xs
xsm
sm
md
lg

“เป่ยโต่ว” ระบบดาวเทียมนำร่อง คู่แข่ง GPS จะสมบูรณ์ในปีหน้า เร็วกว่ากำหนด 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป่ยโต่วดวงล่าสุดที่ถูกยิงขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 5 พ.ย. (ซินหวา)
เอเจนซีส--จีนยิงระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วดวงที่ 29 ซึ่งจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งระบบจีพีเอสของสหรัฐฯ เผยระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วรุ่นที่ 3 นี้จะฟอร์มเครือข่ายสมบูรณ์ในปีหน้าซึ่งถือว่าเร็วกว่ากำหนด 6 เดือน

จรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช Long March-IIIB ได้พาดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่วดวงที่ 29 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากสถานียิงจรวดซีชัง มณฑลกันซู่

สำหรับจุดมุ่งหมายของระบบดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว ซึ่งแปลว่าดาวเหนือนี้ จะเปิดทางให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือพีแอลเอ นำไปใช้แทนที่ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก จีพีเอส (GPS) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ จากนั้นจีนจะดันเป่ยโต่วขึ้นมาเป็นคู่แข่ง GPS ในตลาดนำทางด้วยดาวเทียมพลเรือนของโลก พร้อมๆกับการผลักดันยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานข้ามทวีปคือข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

“เป่ยโต่วมีความสำคัญและความเกี่ยวพันเชิงยุทธศาสตร์กับหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เฉิน จงกุ้ย ผู้ออกแบบดาวเทียม ให้สัมภาษณ์กับซีซีทีวีในวันอังคาร(5 พ.ย.)

จีนพัฒนาระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วอย่างอิสระ ซึ่งสามารถนำไปใช้ทั้งในด้านพลเรือนและทหาร อีกทั้งคาดหวังว่าจะช่วยตอบสนองความมั่นคงแห่งชาติตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

การส่งดาวเทียมเป่ยโต่วครั้งนี้ดันจำนวนเป่ยโต่วที่ถูกส่งขึ้นไปรวมทั้งสิ้น 49 ดวง รวมทั้งดาวเทียมทดลองที่ถูกส่งขึ้นไปในสองเฟสก่อนหน้านี้

รายงานข่าวของซีซีทีวีเผยว่าจีนมีแผนส่งดาวเทียมอีกกว่าสองครั้งก่อนสิ้นปีนี้ และอีกสี่ดวงที่เหลือจะถูกส่งขึ้นไปในครึ่งแรกของปี 2020 เครือข่ายเป่ยโต่วก็จะสมบูรณ์โดยมีดาวเทียมทั้งสิ้น 35 ดวง ถือว่าเสร็จเร็วกว่าที่กำหนดไว้ 6 เดือน

เมื่อเทียบกับ GPS แล้ว เป่ยโต่วมีความสามารถที่แตกต่างบางอย่าง อาทิ การส่งข้อความ และการติดตามผู้ใช้ผ่านบริการข้อความสั้น

ทั้งนี้จีนเริ่มส่งดาวเทียมนำร่องรุ่นที่สามนี้ในเดือนพ.ย. 2017 และได้เปิดบริการพื้นฐานระหว่างประเทศเมื่อเดือนธ.ค.ที่แล้วโดยมีความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งประมาณ 10 เมตรบนพื้นโลก และ 5 เมตรในอาณาบริเวณเอเชีย-แปซิฟิก

เมื่อเครือข่ายฯมีดาวเทียมเพิ่มขึ้น ความแม่นยำก็จะสูงขึ้นถึงระดับที่น้อยกว่า 1 เมตร

ด้านรัสเซียและสหภาพยุโรปก็กำลังพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมที่คล้ายกันนี้ ชื่อว่า Glonass และ Galileo ตามลำดับ แต่ความคืบหน้าไปไม่ถึงไหน ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในแผนการฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น