายศิลป์ 3 วิชา ดังนี้ วิชาหลักที่ต้องสอบ วิชาภาษาจีน(150 คะแนน) คณิตศาสตร์(150 คะแนน) และภาษาอังกฤษ( 150 คะแนน) รวมคะแนนเต็มวิชาหลัก 450 คะแนน ส่วนวิชาสอบตามสายวิทย์ 3 วิชาคือฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยารวม 300 คะแนน หรือศิลป์ 3 วิชาคือ การเมือง ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ รวม 300 คะแนน กล่าวคือนักเรียนต้องสอบวิชาหลักและเลือกสอบวิชาในสายวิทย์หรือศิลป์ คะแนนเต็มรวมกัน 750 คะแนน
ในส่วนของมหาวิทยาลัยในจีน ทุกปีจะประกาศโควต้านักศึกษาที่รับของแต่ละคณะและวิชาเอก โดยกำหนดเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยขั้นต่ำ ดังนั้นการเลือกมหาวิทยาลัยและคณะก็ต้องประเมินคะแนนโดยรวมของตนเองด้วย เพราะการยื่นขอเลือกมหาวิทยาลัยและคณะของแต่ละที่มีการแข่งขันที่เข้มข้นต่างกันไปอีก
บรรยากาศการเตรียมตัวสอบของเด็กจีนจะเข้มข้นมากที่สุดคือปีสุดท้ายของมัธยมปลาย อาจารย์ประจำชั้นจะติดตามนักเรียนทุกคนอย่างใกล้ชิด มีการติวเตอร์ในโรงเรียนอย่างเข้มข้น หลังจากเลิกเรียนแล้วบางโรงเรียนยังจัดให้นักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย ต้องอยู่โรงเรียนเพื่ออ่านหนังสือและจัดติวเตอร์หลังเวลาอาหารเย็น ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ก็แทบจะเป็นบ้าเป็นหลังกับการตรวจตราติดตามผลการเรียน การสอบและบางครอบครัวก็เข้มงวดกับการเรียนของลูกหลานเป็นอย่างมาก หลายครอบครัวที่มีฐานะดีสำหรับการศึกษาของลูกหลานแล้วจ่ายเงินได้แบบถึงไหนถึงกัน ผู้เขียนเคยถามเพื่อนรอบตัวอยู่เหมือนกันว่า ทำไมการเรียนหนังสือของเด็กมัธยมและการสอบเอ็นทรานซ์ถึงเอาเป็นเอาตายกันขนาดนี้ คำตอบที่ได้หลักๆ คือเรื่องของการแข่งขันและหน้าตาในสังคม ยิ่งในเมืองใหญ่ความกดดันยิ่งมาก อีกอย่างคือในกลุ่มโรงเรียนเองก็มีการแข่งขันและเปรียบเทียบทำสถิติระหว่างกัน ว่าในแต่ละปีนักเรียนของโรงเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศมีจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพของคณาจารย์และมีผลต่อชื่อเสียงของโรงเรียนอีกด้วย
ในปีนี้เป็นปีพิเศษของเด็กที่สอบเอ็นทรานซ์เพราะ ‘ภาวะปกติใหม่’ (New Normal) ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวทุกอย่าง(วัดอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่เข้าสนามสอบ ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดและปฎิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันโรคระบาดในสนามสอบอย่างเคร่งครัด) ทั้งการเรียนตั้งแต่ต้นปีนี้มา เป็นการเรียนออนไลน์เป็นหลัก นักเรียนต้องเตรียมตัวฝึกทำข้อสอบที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ไปพร้อมๆกับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิด-19 การสอบเอ็นทรานซ์ที่จีนในปีนี้ได้รับผลกระทบมากเลยทีเดียว ในปีนี้นักเรียนที่เข้าสอบเอ็นทรานซ์ทั่วประเทศจีนมีจำนวน 10.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4 แสนคน จุดสอบทั่วประเทศกระจายอยู่ในแต่ละมณฑล 7 พันกว่าแห่ง สนามสอบย่อยทั้งหมด 4 แสนสนาม ผู้คุมสอบและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบครั้งนี้ 9.45 แสนคน
หน่วยตำรวจในพื้นที่ต่างๆยังต้องระดมกำลังเพื่อช่วยเหลือบริการด้านการเดินทางและคอยรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น(เช่น นักเรียนลืมบัตรประจำตัวประชาชน ตำรวจจะขี่มอเตอร์ไซด์พาไปเอาที่บ้านและกลับมาส่งที่สนามสอบ) สนามสอบในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งของจีนมีการจัดบริการรถบัสรับส่งนักเรียนไปที่สนามสอบ ในพื้นที่ที่การเดินทางลำบากหรือมีน้ำท่วมในเมืองทางภาคใต้ช่วงนี้ที่มีฝนตกหนัก รัฐบาลท้องถิ่นก็จะจัดที่พักและโรงแรมให้นักเรียนฟรีใกล้ๆสนามสอบ เพื่อประกันการเดินทางไปสนามสอบของนักเรียนทุกคนให้ปลอดภัยและทันเวลา
นักเรียนทุกคนต่างต้องการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดีในฝัน การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดีๆก็เป็นหน้าตาให้กับครอบครัวอีกด้วย ชาวจีนมีความเชื่อที่ว่า “การศึกษา เปลี่ยนชะตาชีวิต” หากว่าอยากมีชีวิตและสังคมที่ดี ต้องพยายามนำพาตัวเองเข้าไปสู่สังคมนั้นๆ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นสังคมเล็กย่อยลงมา แต่มีผลกระทบกับชีวิตของคนๆนึงมากเลยทีเดียว
ในปีนี้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากสถิติการสืบค้นข้อมูลมหาวิทยาลัยมากที่สุดใน เสิร์ชเอนจิ่นใหญ่ของจีน ไป่ตู้ ดอท คอม (Baidu.com) 5 อันดับแรกได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติจีน มหาวิทยาลัยจงซาน และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ส่วนภาควิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากสถิติการค้นหา 5 อันดับแรกได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์(AI)วิศวกรรมหุ่นยนต์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมเครือข่ายอินเตอร์เน็ต วิศวกรรมด้านฐานข้อมูลใหญ่ (Big Data) และเอกวิชาทางด้านการแพทย์ โดยอัตราการสืบค้นคำเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 164%
เราจะเห็นแนวโน้มการพัฒนาของการศึกษาในมหาวิทยาลัยจีนเกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่ เด็กจีนยุคใหม่ให้ความสนใจกับการศึกษาด้านดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว ผู้เขียนเห็นว่านี่คือผลของการพัฒนาวิทยาการใหม่ในสังคม ความต้องการตำแหน่งงานในด้านเฉพาะนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่บุคลากรเฉพาะด้านดังกล่าวยังขาดแคลนในตลาดแรงงานอยู่ ในยุคปัจจุบันประเทศจะก้าวหน้าได้มาจากวิทยาการและนวัตกรรมสมัยใหม่ การศึกษาและบ่มเพาะบุคลากรเฉพาะด้านนำมาซึ่งความสมดุล และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน.