xs
xsm
sm
md
lg

ถ้วยชาโบราณจีนประมูลที่นิวยอร์กทุบสถิติโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ถ้วยน้ำชาเคลือบหยดน้ำมัน (oil spot) แบบเทมโมกุ ทุบสถิติโลกในการประมูลเครื่องปั้นดินเผาจากเตาเผาเจี้ยน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) – ไชน่าเดลี่
ไชน่าเดลี่ - ถ้วยน้ำชาจีนทรวดทรงงดงามสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ( ค.ศ. 1127-1279) มีผู้ประมูลไปได้ในราคาสูงถึงกว่า 11 ล้าน 7 แสนดอลลาร์ หรือกว่า 400 ล้านบาท โดยทุบสถิติโลกสำหรับการประมูลถ้วยชาจากเตาเผาเจี้ยน ระหว่างงานสัปดาห์ศิลปะเอเชีย ซึ่งบริษัทประมูลคริสตี้ส์จัดขึ้นที่นครนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ก่อน

ถ้วยน้ำชาชิ้นนี้เป็นถ้วยน้ำชาเคลือบหยดน้ำมัน (oil spot) ซึ่งเป็นศิลปะการเคลือบแบบเทมโมกุชนิดหนึ่ง โดยมีสีเหลือบดำหนา มีลายจุดคล้ายหยดน้ำ และตรงขอบปากถ้วยหุ้มด้วยโลหะ เจ้าของคือครอบครัวคุโรดะ ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น นำมาประมูลในงาน The Classic Age of Chinese Ceramics: The Linyushanren Collection, Part II (เครื่องเซรามิกส์จีนยุคคลาสสิก : ชุดสะสมหลินอี้ว์ซานเหริน , ตอน 2)โดยในงานประมูลครั้งนี้นำถ้วยน้ำชาจากเตาเผาเลื่องชื่อในสมัยโบราณของจีน 28 ชุด ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ทั้ง 5 ( ค.ศ. 907-960) จนถึงต้นราชวงศ์หมิง ( ค.ศ. 1368-1644) มาเคาะราคากัน

ถ้วยน้ำชา ซึ่งประมูลได้ในราคาสูงที่สุดในโลกเป็นชุดถ้วยชาของจักรพรรดิ ที่ใช้กันในราชสำนัก เรียกกันว่า ถ้วยชาเจี้ยน หรือ เจี้ยน จ่าน ถ้วยชา ซึ่งผลิตจากเตาเผาเจี้ยนในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) ได้รับยกย่องว่า ล้ำค่า เนื่องจากรูปทรงแลดูสง่างาม

ปัจจุบันเหลือถ้วยชาเคลือบหยดน้ำมัน ที่ล้ำค่าอยู่เพียงไม่กี่สิบชิ้น และส่วนใหญ่เป็นสมบัติสะสมในญี่ปุ่น โดยจากรายงานของปักกิ่งไทมส์ ผู้ประมูลไปได้เป็นนักสะสมชาวจีน

การประมูลที่เด่นอีกรายการในงานสัปดาห์ศิลปะเอเชียได้แก่ Collected in America : Chinese Ceramics from The Metropolitan Museum of Art ( ของสะสมในอเมริกา : เครื่องเซรามิกส์จีนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิแทน) โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นำเครื่องเซรามิกส์ชิ้นงามของจีนกว่า 400 ชิ้นมาประมูล ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง จนถึงราชวงศ์หมิงและชิง ( ค.ศ. 1644-1911)ตลอดจนเครื่องกระเบื้องดินเผาสมัยจักรพรรดิคังซี จักรพรรดิหย่งเจิ้ง และจักรพรรดิเฉียนหลง

นายเหลียง เสี่ยวซิน นักเลงงานศิลปะ และที่ปรึกษาด้านการลงทุนระบุว่า เครื่องกระเบื้องดินเผา ที่พิพิธภัณฑ์นำมาประมูล เกือบทั้งหมดได้จากการบริจาค จึงมีคุณภาพแตกต่างกันไป โดยหลายชิ้นมีคุณภาพสูง เช่น แจกันเคลือบลายดอกท้อบานสมัยจักรพรรดิคังซี และเครื่องเบญจรงค์ แต่อีกหลายชิ้นมีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป


กำลังโหลดความคิดเห็น