เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ – คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (China Banking Regulatory Commission) สาขามณฑลเหอหนัน กำชับธนาคารท้องถิ่นปล่อยเงินกู้งวดใหม่ในปีนี้ให้ได้อย่างน้อย 450,000 ล้านหยวน หรือราว 2,250,000 ล้านบาท ( 1 หยวน = 5 บาทโดยประมาณ) เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจของมณฑล
คำสั่งดังกล่าวประกาศในเว็บไซต์ของคณะผู้บริหารปกครองมณฑลเหอหนัน เมื่อวันอาทิตย์ ( 18 ก.ย. 2559) และมีขึ้นในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากปัญหาหนี้เสีย และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนอยู่ในระดับอันตราย
จากรายงานประจำไตรมาส 3 ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ บีไอเอส ดัชนีช่องว่างระหว่างสินเชื่อกับจีดีพี ในไตรมาสแรกปีนี้ของจีน สูงเหนือขีดอันตรายถึง 3 เท่า นอกจากนั้นยังสูงกว่าดัชนีช่องว่างระหว่างสินเชื่อกับจีดีพีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก่อนเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 และสูงกว่าของสหรัฐฯ ก่อนหน้าสหรัฐฯ จะประสบวิกฤตการเงินในปี 2551
ดัชนีที่พุ่งสูงนี้ยังเตือนให้นึกถึงวิธีการปฏิบัติในภาคการเงินของจีนช่วงปี 2533-2543 ซึ่งมีการขอให้สาขาของธนาคารต่าง ๆ หาเงินทุนให้แก่โครงการของรัฐบาลท้องถิ่น วิธีการดังกล่าวก่อหนี้เสียจำนวนมหาศาลแก่ธนาคารของรัฐ และบีบให้รัฐบาลปักกิ่งต้องนำเงินกองทุนส่วนกลางเข้าแก้ไขปัญหา
คำสั่งทำนองนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จนวิตกกันว่า รัฐบาลท้องถิ่นกำลังเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจในภาคธุรกิจธนาคารมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังชะลอตัว โดยนาย เหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งการสื่อสาร (Bank of Communications) ซึ่งเป็นธนาคารสินเชื่อรายใหญ่อันดับ 5 ของจีนระบุว่า ในปัจจุบันการเจาะจงตั้งเป้าขนาดของสินเชื่ออย่างเป็นรูปธรรมแทบไม่มีใครทำกัน และยากจะเชื่อว่ารัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คาดว่า มณฑลอื่นคงไม่ทำตาม เพราะการตั้งเป้าสินเชื่อขัดกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลปักกิ่งขณะนี้ ซึ่งควบคุมนโยบายการเงิน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศเติบโต โดยใช้การตั้งเป้าปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 และยอดการระดมทุนรวมในประเทศ (total social financing growth) โดยตั้งเป้าทั้งสองอยู่ที่ร้อยละ 13 ในปีนี้ ส่วนธนาคารกลางจีนก็ไม่ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อเช่นกัน เพราะไม่สามารถบ่งชี้สภาพตลาดได้เพียงพอ
นาย ซวน เทค คิน (Suan Teck Kin) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารยูโอบี มองว่า การชี้นำการตั้งเป้าสินเชื่อดังกล่าวพบได้น้อยมากในประเทศอื่น ๆ และการวางแผนปล่อยกู้ควรให้อยู่ในดุลพินิจของธนาคาร เพราะการกะเกณฑ์ว่าธนาคารควรปล่อยกู้เท่าใดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของธนาคารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจจีนกำลังขาลง
เหอหนัน ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของจีน มีประชากร 95 ล้านคน ทำเหมืองถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมหลัก แต่กำลังถูกกดดันให้ค่อย ๆ เลิกไป เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ก่อมลพิษ สินเชื่อ ที่ไม่ก่อรายได้ของมณฑลเหอหนันมีสัดส่วนร้อยละ 3 ในสิ้นปี 2558 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยแห่งชาติ และสูงกว่าเมื่อสิ้นปี 2557 ที่ร้อยละ 1.3 โดยหนี้เสียของมณฑลเหอหนันเพิ่มเกือบ 2 เท่าเป็น 95,800 ล้านหยวน ในสิ้นปี 2558 จากข้อมูลของธนาคารกลางจีน
การตั้งเป้าปล่อยเงินกู้จำนวน 450,000 ล้านหยวนเป็นจำนวน ที่เพิ่มจากการปล่อยเงินกู้เมื่อปี 2558 อีกเพียงร้อยละ 7 โดยธนาคารในมณฑลเหอหนันได้ปล่อยเงินกู้ก้อนใหม่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ไปแล้วจำนวน 379,300 ล้านหยวน หรือร้อยละ 84 ของเป้าหมายในปี 2559
มณฑลเหอหนันจำเป็นต้องมีการปล่อยเงินกู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตตามแผน โดยจีดีพีของมณฑลเหอหนันโตร้อยละ 8 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน