xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำหญิงไต้หวันประกาศิตปฏิรูปกองทัพ หลังเกิดอุบัติเหตุฟ้องปัญหาสะสมมานาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรรณพิไล นาคธน

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไต้หวัน เป็นประธานการซ้อมรบประจำปีฮั่นกวง ในเขตผิงถัง เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, เอเอฟพี, รอยเตอร์ -ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ราว 4 เดือน สั่งให้มีการปฏิรูปกองทัพมังกรน้อยเป็นการด่วน หลังจากเกิดอุบัติเหตุและข่าวอื้อฉาวหลายเรื่อง อันเป็นสัญญาณเตือนว่า รั้วของชาติกำลังผุ

ประธานาธิบดี ไช่ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานการซ้อมรบประจำปี ซึ่งมีขึ้นในเขตผิงตง ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวันเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นการชมการซ้อมรบครั้งแรก หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ค. โดยประธานาธิบดีไช่ ซึ่งสวมเสื้อกันกระสุน และหมวกเกราะทหาร ดูทะมัดทะแมง กล่าวต่อกำลังพล เรียกร้องให้กองทัพไต้หวันเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และปรับปรุงวิธีปฏิบัติให้มีความทันสมัย นอกจากนั้น ยังสั่งการให้กระทรวงกลาโหมส่งร่างแผนการปฏิรูปกองทัพ มาให้พิจารณาภายในเดือนม.ค. ปี 2560

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันตึงเครียดอีกครั้ง นับตั้งแต่นางสาวไช่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยคะแนนท่วมท้นเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งไม่ไว้ใจผู้นำหญิง จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี ซึ่งชูนโยบายสนับสนุนเอกราชของไต้หวัน

ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ภาพลักษณ์ของกองทัพไต้หวันกำลังเสื่อมเสียในสายตาประชาชน และถูกมองว่า อ่อนแอ

การซ้อมรบประจำปีฮั่นกวงของไต้หวัน เป็นการจำลองสถานการณ์เกาะไต้หวันถูกกองทัพพญามังกรโจมตี อันเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่น่าสะพรึงกลัวสุดของไต้หวัน

“ ปัญหาท้าทายที่กองทัพเผชิญทุกวันนี้มาจากข้อจำกัดต่าง ๆ จากภายนอก และข้อบกพร่องภายในกองทัพเอง” ประธานาธิบดีไช่กล่าวต่อกำลังพล

“ทหารควรดำเนินการทุกขั้นตอนไปตามแนวทาง ที่กำหนดไว้ ”

การกำชับกำชากำลังพลครั้งนี้ เป็นการกล่าวเตือนถึงกรณีอุบัติเหตุรถถังของกองทัพไต้หวันลื่นไถลสะพานตกแม่น้ำ ขณะฝนตกหนัก ระหว่างกองทัพมีการเตรียมการซ้อมรบ ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย

รวมทั้งอุบัติเหตุลั่นขีปนาวุธพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบินเร็วเหนือเสียง สยงเฟิง 3 ไปยังทิศทางที่ตั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างการฝึกซ้อมของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ซี่งจีนกำลังจัดพิธีรำลึกการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ครบ 95 ปีพอดิบพอดี

กระทรวงกลาโหมสรุปผลการสอบสวนกรณียิงขีปนาวุธผิดพลาดครั้งนั้นว่า เกิดจากการไม่ทำตามหลักปฏิบัติ โดยทหารเรือนายหนึ่ง ถูกปล่อยให้อยู่ภายในห้องควบคุมเพียงลำพัง จึงตัดสินใจปฏิบัติตามขั้นตอนการยิง โดยไม่ทราบว่า ระบบที่เขาใช้นั้นถูกตั้งให้เป็น “โหมดประจัญบาน ”

ขีปนาวุธยิงไปถูกเรือประมงลำหนึ่ง ทำให้ไต้ก๋งเรือเสียชีวิต และลูกเรือบาดเจ็บ 3 คน แต่เคราะห์ยังดี ที่ขีปนาวุธไม่ข้ามเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า ไต้หวันมิได้เล็งเป้าหมายโจมตีมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ตรงข้ามไต้หวัน

นอกจาก อุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้งนี้แล้ว ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีข่าว ซึ่งทำให้ชาวไต้หวันโกรธ เช่น ข่าวทหารเรือฆ่าหมาน้อยตัวหนึ่งอย่างเหี้ยมโหด ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพียงเพราะเจ้านายไม่อยากเห็นหน้าสุนัขตัวนั้น หรือข่าวนักบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีอาปาเช่ พาครอบครัวและเพื่อนเที่ยวชมภายในฐานทัพอากาศ ซึ่งเป็นการละเมิดการรักษาความมั่นคง

กองทัพไต้หวันถูกประชาชนวิจารณ์อย่างหนัก แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเองก็ระบุว่า กองทัพไต้หวันอ่อนแอเกินไป หากเปรียบเทียบกับกองทัพจีน

นายหลิน ฉงปิ่น อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุว่า กองทัพไต้หวันมีปัญหาสะสมมานาน ซึ่งรวมทั้ง “ วัฒนธรรมเลว ๆ ที่นำมาจากแผ่นดินใหญ่” เมื่อครั้งที่พรรคก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียง ไคเช็ก พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ จนต้องถอยร่นมายังเกาะไต้หวันเมื่อปี 2492

นายหลินระบุว่า ลักษณะอย่างหนึ่งของกองทัพไต้หวันก็คือเมื่อผู้นำพูดอะไร ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่กล้าพูดเป็นอย่างอื่น

“ บางครั้งผู้ใต้บังคับบัญชาถึงขนาดพยายามเดาใจผู้บังคับบัญชา และทำบางอย่างเพื่อเอาใจ นั่นเป็นเรื่องที่อันตรายมาก” นายหลินกล่าว

นอกจากนั้น ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือช่องว่างมหึมาของขีดความสามารถในการสู้รบระหว่างกองทัพไต้หวันกับกองทัพจีน โดยกองทัพจีนนั้นมีการปฏิรูปกองทัพมาแล้วหลายครั้ง เพื่อปรับปรุงความคล่องแคล่ว เฉียบคมในการ ตอบโต้ข้าศึก นอกจากนั้น จีนยังมีการประเมินทบทวน ภายหลังการซ้อมรบ อยู่เสมอ แตกต่างจากกองทัพไต้หวัน ซึ่งไร้วัฒนธรรมเช่นนี้

แม้กระทั่งภายหลังวิกฤตการณ์ขีปนาวุธช่วงปี 2538-2539 ซึ่งกองทัพจีนทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามช่องแคบ นายหลิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในวิกฤตการณ์ครั้งนั้น และเห็นว่า กองทัพไต้หวันไม่เคยมีการทบทวนใด ๆ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

เขาเห็นว่า กองทัพไต้หวันไร้ทิศทาง และจำเป็นต้องตัดสินใจกันเสียทีว่า กองทัพกำลังทำอะไร และมีเป้าหมาย หรือกำลังต่อสู้กับสิ่งใด

ขณะที่ฟังความเห็นจากนาย แอนโทนี หว่อง ตง นักสังเกตการณ์ด้านการทหารในมาเก๊า กองทัพไต้หวันภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่ น่าจะปฏิรูปไปได้ด้วยดี เพราะเขามองว่า ประธานาธิบดีไช่มีความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ และมุ่งมั่น ที่จะดำเนินการปฏิรูปมากกว่าอดีตประธานาธิบดี เฉิน สุ่ยเปียน ซึ่งมาจากพรรค ดีพีพี ด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น