xs
xsm
sm
md
lg

จีนเล็งสร้างสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์ ฝันเฟื่องหรือไม่ อีก 4 ปีรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนสั่งการนักวิทยาศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้การสร้างสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์ มีนักบินอวกาศควบคุม ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนทักท้วง ใช้งบประมาณมหาศาล ได้ไม่คุ้มเสีย

จากเว็บไซต์ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของจีน ( National Natural Science Foundation of China) โครงการดังกล่าวของรัฐบาลแดนมังกรเริ่มดำเนินการแล้วเมื่อต้นปี ด้วยเงินทุนประเดิมของมูลนิธิจำนวน 16 ล้านหยวน หรือราว 80 ล้านบาท และมีนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศชั้นนำในประเทศเข้าร่วม โดยมีการจัดประชุมระดมความคิดเป็นเวลา 2 วัน ที่โรงแรม ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา

   สถานีเรดาร์บนดวงจันทร์ ตามที่มีการเสนอกันนั้น อาจประกอบด้วยส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับนักบินอวกาศ และเสาอากาศเรดาร์กำลังสูง ซึ่งมีความสูงอย่างน้อย 5 เมตร สามารถตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ บนโลกได้กว้างกว่าดาวเทียม ที่มีอยู่เวลานี้ โดยสถานีเรดาร์จะทำหน้าที่ในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และติดตามความเคลื่อนไหวด้านการทหาร นอกจากนั้น ยังอาจส่งภาพถ่ายของโลก ที่มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟความถี่สูง ที่ปล่อยจากสถานีเรดาร์สามารถทะลุก้อนเมฆ และพื้นผิวโลก ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทั้งบนดิน ใต้ทะเล และใต้ดิน

หัวหน้าโครงการคือศาสตราจารย์ กั๊วะ หัวตง ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเรดาร์คนสำคัญของสถาบันศึกษาวิทยาศาสตร์จีน เสนอแนวคิดสร้างสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรายงานการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ไซเอนซ์ ไชน่า เอิร์ท ไซเอ็นเซส ( Science China Earth Sciences) เมื่อ 3 ปีก่อน โดยระบุว่า ดวงจันทร์จะเป็นฐานในการสังเกตโลกของเรา ที่มีความได้เปรียบมากมายกว่าดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ เช่น ความเสถียร หรือความทนทานอย่างไม่มีขีดจำกัดบนพื้นผิวทุกสภาวการณ์บนดวงจันทร์

ข้อมูลจากเรดาร์บนดวงจันทร์จะช่วยในงานวิจัยวิทยาศาสตร์หลายด้าน เช่น การติดตามสภาพอากาศ ที่รุนแรง การเกิดแผ่นดินไหว การผลิตด้านเกษตรกรรม และการพังถล่มของยอดน้ำแข็งขั้วโลก

ศาสตราจารย์กั๋วระบุในรายงานว่า ในการส่งคลี่นวิทยุความเข้มสูง ซึ่งอาจมาถึงโลกได้นั้น สถานีเรดาร์ต้องมีแหล่งพลังงานมหาศาล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ นิวเคลียร์ ขึ้นมา

สถานีเรดาร์นี้จะส่งข้อมูลได้อย่างน้อย 1.4 กิกะไบต์ ต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณ ที่สูงเกินกว่าปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสื่อสารในอวกาศระยะไกลในปัจจุบัน แต่ปัญหานี้จะหมดไป หากมีนักบินอวกาศปฏิบัติการอยู่บนสถานี

ศาสตราจารย์กั๋วะ มิได้ประเมินงบประมาณสำหรับโครงการอย่างชัดเจน เพียงแต่กล่าว จะมีราคาแพงมาก
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองเงินทอง เวลา และทรัพยากรบุคคลไปเปล่า ๆ

นักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศบนแผ่นดินใหญ่ผู้หนึ่งชี้ว่า เป็นความคิดพิเรนทร์ และต้นทุนการก่อสร้างจะสูงกว่าการปล่อยดาวเทียมจารกรรมหลายดวงให้เต็มท้องฟ้าเสียอีก ทั้งที่ดาวเทียมจารกรรมสามารถทำงานเดียวกันกับสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์ แต่ใช้เงินแค่ส่วนเดียว

ด้านศาสตราจารย์ โจว อี้ว์กั๋ว นักวิจัยเทคโนโลยีเรดาร์ ประจำสถานบันอิเล็กทรอนิกส์ ในสังกัดสถาบันศึกษาวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่า การสร้างสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์เป็นหัวข้อวิจัย ที่มีความสำคัญ แต่ต้องประเมินให้รอบคอบว่า คุ้มหรือไม่ โดยระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งไกลกว่าดาวเทียมในวงโคจรสูงที่สุด 10 เท่า จะเป็นปัญหาทางเทคโนโลยี ที่ต้องคิดหนัก โดยเรดาร์ที่สถานีบนดวงจันทร์จะต้องมีกำลังสูงอย่างที่สุด หรือไม่ก็ต้องใช้เสาอากาศขนาดใหญ่มาก ๆ มิเช่นนั้น จะไม่สามารถเกี่ยวคลื่นวิทยุ ที่สะท้อนจากโลกได้

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนาย ไช่ อี้ว์เฉิง รองประธานบริหารมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ การสร้างสถานีเรดาร์บนดวงจันทร์มีบทบาทสำคัญในโครงการวิทยาศาสตร์ในอนาคตของจีน โดยรัฐบาลตั้งเป้าบรรลุความคืบหน้าในปี 2563 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเส้นตายในการส่งรายงานสรุปของนักวิทยาศาสตร์คณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น