MGR ONLINE--กลุ่มสื่อจีนเผยปรากฏการณ์ผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่รักษาหาย ออกจากโรงพยาบาล และกลับมาติดเชื้อฯอีกในเมืองเฉิงตู นอกจากนี้ในเมืองกว่างโจว และมณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) ยังพบกรณีผู้ป่วยฯที่กลับมาติดเชื้อฯหลังรักษาหาย โดยในกว่างโจวเผยจำนวนกรณีฯดังกล่าว 13 ราย
คณะกรรมาธิการสุขภาพและอนามัยแห่งเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวจีนเกี่ยวกับกรณีผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ที่ออกจากโรงพยาบาลแต่กลับมาติดเชื้อฯอีก
ด้านเมืองกว่างโจว...หลี่ เอ้าผิง หัวหน้าห้องไอซียูของศูนย์โรคติดต่อโรงพยาบาลประชาชนที่ 8 เมืองกว่างโจว แถลงในที่ประชุมข่าวเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เผยกรณีผู้ป่วยฯในกว่างโจว 13 ราย ได้กลับมาติดเชื้อฯหลังจากรักษาหายและออกจากโรงพยาบาล แม้ผลการตรวจออกมาเป็นค่าบวก (แสดงการติดเชื้อฯ) แต่ในทางเทคนิกเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าเป็นเชื้อฯเป็นหรือเชื้อฯตาย ดังนั้นจึงต้องจัดมาตรการป้องกันอย่างเต็มพิกัด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจผู้ใกล้ชิดกับกลุ่มคนไข้ที่กลับมาติดเชื้อฯ จำนวน 104 คน ผลปรากฏเป็นค่าลบ (ไม่มีใครติดเชื้อฯ)
“ในทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ของการกลับมาติดเชื้อฯใหม่ แต่อัตราความเป็นไปได้นี้ “ต่ำมาก” โดยอาจเป็นไปได้ว่าในร่างกายของคนไข้ยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ และด้วยสาเหตุปัจจัยต่างๆทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบเชื้อฯตอนอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล” เจ้า เว่ย หัวหน้าประจำห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety level 3) ของมหาวิทยาลัยการแพทย์หนันฟาง (Southern Medical University) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์
เจ้า เว่ย เปิดเผยว่าคนไข้ฯในเฉิงตูที่กลับมาติดเชื้อฯรายนี้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตรวจอาการตามมาตรฐานการรักษาและการอนุญาตให้ผู้ป่วยฯออกจากโรงพยาบาล ปรากฏการณ์ที่คนไข้ฯกลับมาติดเชื้ออีกนี้มีสาเหตุที่เป็นไปได้สองประการ ได้แก่ 1) แม้คนไข้หายดีแล้ว ดูจากภายนอกไม่มีอาการใดๆ แต่ภายในร่างกายยังมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในปริมาณเล็กน้อยมากจนตรวจไม่พบ 2) ในร่างกายของผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ไม่น้อย แต่เกิดความผิดพลาดในการตรวจสอบและการสุ่มตัวอย่าง ทำให้ผลการตรวจออกมาเป็น “ค่าลบปลอม”
เหลย เสวียจง หัวหน้าคณะอาจารย์แพทย์ และรองหัวหน้าศูนย์โรคติดต่อ โรงพยาบาลหวาซี มหาวิทยาลัยซื่อชวน (เสฉวน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนว่า การที่ผู้ป่วยที่หายแล้วและกลับมาติดเชื้อใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเชื้อไวรัสยังยื้ออยู่ในปริมาณเล็กน้อย ทำให้ภาวะ(ติดเชื้อ)ยังดำเนินต่อไป
“มีเชื้อไวรัสกลุ่มหนึ่ง เช่น ไวรัสโปลิโอ แม้คนไข้ที่ติดเชื้อฯหายดีแล้ว ไม่มีอาการป่วยไข้ใดๆ แต่เชื้อภายในร่างกายยังอยู่และมีการขับออกมา โดยอยู่ในสภาพที่ติดเชื้อได้ มันอาจกบดานอยู่เป็นเวลานานถึงหลายเดือน” เจ้า เว่ย อธิบาย และว่า สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะคงอยู่ในร่างกายคนนานเท่าใดนั้น ยังต้องดำเนินการวิจัยศึกษาต่อไป
ชี้กรณีผู้ป่วยกลับมาติดเชื้ออีกหลังจากรักษาหาย “อัตราเป็นไปได้ต่ำ”
ต่อกรณีผู้ป่วยกลับมาติดเชื้ออีกหลังรักษาหายได้สร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนอย่างมาก เจ้า เว่ย กล่าวว่า
“กรณีฯดังกล่าวมีความเป็นไปได้มีต่ำมาก เมื่อคนไข้หายดีแล้ว ภายในร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นอัตราการกลับมาติดเชื้ออีกจึงน้อยมาก แต่ก็มีเชื้อไวรัสบางตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบซี พลิกเปลี่ยนง่ายมากจนภูมิคุ้มกันในร่างกายตามไม่ทันอัตราเร็วในการเปลี่ยนแปลงของมัน ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้ว แต่สมรรถภาพของภูมิคุ้มกันเดิมไม่สามารถต่อกรกับเชื้อไวรัสที่พลิกเปลี่ยนไป หรือคุ้มครองร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงกลับมาติดเชื้ออีก”
“จากการประเมิน ณ ตอนนี้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่น่าจะมีปัญหาดังกล่าว เพราะจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (Genomic) ของเชื้อไวรัสในตัวผู้ป่วยที่มาจากต่างพื้นที่ ต่างช่วงเวลา และแหล่งติดเชื้อที่แตกต่างกัน พบว่าเชื้อไวรัสฯใหม่ตัวนี้ มั่นคงดี (ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย) ดังนั้น ประชาชนไม่น่าตื่นตระหนกต่อกรณีการกลับมาติดเชื้อหลังรักษาหาย”
“หากพบปรากฏการณ์ดังกล่าวในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้วมากขึ้น จึงจะมีการพิจารณาแก้ไขแบบแผนการวินิจฉัยและการรักษา” เจ้า เว่ย กล่าว ทั้งนี้แบบแผนการวินิจฉัยและการรักษาฯที่จีนใช้อยู่เป็นฉบับที่ 5
ผู้เชี่ยวชาญจีนอีกท่านที่ไม่เผยนามกล่าวว่าพวกเขากำลังถกเถียงเกี่ยวกับปัญหานี้ เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นพยาธิวิทยาหรือการเกิดโรครูปแบบใหม่ วงการวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักมันอย่างสมบูรณ์ ยังต้องมีการวิจัยและวินิจฉัยมูลเหตุการเกิดโรคที่แน่นอน ในการปรับแก้แบบการวินิจฉัยและรักษาฉบับที่ 6 ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจแอบแฝงอยู่นี้ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญยังให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล ให้ใส่ใจเป็นพิเศษในเรื่องต่อไปนี้
“เนื่องจากระบบภูมิต้านทานในการฟื้นฟูร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่ จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ แนะนำให้ติดตามภาวะสุขภาพตัวเองต่ออีก 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย พักในห้องนอนคนเดียวและจัดห้องให้มีอากาศถ่ายเท รักษาระยะห่างกับสมาชิกในครอบครัว พูดคุยหรือสัมผัสกันให้น้อยที่สุด ไม่กินอาหารร่วมกัน ล้างมือให้สะอาด งดเว้นกิจกรรมนอกบ้าน ข้อแนะนำอีกประการหลังจากออกจากโรงพยาบาลสัปดาห์ที่สอง สัปดาห์ที่สี่ ให้ไปโรงพยาบาลตรวจร่างกาย ให้แพทย์วินิจฉัยอีกครั้ง”