xs
xsm
sm
md
lg

หยิกเล็บมังกร เปิดบันทึก ‘ความจริง’ ‘ความลวง’ ช่วงความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคสงครามเย็น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปีนี้เป็นปีครบรอบ 45 ปี สถาปนาความสัมพันธภาพทางการทูตกัน โดยนับจากวันลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. พ.ศ. 2518

ในการย้อนมองความสัมพันธ์ไทย-จีนช่วงยุคสมัยใหม่ มิอาจมองข้ามประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ยุคสงครามเย็น เนื่องจากถือเป็นยุคบุกเบิกผูกสัมพันธ์ระหว่างสองชาติก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์การทูตกันซึ่งต้องฝ่าอุปสรรคความขัดแย้งหลายประการ

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่เหตุการณ์ในความสัมพันธ์ไทย-จีนออกมาไม่น้อย และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีหนังสือเผยข้อเท็จจริงอีกด้านอีกแง่มุมของเหตุการณ์ในความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคสงครามเย็นอย่างที่ไม่เคยเปิดเผยสู่สาธารณะมาก่อน คือ หยิกเล็บมังกร: ความทรงจำของ ‘ซิว ซิววัน’ ล่ามจีน-ไทย ยุคนายกฯ โจว เอินไหล

หยิกเล็บมังกรฯ ได้ประกาศตัวเป็น บันทึก ‘ความจริง’ ‘ความลวง’ ช่วงความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคสงครามเย็น เนื้อหาในหนังสือมาจากคำบอกเล่าของนาย ซิว ซิววัน ล่ามจีน-ไทยประจำตัวนายกโจว เอินไหล และเติ้ง เสี่ยวผิง โดยมีผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงเนื้อหาฯคือ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ภูมิหลังยุคสงครามเย็น (หรือสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์) เกิดขึ้นหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปีพ.ศ. 2488 สี่ปีต่อมาหลังสงครามโลกฯยุติพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยเหนือพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียง ไคเช็คในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่าสิบปี และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีพ.ศ.2492 โดยมีประธานเหมา เจ๋อตง เป็นผู้นำสูงสุด และโจว เอินไหลเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีไทย ได้สนับสนุนนโยบายมหาอำนาจตะวันตกคือสหรัฐอเมริกาที่ปฏิบัติการกวาดล้างลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนหยุดชะงักไป

ทว่า กลุ่มนักคิดปัญญาชนชาวไทยตลอดจนนักการเมืองกลุ่มหนึ่งมีความคิดว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ เป็นมิตรแดนใกล้ของไทย จึงเคลื่อนไหวติดต่อกับจีนอย่างลับๆ ช่วงนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ช่วยบุกเบิกความสัมพันธ์ความไทย-จีนก่อนสถาปนาความสัมพันธภาพทางการทูตกันในปี พ.ศ.2518

หลังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนแล้ว ความสัมพันธ์สองชาติได้ชะงักลงอีกในปีถัดมาคือช่วงสมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียรซึ่งไม่เป็นมิตรกับจีน กลุ่มผู้นำไทยและชนชั้นนำไทยหลายท่านได้ช่วยกันกอบกู้ความสัมพันธ์

และในหนังสือ หยิกเล็บมังกร ได้เผยนามผู้ปิดทองหลังพระสร้างคุณูปการในการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยยุคใหม่ อาทิ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี อานันท์ ปันยารชุน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ตลอดจนคนเล็กคนน้อยที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดันเรื่องนี้

จนล่วงสู่ปี พ.ศ.2521 ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิงมาเยือนไทย และได้ตัดสินใจอย่างไม่ลังเลในการเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่อยู่ในแผนการเยือนฯ คือพระราชพิธีทรงผนวชของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ถือเป็นอัจฉริยภาพของผู้นำสูงสุดแดนมังกรผู้กล่าววาจาอันลือลั่น “ไม่ว่าจะเป็นแมวเหลืองแมวดำ ขอให้จับหนูได้ ถือเป็นแมวที่ดี” ท่านเติ้งได้เป็นขวัญใจชาวไทยมาเนินนานนับทศวรรษ (หยิกเล็บมังกร หน้า 110-111)

“อะไรคือ ความจริง, อะไรคือ ความลวง” มาเปรียบเทียบกันดู เพื่อขจัดเขม่นควันดำในประวัติศาสตร์

ซิว ซิววัน
ซิว ซิววัน (17 ม.ค.2475-) เด็กสองภาษา พ่อเป็นหนุ่มไหหลำ แม่เป็นสาวลำปาง จากแผ่นดินไทยไปศึกษาที่แผ่นดินจีนตั้งแต่รุ่นกระทง เขาอยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญๆของประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น ตั้งแต่ช่วงเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆอย่างละเอียด เพราะในวัยหนุ่มซิววันทำหน้าที่เป็นล่ามจีน-ไทย ประจำตัวท่านนายกฯโจว เอินไหล กับเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงต้นทศวรรษ 2520

คำนิยมหนังสือ หยิกเล็บมังกร
“หยิกเล็บมังกร มีคุณวิเศษอยู่ที่ผู้เผยข้อเท็จจริงคือ ซิว ซิววัน ผู้อยู่ในสถานะพิเศษในสังคมจีน ที่ใครเล่าจะเข้าถึงโจว เอินไหล และเติ้ง เสี่ยวผิงได้ง่ายๆ...สำหรับ หยิกเล็บมังกร ข้าพเจ้าอ่านเพลิน ภาษากระชับ ข้อความกระจ่าง แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา อย่างไม่บิดเบือนอะไรๆ แม้บางเรื่องอาจยังเปิดเผยสู่สาธารณชนไม่ได้ก็ต้องเก็บงำไว้ก่อน” ส.ศิวรักษ์

“ทั้งซิว ซิววัน และผมมีความเห็นตรงกันว่า ความจริงทางประวัติศาสตร์หรือสัจธรรมเท่านั้นจะช่วยให้เกิดการรับรู้ ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์...เรื่องเบื้องหลังความสัมพันธ์ไทย-จีน คนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์มากและยาวนานที่สุดคือ ซิว ซิววัน” ล้อม เพ็งแก้ว

ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ หยิกเล็บมังกร: ความทรงจำของ ‘ซิว ซิววัน’ ล่ามจีน-ไทยยุคนายกฯ โจว เอินไหล
เรื่อง: ซิว ซิววัน
ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง: นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
สำนักพิมพ์: สวนเงินมีมา
จำนวนหน้า 151 หน้า
ราคาปก 210 บาท
พิมพ์ครั้งที่ 1 — มิถุนายน 2563
ISBN: 978-616-481-016-7


กำลังโหลดความคิดเห็น