เปิดเทอมใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากต้องเลื่อนไปจากสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่สิ่งที่ต้องเน้น คือ “ความปกติใหม่” ในการใช้ชีวิตในรั้วสถาบันการศึกษา ที่ต้องมีการปรับตัวทั้งผู้เรียน ผู้สอน รูปแบบการเรียน การสอน หรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ ที่ยังต้องเน้นเรื่องหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ลดความแออัด และตองทำความสะอาดบ่อยๆ
ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้แนะนำ 3 นวัตกรรมเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างความมั่นใจให้นักเรียน คุณครู และผู้ปกครองให้สามารถกลับไปเรียนได้ในยุค “New Normal”
1. Online Blended Learning For School
นวัตกรรมการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์สำหรับโรงเรียน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาทำให้การเรียนหนังสือของเด็กสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา โดย น.ส.รษา วงศ์สมิง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เล่าว่า บริษัทได้คิดค้นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่จะเข้าไปช่วยเสริมให้การเรียนการสอนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายให้สามารถดำเนินการได้อย่างง่าย และสะดวก เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวนักเรียน นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งยังสามารถออกแบบกิจกรรมที่ตนเองอยากทำได้เอง เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เด็กนักเรียนมีความต้องการที่ชัดเจนว่าอยากเรียน และทำกิจกรรมอะไร ดังนั้น นวัตกรรมของ เลิร์น เอ็ดดูเคชัน จะเข้าไปส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน หรือยากทบทวนบทเรียนช่วงใดก็สามารถทำได้เลยทันที
น.ส.รษา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบแพลตฟอร์มนั้น จะเป็นการใช้งานในรูปแบบของแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Learn Anywhere” ซึ่งเป็นแอปที่ต่อยอดมาจากระบบ “Online Blended Learning For School” โดยจะเปิดให้เด็กเรียนผ่านแอปพลิเคชันในรายวิชาหลัก อย่างเช่น วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยเป็นบทเรียนสำหรับนักชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-มัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น ส่วนการเข้าใช้งานนักเรียนจะต้องลงทะเบียนเพื่อขอ Password และ Username หลังจากที่ได้รับรหัสผ่านนักเรียนก็สามารถเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้เลย โดยระบบจะจัดลำดับบทเรียนตามที่โรงเรียนได้กำหนดไว้
“ที่ผ่านมา มีการนำระบบไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่อง 5 แห่ง ซึ่งพบว่านักเรียนให้ความสนใจและเข้าใช้เป็นจำนวนมาก สำหรับความพิเศษของแอปคือ จะช่วยให้การเรียนผ่านระบบออนไลน์ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ลดความกังวลว่าหากไปทำกิจกรรมแล้วจะเรียนมาไม่ทันเพื่อน เพราะสามารถกลับมาทบทวนบทเรียนได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ทางบริษัทเห็นว่าระบบสามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในยุคนี้ได้ค่อนข้างมาก สำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นจะเกิดผลดียิ่งขึ้นในกรณีที่มีการนำเอาแพลตฟอร์มออนไลน์ไปผสมผสานกับการสอนจริง นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังจะเข้าไปสนับสนุนการเปิดเทอมหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และสามารถช่วยให้โรงเรียนรักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยที่ไม่ต้องให้เด็กผลัดกันเข้าห้องเรียน” น.ส.รษา กล่าว
2. แพลตฟอร์ม Kids Up : ระบบจัดการความปลอดภัยของนักเรียนแบบครบวงจร
นวัตกรรมที่จะเข้ามาบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน และช่วยดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัย โดย นางอัมภาพัตร ฉมารัตน์ Co-Founder แพลตฟอร์ม Kids Up เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ Kids Up เกิดขึ้นมาจากที่ตนและภรรยาต้องไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนเป็นประจำ และมักจะพบกับปัญหาการจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน และความไม่ปลอดภัยที่เด็กจะต้องมายืนรอผู้ปกครองด้านหน้าซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ดังนั้น จึงคิดค้นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาบริหารจัดการการรับ-ส่งบุตรหลาน ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือที่ผู้ปกครองสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากลงทะเบียนผ่านเบอร์มือถือเท่านั้น โดยบริษัทจะเข้าไปติดตั้งระบบที่สามารถแสดงผลและแจ้งเตือนให้นักเรียนทราบว่าอีกกี่นาทีผู้ปกครองจะมาถึงผ่านระบบโทรทัศน์ หรือจอแอลอีดี
อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำระบบดังกล่าวเข้าไปติดตั้งและใช้งานกับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ นนทบุรี แล้ว ซึ่งพบว่าระบบดังกล่าวช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงช่วยให้การจัดระบบรถเข้า-ออกบริเวณหน้าโรงเรียนได้เป็นอย่างดี ในส่วนการใช้งานนั้นได้มีการออกแบบแอปฯ ให้ใช้งานง่ายกว่าระบบบริหารจัดการการจราจรหน้าโรงเรียนของต่างประเทศ และยังมีความแม่นยำในเรื่องของเวลาค่อนข้างสูง เพราะระบบจะตรวจจับเวลาการเดินทางผ่าน Google Map ดังนั้น เวลาที่ผู้ปกครองมาถึงค่อนข้างตรงตามที่แจ้งอาจจะมีบ้างในกรณีล้าช้าแต่เมื่อคำนวณแล้วบวกลบไม่เกิน 5 นาที
“ในอนาคตจะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นสำหรับผู้ปกครองที่ไม่ได้มารับลูกด้วยตนเอง และรถรับ-ส่งนักเรียน หรือการเชื่อมระบบกับแกร็บ นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับผู้ปกครองในบางกลุ่มที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนให้สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันได้ทุกรูปแบบ เพราะตนเห็นว่าในอนาคตนวัตกรรม หรือแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก ดังนั้น นวัตกรรมด้านการศึกษาจำเป็นจะต้องปรับ และคิดค้นฟังก์ชันใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยระบบเทคโนโลยีต้องสามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม” นางอัมภาพัตร กล่าว
3. School Management System 4.0
โครงการระบบบริหารจัดการสถานศึกษา 4.0 คือ แพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยจัดระบบบริหารจัดการโรงเรียนแบบ 4.0 โดย นายนรินทร์ คูนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จับจ่าย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าว่า ทางบริษัทได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยให้โรงเรียนก้าวสู่การเป็นโรงเรียนในยุค 4.0 ผ่านการบริหารจัดการด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการโรงเรียนแบบ 4.0 นั้นจะเพิ่มความสะดวกในการจัดระบบภาระงานภายในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระบบตารางสอนของครู และตารางเรียนของนักเรียน ระบบเช็กชื่อ ระบบตรวจสอบคะแนนความความประพฤติ ระบบแจ้งการบ้าน ระบบลา รวมไปถึงระบบบริหารงานของครู เช่น ระบบรายงานผู้บริหาร ระบบรายงานผลการเรียน ระบบปฏิทินโรงเรียน
“ข้อมูลทั้งหมดจะถูกรายงานผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ซึ่งสามารถเข้าใช้งานผ่านมือถือได้เลยโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม นอกจากนี้ ระบบจะทำงานแบบ Realtime ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนอัปเดตความเคลื่อนของครู นักเรียน ได้ตลอดเวลา ผ่านการใช้ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บบน Cloud Base ที่มีความปลอดภัยสูง” นายนรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ทางบริษัทได้มีการนำเอาระบบไปทดลองใช้กับโรงเรียนกว่า 300 แห่ง พบว่า ระบบการจัดการภายในโรงเรียนมีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โรงเรียนสามารถจัดหมวดหมู่เอกสารและมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนแต่ละคนครบถ้วนและชัดเจน สามารถลดภาระงานให้แก่ครูได้มากถึง 90% นอกจากนี้ ยังทำให้โรงเรียนทราบพฤติกรรมของนักเรียนและสามารถนำไปวางแผนเพื่อรองรับหรือปรับพฤติกรรมของนักเรียนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับความโดดเด่นของระบบนั้นแม้ว่าจะเป็นระบบการจัดการที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน แต่มีการออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านกราฟิกที่สวยงาม สบายตา เหมาะสำหรับครู อาจารย์ นอกจากระบบจะจัดการข้อมูลภายในโรงเรียนให้แล้วยังสามารถเชื่อมผู้ปกครอง โรงเรียน และนักเรียนเข้าหากัน ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของครูและสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้ปกครอง
หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เราจะเริ่มเห็นสิ่งใหม่ๆ หรือวิถีใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมเกี่ยวกับการศึกษา เพราะหลังจากนี้ในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ครู นักเรียน จะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นกว่า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้นวัตกรรมเกี่ยวกับการศึกษามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และจะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทย