xs
xsm
sm
md
lg

เสียงภาษาไทยจากไต้หวัน วิทยุข้ามแดนเชื่อมสัมพันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ที่นี่ สถานีวิทยุเรดิโอไต้หวันอินเตอร์เนชันแนล” เสียงประกาศภาษาไทยกระจายเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาะไต้หวัน จากยุคสงครามอุดมการณ์ถึงวันนี้ที่คนไทยไปเที่ยวไต้หวันมากมาย สถานีวิทยุ Rti เป็นสถานีวิทยุนานาชาติเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงกระจายเสียงภาคภาษาไทยมาจากต่างแดน

ก่อนที่โลกออนไลน์จะแพร่หลาย คนไทยที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองเพียงแค่ได้ยินเสียงภาษาไทยผ่านคลื่นวิทยุที่ชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็ทำให้ความคิดถึงบ้านเอ่อท้น สถานีวิทยุอาร์ทีไอ หรือ Radio Taiwan International ออกอากาศภาคภาษาไทยมานานถึง 76 ปี เริ่มต้นจากการเป็นสื่อสำหรับสงครามจิตวิทยา จนเป็นสื่อกลางในยุคที่คนไทยมาค้าแรงงานที่ไต้หวันมากมาย และเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับนานาชาติในทุกวันนี้

คนไทยจำนวนมากอาจไม่รู้ว่า รัฐบาลจีนตั้งแต่ในยุคสาธารณรัฐได้ใช้วิทยุคลื่นสั้นออกอากาศเป็นภาษาต่างประเทศ วัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งฝ่ายก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ จอมพลเจียงไคเช็กได้ริเริ่มให้ออกอากาศวิทยุภาษาต่างประเทศ โดยภาคภาษาไทยเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในปี 1942

เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้สงครามบนแผ่นดินใหญ่จนต้องล่าถอยมายังเกาะไต้หวัน สงครามจิตวิทยาผ่านคลื่นวิทยุก็ยังดำเนินต่อเนื่อง วิทยุคลื่นสั้นในยุคนั้นอยู่ใต้การบัญชาการของกระทรวงกลาโหมโดยตรง ซึ่งวิทยุภาคภาษาไทยได้เริ่มออกอากาศจากเกาะไต้หวันในปี 1976

ทำไมรัฐบาลไต้หวันถึงมีความจำเป็นต้องมีวิทยุภาคภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาไทยที่ไม่ได้มีผู้ใช้มากมาย? เพราะเมืองไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก ชาวจีนในสยามมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ยุคของดร.ซุนยัดเซ็น แดนสยามจึงเป็นหนึ่งในยุทธภูมิสำคัญทางจิตวิทยาที่ทั้งไต้หวันและจีนคอมมิวนิสต์ต้องช่วงชิงมวลชน วิทยุอาร์ทีไอในยุคนั้นจึงเรียกตัวเองว่า “เสียงจากจีนเสรี ” สะท้อนอุดมการณ์ต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน

เมื่อรัฐบาลไต้หวันตระหนักว่าหนทางหวนคืนสู่แผ่นดินใหญ่ริบหรี่เต็มที สงครามจิตวิทยาจึงยุติลง พร้อมกับที่จีนแผ่นดินใหญ่ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง วิทยุอาร์ทีไอจึงผันตัวสู่ภารกิจใหม่

สื่อสัมพันธ์แรงงานไทย

เมื่อกว่า 20 ปีก่อนในยุคที่ไต้หวันสร้างบ้านแปงเมืองได้เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติ และประเทศไทยเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้ส่งแรงงานมาไต้หวัน ทางด่วน, เส้นทางรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งตึกไทเป 101 ล้วนสร้างขึ้นจากหงาดเหงื่อของแรงงานไทย

ในยุคนั้น แรงงานไทยเป็นชุมชมใหญ่ในไต้หวันมีมากกว่า 150,000 คน แน่นอนว่าก็มีปัญหาต่าง ๆ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่, การติดต่อบ้านเกิดที่ไทย รวมทั้งการหลบหนีสัญญาจ้างไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทำให้กระทรวงแรงงานไต้หวันสนับสนุนให้ภาคภาษาไทยของวิทยุอาร์ทีไอทำรายการสื่อสัมพันธ์แรงงาน ผู้ดำเนินการขวัญใจแรงงานในยุคนั้น คือ ธนา รณกร หรือ คุณอโศก ศรีจันทร์ หัวหน้าภาควิชาภาษาไทยของอาร์ทีไอในทุกวันนี้

รายการสื่อสัมพันธ์แรงงานประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทั้งให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ทางรายการได้เชิญเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานในไต้หวันมาร่วมตอบคำถามผ่านทางโทรศัพท์ ได้รับความสนใจจากแรงงานไทยในไต้หวันอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข่าวติดต่อกับญาติพี่น้อง มีการบันทึกเทปไปกระจายเสียงชุมชนต่าง ๆ ในเมืองไทย ในอดีตมีสถานีวิทยุท้องถิ่นมากกว่า 10 คลื่นถ่ายทอดเสียงจากอาร์ทีไอ ทำให้ทุกวันนี้คนงานไทยที่หลบหนีผิดกฎหมายมีน้อยมาก จากสถิติแรงงานต่างชาติที่หลบหนีมากกว่า 55,000 คน มีคนไทยเพียง 800 คนเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 1999 อาร์ทีไอภาคภาษาไทยได้สนับสนุนการจัดงานเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นงานที่แรงงานไทยในไต้หวันรอคอยจะมาร่วมพบปะสังสรรค์กัน

ความสำเร็จของอาร์ทีไอภาคภาษาไทยทำให้ต้องเพิ่มช่องทางการกระจายเสียง ทั้งใช้คลื่นสั้นเพื่อส่งมายังประเทศไทย และออกอากาศในระบบ AM และ FM สำหรับคนไทยในไต้หวัน อาร์ทีไอภาคภาษาไทยได้รับรางวัลมากมาย และยังเป็นต้นแบบให้ภาคภาษาอื่นจัดทำรายการสานสัมพันธ์แรงงานบ้าง

จากคลื่นวิทยุสู่โลกออนไลน์

คุณอโศก ศรีจันทร์ เล่าว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีจดหมายจากผู้ฟังเขียนมายังรายการมากถึงเดือนละ 2,000-3,000 ฉบับ เป็นผู้ฟังจากในไต้หวันจากจากประเทศไทยอย่างละครึ่ง ๆ แต่เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้อาร์ทีไอภาคภาษาไทยต้องเพิ่มช่องทางสื่อสารผ่านโลกออนไลน์อย่าง แฟนเพจเฟชบุค RtiFanpage , ช่องในยูทูป และการรับฟังผ่านเว็บไซต์และแอพลิเคชัน ทุกวันนี้มีทั้งแรงงานไมยในไต้หวันที่รับฟังรายการ อดีตแรงงานที่กลับไปเมืองไทยแล้วก็ยังติดตามรายการอยู่ รวมสมาชิกที่ลงทะเบียนผ่านทางอีเมลไว้หลายหมื่นคน

ด้านรายการก็ปรับให้ทันสมัยขึ้น โดยลดเริ่องการเมืองมาเป็นเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีทีมงานรุ่นใหม่อย่าง “ดีเจอันโกะ”

“ดีเจอันโกะ” เจ้าของรายการ "ฮอตฮิตติดดาว" และ "จับข่าวเมาท์มอย" เล่าว่า ช่องทางออนไลน์ช่วยให้เข้าถึงผู้ฟังรุ่นใหม่มากขึ้น ถึงแม้ทุกวันนี้จดหมายจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ก็มีผู้ฟังหลายท่านที่มอบน้ำใจด้วยการส่งผลไม้มาให้เป็นลัง ส่งขนมที่ทำเอง ส่งการ์ดอวยพรมาให้ทุกเทศกาล บางท่านวาดรูปเหมือนของอันโกะตอนใส่ชุดไทยใส่กรอบส่งมาให้ บางท่านแต่งเพลงมาให้ร้องเพราะเห็นว่าเธอชอบร้องเพลง และยังมีแฟนคลับของเธอส่งส้มตำ ข้าวเหนียวหมูทอดมาให้ถึงสถานีด้วย

นโยบายมุ่งใต้ สานสัมพันธ์อาเซียน

ถึงแม้ทุกวันนี้ รัฐบาลไต้หวันจะไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว แต่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ยังคงอยู่ วิทยุอาร์ทีไอยังคงเน้นเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ยิ่งเมื่อไต้หวันถูกกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่จนมีพื้นที่บนเวทีระหว่างประเทศน้อยลงเรื่อย ๆ ความจำเป็นของพื้นที่สื่อจากไต้หวันยิ่งต้องมากขึ้น ยิ่งเมื่อประธานาธิบดีไช่อิงเหวินประกาศนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” New Southbound Policy เน้นกระชับสัมพันธ์กับชาติอาเซียน บทบาทของอาร์ทีไอไทยก็ต้องมากขึ้น

ในอดีตไต้หวันต่อสู้กับจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อช่วงชิงมวลชน ทุกวันนี้การต่อสู้ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นการช่วงชิงความนิยมชมชอบจาก “อำนาจละมุน” หรือ Soft power ในยุคหนึ่ง F4 ก็เคยครองใจสาว ๆ ไทย รัฐบาลไต้หวันเปิด “ฟรีวีซ่า” ทำให้คนไทยไปเที่ยวไต้หวันอย่างคับคั่ง

ไต้หวันต้องการครองใจคนไทยเหมือนที่ได้ใจ “ดีเจอันโกะ” ที่อยู่ในไต้หวันมาครบ10 ปี และเธอบอกว่า “ชอบคุณภาพชีวิตที่นี่ อยู่แล้วสบาย จะเดินเหินในชีวิตประจำวันก็รู้สึกปลอดภัย อาชญากรรมน้อย ของหายได้คืน....ชอบไต้หวันทุกอย่าง ยกเว้นหนุ่มไต้หวันค่ะ”.

ข้อมูลน่ารู้

Radio Taiwan International ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อสถานีวิทยุ 中央廣播電台ที่นครนานกิง จีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 1928 และในฐานะสถานีวิทยุแห่งชาติของสาธารณรัฐจีน

ปัจจุบัน Rti หรือ สถานีวิทยุแห่งชาติของไต้หวัน ส่งกระจายเสียงด้วย 13 ภาษา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ฮกเกี้ยน จีนแคะ กวางตุ้ง อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย มีกำลังส่งสูงถึง 105,000 กิโลวัตต์ และมีความสามารถในการส่งกระจายเสียงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย และอยู่ในอันดับ 10 ของโลก ประสิทธิภาพในการส่งกระจายเสียงเท่ากับ 2.69 เท่าของสถานีวิทยุอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน

มีการจัดตั้ง ชมรมผู้ฟังอาร์ทีไอแห่งประเทศไทย และจัดงานนัดพบผู้ฟังอาร์ทีไอ ที่ไต้หวันและประเทศไทยเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006.

ขอบขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนการเดินทางของผู้สื่อข่าว ManagerOnline.


กำลังโหลดความคิดเห็น