xs
xsm
sm
md
lg

กูรูฟันธง “สถานีอวกาศจีน” เสียการควบคุม จะเป็นลูกไฟยักษ์โหม่งโลกโดยไม่รู้พิกัดและเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดขนส่งฉังเจิง 2เอฟ (Long March 2-F) ที่บรรทุกสถานีอวกาศเทียนกง 1 ขึ้นสู่ท้องฟ้า (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
เอเจนซี - ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศฟันธง! จีนเสียการควบคุมสถานีอวกาศ “เทียนกง 1” แล้ว คาดเป็นลูกไฟยักษ์ร่วงสู่พื้นโลกโดยแทบไม่รู้ว่าที่ไหนและเมื่อไร

อ้างอิงจากคำแถลงของ อู่ ผิง รองผู้อำนวยการสำนักงานวิศวกรรมอวกาศที่ดำเนินการโดยมนุษย์ระบุว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1 (Tiangong 1) ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศในเดือนก.ย. 2554 และได้ยุติการรับ-ส่งข้อมูลในเดือนมี.ค. ปีนี้ จะตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

ปัจจุบันสถานีอวกาศฯ ซึ่งมีน้ำหนัก 8.5 ตัน และความยาว 10.4 เมตร ยังคงมีสภาพสมบูรณ์และลอยโคจรอยู่เหนือพื้นโลกขึ้นไปราว 370 กิโลเมตร โดยมันปฏิบัติหน้าที่มานานกว่าสี่ปีครึ่ง ซึ่งนับว่านานกว่าอายุการใช้งานที่ออกแบบไว้ถึงสองปีเศษ

“จากการคำนวณและวิเคราะห์ ชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดของสถานีอวกาศฯ จะถูกเผาไหม้ขณะตกสู่พื้นโลก” นางอู่กล่าว “ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการบินหรือสร้างความเสียหายต่อพื้นผิวโลก”

“จีนจะเฝ้าติดตามสถานีอวกาศฯ และแจ้งเตือนความเป็นไปได้ที่มันจะพุ่งชนวัตถุล่วงหน้า โดยหากมีความจำเป็น จีนจะเผยการพยากรณ์การตกสู่โลกและรายงานในระดับนานาชาติ”

“สถานีอวกาศฯ ได้ปฏิบัติภารกิจครั้งประวัติศาสตร์อย่างดีเยี่ยม และได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อวงการอวกาศจีน” นางอู่กล่าวชื่นชมสถานีอวกาศเทียนกง 1 ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนที่เคยปฏิบัติภารกิจเชื่อมต่อกับยานอวกาศจีนหลายลำ อาทิ ยานเสินโจว 8, ยานเสินโจว 9 และยานเสินโจว 10

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของวันพุธ (14 ก.ย.) ที่ผ่านมา ช่วยยืนยันข้อสงสัยว่าจีนได้สูญเสียการควบคุมสถานีอวกาศเทียนกง 1 อย่างแน่นอนแล้ว หลังจากประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิคบางประการก่อนหน้านี้
หลิว หยัง นักบินอวกาศหญิงผู้ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศเทียนกง 1 ถ่ายรูปขณะร่วมพิธีเปิดนิทรรศการสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนในปี 2555 (แฟ้มภาพ เอเอฟพี)
โจนาธาน แม็คโดเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่าแถลงการณ์ดังกล่าวชี้ว่าจีนได้สูญเสียการควบคุมสถานีอวกาศฯ และมันอาจตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกครั้งตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายตำแหน่งการร่วงหล่นของเศษซากสถานีอวกาศฯ

“คุณไม่สามารถบอกทิศทางของวัตถุเหล่านี้ได้เลย” โจนาธานกล่าว “แม้แต่วันหรือสองวันล่วงหน้า อย่างดีก็แค่หกถึงเจ็ดชั่วโมงก่อนหรือระหว่างที่มันดิ่งลงมานั่นแหละ ... จริงๆ ก็แทบไม่รู้ว่ามันจะตกลงมาเมื่อไรและที่ไหน”

อาจารย์ฮาร์วาร์ดคนเดิมบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียวของสภาพชั้นบรรยากาศอาจสลับพื้นที่ตกหล่น “จากทวีปหนึ่งไปเป็นอีกทวีปหนึ่ง” และแม้มันจะหลอมละลายขณะดิ่งผ่านชั้นบรรยากาศ แต่บางชิ้นส่วน เช่น เครื่องยนต์จรวด ก็หนาแน่นเกินกว่าจะถูกเผาไหม้โดยสมบูรณ์

“จะหลงเหลือก้อนวัตถุน้ำหนักราวหนึ่งร้อยกิโลกรัม ซึ่งมากพอจะเป็นอันตรายหากมันตกใส่หัวคุณ” โจนาธานกล่าว “แน่นอนว่ามีโอกาสที่มันจะสร้างความเสียหาย อาจเป็นรถยนต์หรือหลังคาบ้านของใครสักคน แต่คงไม่ใช่ในวงกว้าง”

บรรดาผู้คลั่งไคล้อาณาจักรดำมืดเหนือพื้นโลกซึ่งเฝ้าติดตามความเป็นไปของสถานีอวกาศเทียนกง 1 ต่างหวั่นวิตกความเสี่ยงแม้เล็กน้อยว่า เศษชิ้นส่วนที่ร่วงโปรยปรายลงมาอาจสร้างความเสียหายต่อโลก

“มันอาจกลายเป็นฝันร้ายหากตกลงมาในย่านชุมชน” ความเห็นจากโทมัส ดอร์แมน บนเว็บไซต์สเปซด็อทคอมในเดือนมิ.ย. โดยเขานักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นที่พยายามติดตามสถานีอวกาศฯ

“เป็นไปได้มากว่าสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนจะตกลงมหาสมุทรหรือดินแดนไร้ผู้คนอาศัยอยู่” ดอร์แมนระบุ “แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นคงต้องเฝ้าดูต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น