เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์--พญามังกรก้าวหน้าลิ่วๆขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำสถิติเปิดบริการเส้นทางฯใหม่กว่า 10 สายในวันสุดท้ายของปี รวมระยะทางเส้นทางม้าเหล็กจ้าวความเร็วสูงที่จีนได้เปิดเพิ่มในปีนี้ เท่ากับ 5,000 กิโลเมตร
เส้นทางไฮสปีดสายใหม่ที่เริ่มเปิดบริการในวันจันทร์ (30 ธ.ค.)ได้แก่ เส้นทางเชื่อมกรุงปักกิ่งและจางจยาโข่ว ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมจัดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2022 จากการแถลงของไชน่า เรลเวย์ คอร์พอเรชั่น (China Railway Corporation) เมื่อสุดสัปดาห์
เส้นทางไฮสปีดสายนี้เป็นโครงการหลักของโอลิมปิกฤดูหนาว และจะย่นระยะเวลาการเดินทางจากเมืองหลวงจีนไปยังจางจยาโข่วในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของประเทศ จาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 47 นาทีเท่านั้น
เส้นทางฯความยาว 174 กิโลเมตรสายนี้ สามารถวิ่งด้วยอัตราเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตร และจะเชื่อมเครือข่ายม้าเหล็กจ้าวความเร็วสูงไปยังเมืองหลันโจวในมณฑลกันซู่แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นก็ยืดยาวมุ่งสู่ภาคตะวันตกไปเชื่อมต่อกับเส้นทางไฮสปีดสายอื่นๆพาดผ่านมณฑลซันซี มณฑลเหอเป่ย และเข้าสู่เขตตะวันออกของเขตปกครองตัวเองชนชาติมองโกเลียมณฑลมองโกเลียใน
เป็นที่คาดว่าการเปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเหล่านี้จะทำให้การเดินทางจากปักกิ่งไปยังฮูเหอเฮ่าเท่อ (Hohhot) เมืองเอกของเขตปกครองตัวเองมองโกเลียใน ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง 9 นาที เทียบกับปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาเดินทางระหว่างสองเมืองนี้นานกว่า 9 ชั่วโมง
รายงานข่าวของ เดอะเปเปอร์ สื่อท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้ระบุว่าจีนคาดหวังไว้ว่าการเปิดเส้นทางไฮสปีดสายใหม่เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างมองโกเลียในกับกลุ่มเมืองเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ที่จีนกำลังผลักดันอยู่
สำหรับมองโกเลียในเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนเมือง เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะทำให้สามารถจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวไปยังมองโกเลียในแบบหนึ่งวัน
ในวันอาทิตย์(29 ธ.ค.) เขตปกครองตัวเองของชนชาติหุยมณฑลหนิงซย่าแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ประเดิมเส้นทางรถไฟความเร็วสายแรก โดยเส้นทางฯความยาว 207 กิโลเมตร สายนี้จะเชื่อมเมืองหลักของมณฑล ได้แก่ อิ๋นชวน อู๋จง และจงเว่ย โดยลดเวลาเดินทางถึงกันเหลือแค่ 90 นาที
ไชน่า เรลเวย์ (China Railway) เผยว่าในปีนี้จีนได้เปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่เพิ่มอีกรวม 5,000 กิโลเมตร ทำให้จีนมีเส้นทางไฮสปีดรวมทั้งสิ้น 35,000 กิโลเมตร โดยคิดเป็นสองเท่าของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เหลือของทั้งโลกรวมกัน
นอกไปจากนี้จีนยังได้ผลักดันการก่อสร้างและอัดฉีดเงินทุนให้กับโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆโดยมีแผนการใหญ่เชื่อมจีนกับสิงคโปร์และยุโรป