ผู้เขียน ร่มฉัตร จันทรานุกูล
University of International Business and Economics, School of International Education
ถึงตอนนี้ผู้อ่านหลายท่านอาจจะตระหนักแล้วว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นำผลกระทบมาสู่เศรษฐกิจค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกระทบจากจุลภาคไปถึงมหภาคเป็นโดมิโน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทำให้แต่ละประเทศเริ่มประสบภาวะคนตกงานและธุรกิจหลายธุรกิจต้องประสบปัญหาด้านการเงิน รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศก็มีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่างกันไป
ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอบอกเล่าสู่กันฟังว่า จีนมีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร หนึ่งในมาตรการผ่อนคลายที่ได้รับความสนใจและตอบรับจากประชาชนจีนค่อนข้างมากเลย คือการอนุญาตให้ประชาชนพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาตั้งขายของบนทางเท้าได้อย่างเหมาะสม
ระหว่างการแถลงฯ ตอบคำถามนักข่าวของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อ เฉียง ผู้คุมบังเหียนเศรษฐกิจฯ ได้ให้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนต่อไปจากนี้ โดยเน้นให้ความสำคัญกับประชาชนรากหญ้าที่ต้องช่วยเหลือให้ลืมตาอ้าปากกันได้ โดยแต่ละพื้นที่จะเริ่มมีการผ่อนคลายให้ร้านค้าริมถนนและประชาชนออกมาตั้งขายของริมถนนแบกะดินกันได้อย่างเป็นระเบียบ จุดประสงค์หลักก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มตำแหน่งงาน ลดอุปสรรคการหารายได้ของประชาชน อีกทั้งการตั้งขายของแบกะดินมีต้นทุนที่ถูก สินค้าส่วนมากราคาไม่แพงถูกใจผู้ซื้อ
ขอเกริ่นก่อนว่าแต่ไหนแต่ไรมาในทุกพื้นที่ของจีนโดยเฉพาะในเมืองหลักของแต่ละมณฑล จะมีการจัดระเบียบความเรียบร้อยของเมืองกันอย่างเคร่งครัด เหมือนที่กรุงเทพมหานครของเราจะมีเทศกิจคอยจับและปรับพวกพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย อยู่ตลอดเวลา ที่จีนก็เช่นกัน ที่ผ่านมาประชาชนเดินทางไปมาตามท้องถนนจะเห็นภาพที่พ่อค้าแม่ค้าแผงลอยขายของกันอย่างระแวดระวัง หากเห็นตำรวจหรือเทศกิจมาก็เก็บของและวิ่งหนี เปรียบเสมือนเกม “แมววิ่งจับหนู” พอเทศกิจไปพวกพ่อค้าแม่ค้าก็ออกมาตั้งของขายใหม่
จากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง ได้เคยเห็นเหตุการณ์ที่พ่อค้าแม่ค้าจีนหนีเทศกิจกันอุตลุดซึ่งมีหลายครั้งก็ทั้งทึ่งทั้งขำ โดยส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าจะใช้รถขายของแบบจักรยานยนต์พ่วง บางคนก็เป็นจักรยานพ่วงแบบธรรมดาที่ต้องปั่นเอง พวกเขาจะย้ายที่ขายของไปเรื่อย ๆ โดยมากจะไปกระจุกตัวอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหรือป้ายรถเมล์ที่มีคนพลุกพล่าน พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้ขายของไปก็จะมองซ้ายขวาไป มีคนทำหน้าที่ดูต้นทาง บางทีผู้เขียนยังไม่เห็นมีเทศกิจมา แต่คนพวกนี้เตรียมเก็บของหนีกันแล้ว กล่าวคือมีคนให้สัญญาณอยู่ บางทีก็ทิ้งลูกค้าให้ยืนงง
แต่การปล่อยให้หาบเร่ แผงลอยขายอย่างกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบนำมาซึ่งความเดือดร้อน อย่างปัญหาความสกปรกของพื้นที่ บางครั้งยังขวางทางจราจรหรือลุกล้ำทางเท้า เป็นต้น ทำให้ที่ผ่านมาการจะออกมาขายของบนทางเท้าของพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่จีนเป็นเรื่องที่ปฎิบัติได้ยากและไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
จากที่ หลี่ เค่อเฉียง ได้พูดถึงตัวเลขของรายได้ประชากรจีนทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน มีอยู่ 600 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าเดือนละ 1,000 หยวนหรือน้อยกว่า 4,500 บาท และหลังจากโควิด-19 หลายคนได้รับผลกระทบด้านการงานก็ทำให้รายได้ที่มีอยู่ลดลงไปอีก ที่แย่สุดคือตกงาน - ไม่มีรายได้เลย
ภายใต้เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่กำลังซับซ้อน จีนมองว่าในสถานการณ์แบบนี้ต้องมองมาที่ตัวเอง และต้องช่วยเหลือตัวเองมากยิ่งขึ้น นั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้นไปอีกนั่นเอง
หลายท่านทราบหรือไม่ ว่ารัฐบาลจีนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนใช้จ่ายหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วยวิธีการแจกจ่ายบัตรกำนัลเงินสดส่วนลดผ่านแอพต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเอาไปซื้อของทั้งบนออนไลน์และร้านค้าออฟไลน์ ครอบคลุมทั้งร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อและร้านบริการต่าง ๆ
เศรษฐกิจแบกะดินหรือที่คนจีนเรียกกันว่า “地摊经济”(ตี้ทานจิงจี้)เป็นสิ่งที่ค่อย ๆ หายไปจากสังคมจีนพร้อมกับการพัฒนาสังคมเมืองที่ศิวิไลซ์ การจัดการที่เข้มงวดทำให้คนขายของแบกะดินเหล่านี้หายไป ในสถานการณ์เช่นนี้ทางการจีนกลับมามองใหม่ว่า จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนที่สูงอยู่ ทุกพื้นที่มีคนรวยอยู่ก็จริง แต่ก็มีคนจนอยู่เยอะเช่นกัน เพราะเช่นนี้เองนำมาซึ่งเศรษฐกิจแบบหลายมิติหรือ “多元化经济”(ตัวหยวนฮว่าจิงจี้) คนในสังคมระดับล่างยิ่งมองไม่เห็นหนทาง บางคนอายุมากแล้ว ไม่มีความรู้ติดตัวไม่มีความสามารถพิเศษอื่น ๆ ทำให้การมีงานทำที่ดีเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้นสังคมและรัฐบาลต้องยื่นโอกาสให้คนระดับล่างในสังคมลืมตาอ้าปากได้ด้วย
เพราะเศรษฐกิจในสังคมเมืองที่มีหลายมิติ ความต้องการของประชาชนก็มีอยู่หลายมิติเช่นกัน นักวิชาการจีนได้ทำการสรุปข้อเด่นของเศรษฐกิจแบกะดิน ไว้สามประเด็นดังนี้
1. ต้นทุนการตั้งร้านต่ำ :ไม่มีหรืออาจจะมีค่าเช่าพื้นที่ที่ไม่แพง(เทียบกับการเปิดร้านค้า)ไม่มีข้อจำกัดทางคุณวุฒิและมีเวลาอิสระ
2. ต้นทุนการดำเนินงานต่ำ:การวางขายไม่ต้องมีการตกแต่งร้านมากมาย เงินลงทุนส่วนใหญ่คือวัตถุดิบหรือสินค้าต้องการเอามาขาย
3. สินค้าที่ขายราคาถูก:เพราะการมีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำ เป็นที่พอใจของลูกค้าที่มาจับจ่าย(เช่น แผงขายผักผลไม้ราคาถูกกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ต)
ทั้งนี้ทั้งนั้น การอนุญาตให้พ่อค้าแม่ค้าเอาของออกมาวางขายข้างทาง เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีด้านดีก็มีด้านเสีย ดังนั้นการวางกฎระเบียบเพื่อควบคุมอย่างชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมืองเฉิงตูเป็นเมืองที่ผ่อนคลายเมืองแรก ๆ ในจีน เทศกิจเปลี่ยนจากหน้าที่การจับและปรับมาเป็นการเดินตรวจตรา จัดระเบียบและเตือนพ่อค้าแม่ค้าให้รักษาความสะอาดบริเวณที่ตัวเองตั้งของขาย จัดบริเวณขายของที่ไม่กีดขวางถนนหรือทางเดินเท้า ออกใบเตือน เป็นต้น
การออกใบเตือนแก่พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ปฎิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ หากได้ใบเตือนครั้งที่สามก็จะต้องถูกปรับเงิน
คนจีนหลายคนมองว่าการผ่อนปรนให้ขายของข้างทาง ช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวาคึกคักมากยิ่งขึ้น การซื้อของกินข้างทางหรือการนั่งดื่มเบียร์กินบาร์บีคิวข้างทางก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ในมุมของคนค้าขายก็มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น เมื่อข้อจำกัดและอุปสรรคการออกมาตั้งของขายน้อยลงไป
ทั้งนี้ การผ่อนคลายความเข้มงวดของนโยบายนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่จะเหมือนกันหมด อย่างเช่นในปักกิ่งเมืองหลวงของจีนก็ยังคงเคร่งครัดและยังไม่มีการประกาศผ่อนคลายจากทางการ การตั้งแผงขายของข้างถนนในปักกิ่งแบบตามใจฉันยังเป็นไปไม่ได้
ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจแบกะดินที่เปิดกว้างขึ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ยากลำบาก เป็นการให้โอกาสและช่วยลดอุปสรรคการสร้างรายได้ให้คนรากหญ้า ผู้ว่างงาน หรือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย อย่างไรก็ตามการที่จะให้เศรษฐกิจแบกะดินเติบโตอย่างยั่งยืน ก็ต้องมีกฎระเบียบร่วมกัน นอกจากการเพิ่มงานเพิ่มรายได้ของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแล้ว ควรต้องมีการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาด ไปพร้อม ๆ กันด้วย