xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยสหรัฐฯ แจงเหตุผล 4 ข้อยัน ‘โควิด-19’ เป็นไปได้ยากที่จะหลุดจากแล็บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บิสสิเนส อินไซเดอร์ — นักวิจัยสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาอู่ฮั่นให้สัมภาษณ์กับสื่อของสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นไปได้ยากที่จุดเริ่มต้นของโรคระบาดโควิด-19 นั้นจะเกิดจากอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ

“เราทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาข้อกำหนดความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก ไม่น่าเป็นไปได้เลยว่าจะเป็นอุบัติเหตุในห้องแล็บ” จอนนา มาเซต (Jonna Mazet) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (WIV) กล่าว

มาเซตระบุเหตุผล 4 ประการโต้แย้งข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลในบทความที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์บิสสิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) เว็บไซต์ข่าวชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ (3 พ.ค.)

เหตุผลข้อแรก เธอแย้งว่า “ตัวอย่างจากห้องปฏิบัติการไม่ตรงกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”

มาเซตทำงานร่วมกับสือเจิ้งลี่ นักไวรัสวิทยาที่สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นผ่านโปรแกรมพรีดิค (PREDICT) ซึ่งเป็นโปรแกรมแจ้งเตือนโรคระบาดที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

“ฉันเพิ่งพูดคุยกับเธอเมื่อไม่นานมานี้” มาเซทพูดถึงสือ “เธอมั่นใจอย่างยิ่งว่าไม่เคยพบไวรัสชนิดนี้มาก่อนที่จะเกิดการระบาด”

ประการที่สอง สถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่นใช้ข้อกำหนดความปลอดภัยที่เข้มงวด ซึ่ง “เกินกว่าจะหาข้อติได้”

“ในภาคสนาม พวกเขา (นักวิจัย) สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเต็มที่ สวมถุงมือหลายชั้น อุปกรณ์ป้องกันดวงตา ชุดป้องกันร่างกายและหน้ากากเต็มรูปแบบ” มาเซตกล่าว

หลังผ่านขั้นตอนฆ่าเชื้อโรคหลายครั้ง ตัวอย่างที่เสื่อมฤทธิ์และไม่ติดเชื้อที่ใช้เฉพาะนักวิจัย รวมถึงภาชนะใส่ไวรัสที่มีชีวิตจะถูกเก็บในพื้นที่พิเศษอย่างหนาแน่น

มาเซตกล่าวถึงเหตุผลที่สามว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะเป็นโรคล่าสุดที่แพร่ข้ามจากสัตว์สู่คน มากกว่าจะเป็นการรั่วไหล”

มาเซตอ้างอิงถึงการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003, โรคอีโบลา และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เอช1เอ็น1 (H1N1) หรือ “ไข้หวัดหมู” ซึ่งล้วนเกิดจากเชื้อไวรัสที่กำเนิดในสายพันธุ์อื่น และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน

เธอกล่าวว่าการวิจัยทางพันธุกรรมเกือบจะยืนยันได้ว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในธรรมชาติ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์พบว่า มันมีรหัสพันธุกรรมร้อยละ 96 ร่วมกับไวรัสโคโรนาที่อยู่ในค้างคาว

สำหรับเหตุผลที่สี่ มาเซตระบุว่าในแต่ละวันผู้คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากกว่านักวิจัยที่สวมเครื่องป้องกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการรั่วไหลจากห้องปฏิบัติการนั้นเป็นไปได้ยาก

นักท่องเที่ยว คนล่าสัตว์ และบุคคลอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับสัตว์เพื่อจุดประสงค์ทางการค้าหรือกินเป็นอาหาร เข้าไปในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มีการป้องกันน้อย และด้วยเหตุนั้นจึงสัมผัสกับเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ได้

มาเซตกล่าวว่าความถี่ของการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ “จะเพิ่มขึ้นเมื่อมนุษย์รุกล้ำเข้าไปในที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่เป็นพาหะนำโรคที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน”
กำลังโหลดความคิดเห็น