xs
xsm
sm
md
lg

ยาน “โซยุซ” ที่ผ่านการอัปเกรดใหม่นำ 3 นักบินอวกาศเดินทางสู่สถานี ISS (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ยานอวกาศ “โซยุซ” ของรัสเซียซึ่งผ่านการอัปเกรดใหม่ นำนักบินอวกาศ 3 คนเดินทางออกจากสถานีปล่อยจรวดไบโคนูร์คอสโมโดรม ในคาซัคสถาน มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (7 ก.ค.)

แคธลีน รูบินส์ จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) และ ทาคุยะ โอนิชิ จากองค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA) เป็นสองนักบินอวกาศหน้าใหม่ที่จะเดินทางขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีไอเอสเอสเป็นเวลา 4 เดือน ร่วมกับ อนาโตลี อิวานิชิน นักบินอวกาศชาวรัสเซียซึ่งมีประสบการณ์ทำงานบนสถานีไอเอสเอสมาแล้ว 2 ครั้ง

ยานโซยุซได้พุ่งทะยานออกจากสถานีปล่อยจรวดในคาซัคสถานเมื่อเวลา 01.36 น. GMT (08.36 น. ตามเวลาในไทย)



การเดินทางของนักบินอวกาศทั้งสามต้องถูกเลื่อนมา 2 สัปดาห์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอวกาศของรัสเซียได้ทดสอบซอฟต์แวร์ของยานโซยุซซึ่งผ่านการยกเครื่องใหม่ ทั้งระบบขับเคลื่อน (booster) อุปกรณ์นำทาง ระบบป้องกันแรงกระแทกจากเศษชิ้นส่วน และแผงโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มขึ้น

รูบินส์ถือเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ได้เดินทางไปยังไอเอสเอส ถัดจาก ซาแมนธา คริสโตฟอเร็ตติ ชาวอิตาลี ซึ่งเดินทางกลับสู่พื้นโลกเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมกับสถิตินักบินหญิงที่ปฏิบัติภารกิจ 1 ครั้งในห้วงอวกาศยาวนานที่สุด 199 วันกับอีก 16 ชั่วโมง

รูบินส์ ซึ่งเป็นนักชีววิทยาโมเลกุลที่เข้าทำงานในโครงการอวกาศของนาซาตั้งแต่ปี 2009 ยังจะเป็นบุคคลแรกที่ได้ทดลองหาลำดับสารพันธุกรรม (DNA sequencing) ระหว่างปฏิบัติภารกิจในอวกาศ

ด้าน ทาคุยะ โอนิชิ เคยทำงานกับสายการบิน ออล นิปปอน แอร์เวย์ส (ANA) ก่อนจะมาร่วมงานกับ JAXA ในปี 2009 และถือเป็นนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นคนที่ 11 ที่ได้เดินทางสู่ห้วงอวกาศ

ภารกิจของ โอนิชิ ที่สถานีไอเอสเอสจะเกี่ยวข้องกับการทดลองโมดูลห้องทดลองของญี่ปุ่น (Japanese Experiment Module) หรือที่เรียกว่า “คิโบ” (Kibo) และตรงกับช่วงเทศกาลทานาบาตะ ซึ่งเป็นเทศกาลขอพรจากดวงดาวตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นพอดี

อิวานิชิน เป็นวิศวกรการบินชาวรัสเซียที่เคยขึ้นไปทำงานบนสถานีไอเอสเอสมาแล้วเป็นเวลา 165 วัน ระหว่างปี 2011-2012

สถานีอวกาศแห่งนี้ลอยอยู่เหนือพื้นโลกประมาณ 400 กิโลเมตร และจะตีวงโคจรรอบโลก 1 ครั้งในทุกๆ 90 นาที ด้วยความเร็วประมาณ 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ชิ้นส่วนแรกของสถานีอวกาศนานาชาติที่เรียกว่า “ซาร์ยา” (Zarya) หรือ “รุ่งอรุณ” ในภาษารัสเซีย ถูกส่งขึ้นไปยังห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ปี 1998 หรือ 17 ปีที่แล้ว



แคธลีน รูบินส์ จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา), อนาโตลี อิวานิชิน นักบินอวกาศชาวรัสเซีย และ ทาคุยะ โอนิชิ จากองค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA)

กำลังโหลดความคิดเห็น