xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังไต้หวัน “ฟรีวีซ่า” ให้คนไทย ลุ้นต่ออายุ ก.ค. นี้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวไต้หวัน
ในช่วง 2 ปีมานี้ คนไทยเดินทางไปเที่ยวไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวไทย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ามาตรการ “ฟรีวีซ่า” ของไต้หวันเป็นเพียงการ “ทดลอง” และจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ก.ค.นี้

ไต้หวันเดินตามรอยญี่ปุ่นในการยกเว้นและผ่อนคลายวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียน โดยคนไทยที่ได้ชื่อว่า “เรื่องกินเที่ยวไม่แพ้ใคร” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ตั้งแต่ปี 2016 ที่ไต้หวันยกเว้นวีซ่าให้ นักท่องเที่ยวไทยไปเยือนไต้หวันเพิ่มขึ้นถึง 57.26 % ทำให้เมื่อสิ้นปีแรก รัฐบาลไต้หวันตัดสินใจต่ออายุมาตรการฟรีวีซ่าให้คนไทยอีก 1 ปี ซึ่งสามารถจุดกระแส “เที่ยวไต้หวัน” ได้ผลเกินคาดคิด ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2017 คนไทยได้สร้างสถิติไปเที่ยวไต้หวันเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว รวมทั้งในปี 2017 คนไทยไปเยือนไต้หวันมากถึง 292,534 คน
นักท่องเที่ยวชาติอาเซียนที่ไปเยือนไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจากมาตรการ ฟรีวีซ่า
อย่างไรก็ตาม มาตรการยกเว้นวีซ่าไม่ได้มีเฉพาะมิติเรื่องการท่องเที่ยว แต่ยังต้องคำนึงถึงการลักลอบเข้าเมือง, แรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งการทูตระหว่างประเทศ การจะผ่อนคลายวีซ่าให้กับประเทศใด เกิดจากการประชุมร่วมกันของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานสืบสวน, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, กรมการท่องเที่ยว และกระทรวงเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากอาจยังไม่รู้ว่า มาตรการ “ฟรีวีซ่า” ของไต้หวันนั้นมีผลถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้เท่านั้น !
จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ไปไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังมาตรการ ฟรีวีซ่า
“นโยบายมุ่งใต้” ต้นกำเนิด “ฟรีวีซ่า”

ในอดีต ไต้หวันคือแหล่งค้าแรงงานของคนไทย ประกอบกับคนไทยหลายคนยังแยกไม่ออกว่าไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ต่างกันอย่างไร ทั้งๆ ที่ไต้หวัน “มีดี” มากกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ที่คนไทยนิยมไปกัน

ด้านรัฐบาลไต้หวันก็มีมาตรการควบคุมคนเข้าเมืองที่เข้มงวด การขอวีซ่าต้องใช้เอกสารมากมายและผ่านยาก ทำให้ไต้หวันไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตในสายตาคนไทย

นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไต้หวันมากที่สุด แน่นอนว่าคือนักท่องเที่ยวจีน เพราะมีวัฒนธรรมและภาษาที่เหมือนกัน และชาวจีนหลายคนก็อยากไปสัมผัส “กลิ่นอายประชาธิปไตย” และไปดู “สมบัติ” ที่ถูกขนข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีนในช่วงสงคราม

แต่หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่ามีทัศนะกระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดินใหญ่ ฝ่ายจีนจึงใช้นักท่องเที่ยวเป็น “อาวุธ” โดยสั่งจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเยือนไต้หวัน ทำให้ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไต้หวันลดลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว, รถโดยสาร, ร้านค้า, โรงแรม, ร้านอาหารอย่างกว้างขวาง ผู้คนในธุรกิจท่องเที่ยวของไต้หวันยอมรับว่านักท่องเที่ยวจีนที่หดหายไปส่งผลให้รายได้ลดลงเกือบ 40%
มาตรการ “ฟรีวีซ่า” ของไต้หวันสำหรับนักท่องเที่ยวไทยจะครบกำหนดในวันที่ 31 ก.ค.นี้
เพื่อบรรเทาผลกระทบจากแรงกดดันของแผ่นดินใหญ่ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินได้ประกาศ “นโยบายมุ่งใต้” หรือ New Southbound Policy โดยระบุว่าเพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดียว หรือก็คือลดทอนอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไต้หวัน

“นโยบายมุ่งใต้” ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศอาเซียน, อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยมีประเทศเป้าหมาย 18 ประเทศ ซึ่งมาตรการวีซ่าก็เป็นส่วนหนึ่งของ “นโยบายมุ่งใต้”

ไทยลุ้นต่ออายุ “ฟรีวีซ่า” ไต้หวัน

ในกลุ่ม 18 ประเทศเป้าหมายตาม “นโยบายมุ่งใต้” ประเทศไทยถือว่าได้สิทธิพิเศษสูง รองจากชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เข้าไต้หวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่าแบบถาวรมานานแล้ว โดยนักท่องเที่ยวไทยอยู่ในกลุ่มเดียวชาวบรูไน ที่ได้ “ฟรีวีซ่า” ไต้หวันนาน 30 วัน และได้รับการต่ออายุเป็นปีที่ 2 มีผลถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้

กลุ่มต่อมา คือ ฟิลิปปินส์ ที่ได้ “ฟรีวีซ่า” ไต้หวันนาน 14 วันเป็นปีแรก มีผลถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้เช่นกัน

ถัดมาได้แก่ พลเมืองของกัมพูชา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ลาว, พม่า และเวียดนาม ก็ได้สิทธิ์ผ่อนคลายวีซ่าเช่นกัน แต่ยังมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องเดินทางเป็นหมู่คณะ, ต้องไม่เคยเป็นคนงานในไต้หวันมาก่อน, เคยได้รับวีซ่าไต้หวันใน 10 ปีก่อนหน้า หรือเคยมีวีซ่าของประเทศสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, ยุโรป, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ไปเยือนไต้หวันลดลงอย่างมาก หลังจาก ไช่อิงเหวิน เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน
ถึงแม้ว่า ไต้หวันจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวอาเซียนที่ไปเยือนไต้หวันเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่า “ขาดดุล” เพราะเมื่อเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว ชาวไต้หวันมาเยือนประเทศไทยถึงปีละกว่า 550,000 คน ขณะที่คนไทยไปเที่ยวได้หวันปีละราว 290,000 คน ทั้งๆ ที่ประชากรของไต้หวันมีน้อยกว่าไทย 3 เท่าตัว และนักท่องเที่ยวไต้หวันยังต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางมาประเทศไทย

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันต้องการมากที่สุด คือ “สถานะทางการทูต” เพราะไต้หวันถูกจีนแผ่นดินใหญ่กดดันอย่างหนัก จนขณะนี้เหลือเพียง 20 ประเทศในโลกที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

ดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ไต้หวันภาคภูมิใจ คือ พาสปอร์ตของไต้หวันมีสถานะอันดับที่ 32 ของโลก สามารถเดินทางแบบ “ฟรีวีซ่า” ได้มากถึง 165 ประเทศทั่วโลก และเป็นชาติเดียวที่อยู่ในโปรแกรมยกเว้นวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกา โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันให้สัมภาษณ์ว่า “ไต้หวันให้สิทธิ์ยกเว้นวีซ่ากับคนไทย ซึ่งถือเป็นการยื่นไมตรีให้ก่อน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายไทยจะตอบแทนเช่นเดียวกัน”....อ่านนัยยะได้ว่า นี่คือเกณฑ์อย่างหนึ่งที่ฝ่ายไต้หวันจะพิจารณาต่ออายุมาตรการ “ฟรีวีซ่า” ให้กับไทยเป็นปีที่ 3 หรือให้ตลอดไปหรือไม่?

รัฐบาลไทยเกรงจีนแผ่นดินใหญ่ ลำบากใจสานสัมพันธ์ไต้หวัน

นโยบาย “จีนเดียว” ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลจีนกำหนดให้ทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยต้องยึดถือและรับรอง แต่หลายประเทศก็ให้สิทธิ์พิเศษเรื่องวีซ่ากับชาวไต้หวันมากกว่าชาวจีน เพราะเหตุผลหลักคือโอกาสในการลักลอบเข้าเมือง และการทำผิดกฎหมายของชาวไต้หวันต่ำกว่าชาวจีน

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว รายงานที่ไม่เป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศอ้างว่า รัฐบาลจีนต้องการอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายไทยให้สิทธิ์ “ฟรีวีซ่า” กับนักท่องเที่ยวจีน แต่หลายหน่วยงานของฝ่ายไทยไม่เห็นด้วย เพราะก็เห็นอยู่แล้วว่าขนาดไม่มี “ฟรีวีซ่า” นักท่องเที่ยวจีนยังหลั่งไหลมาเมืองไทยมากมายเช่นนี้ และยิ่งเป็นการยากถ้าจะให้สิทธิ์ “ฟรีวีซ่า” กับชาวไต้หวัน โดยไม่ให้จีน

อีกประเด็นหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงของไทยกังวลคือ ชาวไต้หวันกับชาวจีนร่วมมือกันก่ออาชญากรรมมากขึ้น เห็นได้จากขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ ที่ใช้ประเทศไทยและเพื่อนบ้านเป็นฐาน และโทรศัพท์ไปหลอกลวงชาวจีนให้โอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยแทบทุกครั้งที่มีการจับกุมล้วนแต่มีชาวไต้หวันร่วมขบวนการกับชาวจีน

“วีซ่า” หรือก็คือ “ใบผ่านทาง” ในสมัยอดีต เป็นเพียงเอกสารอย่างหนึ่งที่ใช้คัดกรองคนเข้า-ออกเมือง แต่ทุกวันนี้วีซ่ากลับเป็นเครื่องมือบ่งบอกสถานะของบุคคลและสถานะทางการทูตของประเทศ โลกสมัยใหม่ที่การเดินทางและติดต่อเสรีอย่างมาก เอกสารเพียงชิ้นเดียวกลับมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ จนบางครั้งกลายเป็นอุปสรรคที่ “กีดกัน” ความสัมพันธ์ระหว่างกัน.




ขอบขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนการเดินทางของผู้สื่อข่าว ManagerOnline.


กำลังโหลดความคิดเห็น