MGR ONLINE/เอเจนซีส์—เรือบรรทุกเครื่องบินออกแบบและต่อขึ้นในประเทศจีนลำแรกถูกส่งมอบให้แก่กองทัพเรือ ถือเป็นหลักไมล์สำคัญในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทัพนาวีมังกร
สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางได้มาเป็นประธานในพิธีฯส่งมอบเรือฯที่ฐานทัพเรือในเมืองซันย่า มณฑลไห่หนันในเย็นวันนี้(17 ธ.ค.) พร้อมด้วยเหล่าเจ้าหน้าที่จากกองบัญชาการยุทธบริเวณภาคใต้ (Southern Theatre Command) ซึ่งดูแลความสงบเรียบร้อยย่านทะเลจีนใต้
เรือบรรทุกเครื่องบินสร้างในจีนลำแรกนี้มีชื่อว่า "ซันตง" นับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีน กัปตันเรือจะเป็น ไหล อี้จวิน ซึ่งเคยบัญชาการเรือรบขนาดกลางเหลียงอวิ๋นกั่ง และผู้กำกับดูแลด้านการเมือง (political commissar) คือ ผาง เจี้ยนหง ซึ่งดูแลเรือพิฆาตในซีอัน ทั้งสองเป็นนายทหารอาวุโส
สี ได้ตรวจแถวทหารในพิธีส่งมอบเรือฯและพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่บนเรือ สำหรับผู้นำอื่นๆที่เข้าร่วมพิธี ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและผู้นำการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นาย หลิว เหอ, เลขาธิการร่วม ติง เสวี่ยเซียง, ผู้นำสูงสุดในด้านวางแผนเศรษฐกิจเหอ ลี่เฟิง
เรือบรรทุกเครื่องบินซันตงเป็น Type 001A เมื่อเดือนที่แล้วเรือฯซันตงได้แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเพื่อทำการ “ทดสอบทางวิทยาศาสตร์และการฝึกฝนปกติ” และยังได้แล่นไปยังทะเลจีนใต้
ก่อนหน้านี้เป็นที่คาดว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนจะเข้าประจำการในเดือนเม.ย. แต่ช่วงการทดสอบใช้เวลานานกว่าที่นักสังเกตการณ์ทหารบางกลุ่มคาดซึ่งแสดงว่าอาจมีปัญหาทางเทคนิก ทั้งนี้เรือฯซันตงได้ทดสอบออกทะเลครั้งแรกในเดือนพ.ค.2018 โดยเปรียบเทียบกันแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนคือเรือฯเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือชั้นคุซเนซอฟของโซเวียต ทำการทดลอง 13 เดือน ก็เข้าประจำการได้
สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงโดยดั้งเดิมเป็นเรือฯวาร์ยัคซึ่งต่ออยู่ที่อู่ต่อเรือในยูเครนอดีตรัฐในเครือสหภาพโซเวียต แต่ต่อไม่เสร็จเนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนได้ซื้อเรือฯวาร์ยัคจากยูเครนเมื่อปี 1998 และนำมาปรับปรุงติดตั้งเครื่องเคราภายในใหม่ที่อู่ต่อเรือต้าเหลียนในปี 2003 จนสามารถเข้าประจำการกองทัพปี 2012
เรือบรรทุกเครื่องบินซันตง Type 001A ของจีน เป็นเวอร์ชั่นปรับปรุงแก้ไขจากแบบเรือชั้นคุซเนซอฟโดยติดตั้งระบบสะพานและเรดาร์รุ่นใหม่ และดาดฟ้าแบบสกี-จัมพ์สำหรับขึ้นบิน นอกจากนี้ยังสามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่ J-15 ได้ถึง 36 ลำ เทียบกับเรือฯเหลียวหนิงซึ่งมีความสามารถบรรทุกได้ 24 ลำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านนาวีในปักกิ่ง หลี่ เจี๋ย เผยว่าเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนนี้จะมีความสามารถบรรทุกเครื่องบินทั้งหมด 40 ลำ รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ Z-9 และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า KJ-600
หลี่กล่าวเสริมอีกว่าการที่ผู้นำจีนเลือกเมืองซันย่าเพราะต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของฐานเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง
ซันย่าเป็นเส้นทางเข้าสู่ทะเลจีนใต้ที่ง่ายที่สุดและเป็นศูนย์กลางนาวีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
สำหรับฐานเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนอยู่ที่เมืองท่าชิงเต่าบนชายฝั่งด้านตะวันออก
เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว สำนักข่าวซินหวาได้รายงานว่าจีนกำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สาม Type 002 ซึ่งจะออกแบบและสร้างโดยจีนทั้งดุ้น
สื่อของรัฐอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญเผยว่าจีนต้องการเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 6 ลำ ขณะที่สหรัฐฯมี 10 ลำ และมีแผนที่จะสร้างอีกสองลำ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าจีนต้องใช้เวลานับสิบๆปีในการพัฒนากองกำลังดังกล่าว แต่ความก้าวหน้าในการสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินได้เองนี้ได้สร้างชื่อเกียรติภูมิให้กับจีน และจะค่อยๆกร่อนอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯในอาณาบริเวณ
นักสังเกตการณ์ด้านทหารชี้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สามของจีนมีขนาดใหญ่กว่าเรือฯเหลียวหนิง ระวางขับน้ำของเรืออาจอยู่ที่ประมาณ 80,000 ตัน ถ้าเป็นเช่นนั้นเรือรบลำที่สามของจีนจะเล็กกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินนิมิตซ์ (Nimitz-class)ของสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาด 100,000 ตัน แต่ใหญ่กว่าเครื่องบรรทุกเครื่องบินหลายลำในโลก เช่น เรือฯควีนเอลิซาเบธ (Queen Elizabeth-class)ของอังกฤษ ขนาด 65,000 ตัน, เรือฯ ชาร์ล เดอ โกลด์ของฝรั่งเศส ขนาด 42,500 ตัน, เรือบรรทุกเครื่องบินของอินเดีย วิกรมธิตยาและวิกรานต์, และเรือบรรทุกเครื่องบิน แอดมิรัล คุซเนซอฟ ของรัสเซีย