เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้นำจีนและผู้นำสหรัฐฯ ผสานความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ผ่าน “ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส” ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดเห็นในหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และกรณีสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันเสาร์ (3 ก.ย.) ที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ได้แสดงสัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อข้อตกลงภูมิอากาศปารีสซึ่งมุ่งบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก นำไปสู่การสร้างความเข้าใจพื้นฐานสำหรับการหารือของสองประธานาธิบดี ที่จัดขึ้นหนึ่งวันก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จะเริ่มต้นขึ้น
ผู้นำจากทั้งสองประเทศได้ร่วมหารือในประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อาทิ ปัญหาทะเลจีนใต้ และกรณีสิทธิมนุษยชน โดยสำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวกระตุ้นสหรัฐฯ ให้ “ดำเนินบทบาทอย่างสร้างสรรค์” เพื่อดำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ และเพื่อการทำงานร่วมกันของสองชาติ ที่มุ่งบรรลุสนธิสัญญาการลงทุนระดับทวิภาคีแบบ “วิน-วิน” (win-win) ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ด้านทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จีนต้องปฏิบัติตามพันธกิจภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล
ทั้งนี้ หลังจากประธานาธิบดีโอบามาเดินทางถึงนครหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ครั้งที่ 11 เขาและประธานาธิบดีสีได้ร่วมกันมอบเอกสารการแสดงสัตยาบันต่อข้อตกลงฯ แก่นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ
การเดินทางเยือนจีนครั้งที่สามของโอบามา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกิดขึ้นขณะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังคุกรุ่นจากความขัดแย้งหลายประการ อาทิ ประเด็นความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ ความไม่ลงรอยทางการค้า นโยบายมุ่งสู่เอเชียของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนการแข่งขันทางการทหารในทะเลจีนใต้ ที่แต่ละฝ่ายพยายามสำแดงอิทธิพลออกมาคัดคานกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการหารือหลังเสร็จสิ้นมื้ออาหารเลี้ยงต้อนรับ สีได้กล่าวกับโอบามาว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ควรเป็นไปตามหลักการ “ไร้ความขัดแย้ง ไร้การเผชิญหน้า” โดยควรเพิ่มความไว้วางใจต่อกัน สนับสนุนความร่วมมืออันลึกซึ้ง จัดการจุดต่างอย่างสร้างสรรค์ และรักษาการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน แข็งแกร่ง และมั่นคง
ขณะที่โอบามาเผยว่า เขาและสีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์ และความมั่นคงทางทะเล โดยแม้มีความแตกต่างทางความคิด แต่จีนและสหรัฐฯ ก็หวังว่าการเต็มใจทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศ จะเป็นแรงผลักดันการทำงานด้านอื่น ๆ ทั่วโลกต่อไป
ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส (Paris Agreement on Climate Change) ซึ่งตัวแทนจาก 195 ประเทศร่วมเจรจาเมื่อปีกลาย จะมีผลบังคับใช้หาก 55 ประเทศที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 55 แสดงสัตยาบันแล้ว ทั้งนี้ อ้างอิงจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ระบุว่า ก่อนการแสดงสัตยาบันของจีนและสหรัฐฯ มี 23 ประเทศ ที่ได้แสดงสัตยาบันต่อข้อตกลงฯ แล้ว แต่ประเทศเหล่านั้นมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ร้อยละหนึ่งเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การแสดงสัตยาบันของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกรวมกันกว่าร้อยละ 40 จึงเป็นความหวังว่าจะช่วยให้ข้อตกลงฯ มีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ โดยภายใต้ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส นานาประเทศต้องตั้งเป้าหมายระดับชาติในการลดหรือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง ส่วนเป้าหมายระยะยาวของข้อตกลงฯ คือ การดึงอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นให้อยู่ต่ำกว่าสององศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม