เอเจนซี - สืบเนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ที่แม้จะผ่านพ้นไปแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่กระแสความสนใจยังคงไม่จางหาย ด้วยตัวผู้ชนะคือนางไช่ อิงเหวิน จากพรรคฝ่ายค้านซึ่งสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวัน ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่าเธอจะเดินเกมการเมืองอย่างไร ไม่ให้สะเทือนความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญอันกำหนดชะตากรรมของเกาะมังกรน้อย
อ้างอิงจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 21 ล้านคน ชาวไต้หวันเทคะแนนกว่าร้อยละ 56 แก่นางไช่ ทิ้งห่างนายอีริค ชู จากพรรคก๊กมินตั๋ง และนายเจมส์ ซุง จากพรรคพีเพิล เฟิรส์ต ชนิดไม่เห็นฝุ่น นอกจากนั้นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ของเธอ ยังกวาดที่นั่งในรัฐสภาไปอย่างถล่มทลาย ด้วยจำนวน 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 113 ที่นั่ง ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งได้ไปเพียง 35 ที่นั่ง จากที่เคยครอง 64 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเดียวกันเมื่อปี 2555
นางไช่ อิงเหวิน จึงเตรียมก้าวขึ้นครองตำแหน่ง “ประธานาธิบดีหญิงคนแรก” ในประวัติศาสตร์ไต้หวันอย่างเต็มภาคภูมิ
เหล่านักวิชาการที่รู้จักคุ้นเคยกับสุภาพสตรี วัย 59 ปี อดีตอาจารย์กฎหมายที่ผันตัวเองสู่อาชีพนักการเมืองคนนี้ เผยว่านางไช่ไม่ใช่คนชอบก่อปัญหายุ่งยาก แต่เป็นนักเจรจาผู้มีประสบการณ์ช่ำชอง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับแผ่นดินใหญ่และกิจการระหว่างประเทศ
ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคนปัจจุบัน นางไช่คงจะดำเนินนโยบาย ที่ช่วยบรรเทาความขัดแย้งกับจีน และรักษาพันธมิตรแดนไกลอย่างสหรัฐฯ มากกว่าการสร้างมรสุมข้ามช่องแคบไต้หวัน เหมือนนายเฉิน สุยเปี่ยน ผู้นำพรรคดีพีพีคนแรก ที่ได้เป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2543-2551 หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งครองทำเนียบมาตลอดตั้งแต่นายเจียง ไคเช็ก แพ้สงครามกลางเมือง ปี 2492 และถอยร่นมาที่เกาะไต้หวัน
นายเฉินกุมอำนาจอยู่สองสมัย มักเผชิญหน้ากับจีนแบบมวยวัด และดึงดันหาทางประกาศตัวเป็นอิสระอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสถานะที่ปักกิ่งย้ำเตือนว่าจะก่อสงครามข้ามช่องแคบ สร้างความปวดหัวแก่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สุดท้ายชีวิตทางการเมืองของเฉิน ก็จบลงที่โทษจำคุกจากความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น
นักวิเคราะห์เชื่อว่านางไช่จะหลีกเลี่ยงการสร้างสถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งครั้งหนึ่งไปสะกิดมหาอำนาจจากสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกมาเผชิญหน้ากัน ด้วยความสามารถของการเป็นนักเจรจา ทั้งก่อนและหลังเข้าสู่ถนนการเมือง
“เธอมีส่วนร่วมกับการหารือระหว่างประเทศ ที่กินเวลายาวนาน ต้องอาศัยความอดทนสูง และทักษะการเจรจาชั้นยอด จุดนี้ชี้ว่านางไช่ไม่ใช่คนหุนหันพลันแล่น หรือทำอะไรโดยไม่ยั้งคิดถึงผลลัพธ์” นายหวัง คุนอี้ อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตกิจการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยตั้นเจียงในกรุงไทเปกล่าว
นางไช่เคยเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายการค้าระหว่างประเทศนานกว่า 16 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และระดับดุษฎีบัณฑิตจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน นอกจากนั้นยังทำงานด้านการเจรจาระหว่างประเทศ อาทิ ความพยายามเข้าถึงความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (จีเอทีที) (ต่อมายกระดับเป็นองค์การการค้าโลก) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ปี 2527-2542
อดีตเจ้าหน้าที่วัยเกษียณจากกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของไต้หวัน บอกว่านางไช่นับเป็นนักเจรจาฝีมือฉกาจ ที่มีความรอบรู้ในกิจการข้ามช่องแคบไต้หวัน โดย “เธอถูกฝึกให้คิดและแสดงออกในบทบาทของนักเจรจา”
เจ้าหน้าที่อีกรายกล่าวถึงช่วงที่นางไช่นั่งเก้าอี้ประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ (เอ็มเอซี) ซึ่งเป็นหน่วยวางแผนนโยบายแผ่นดินใหญ่ระดับสูงสุด ขณะที่นายเฉิน สุยเปี่ยน เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2543
เขาเล่าว่าแม้การบริหารงานของดีพีพีจะมีจุดยืนต่อต้านปักกิ่ง แต่นางไช่ก็สามารถบรรลุข้อตกลงกับแผ่นดินใหญ่ เพื่อเดินหน้าการเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งขนาดเล็กระหว่างสองแผ่นดินได้สำเร็จ หลังจากเจรจากันหลายรอบ
นายดักลาส พอล อดีตผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในกรุงไทเป หน่วยงานรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งที่ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน กล่าวในเอกสารลับสุดยอด ที่ส่งถึงรัฐบาลวอชิงตัน ปี 2549 และต่อมาถูกเปิดโปงโดยเว็บไซต์วิกิลีกส์ว่า นอกจากการเป็นงานและความสามารถในการชักจูงผู้คนแล้ว นางไช่ยังเป็นนักเจรจาใจเด็ดเดี่ยว ที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อีกด้วย
รายงานของพอลเสริมว่า นางไช่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายข้ามช่องแคบก่อนขึ้นเป็นประธานสภาฯ โดยเธอทำงานเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยและผู้ร่างรัฐบัญญัติความสัมพันธ์ฮ่องกงและมาเก๊า (ปี 2537-2538) และสมาชิกคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาสภาฯ ปี 2537-2541
นอกจากนั้นนางไช่ยังเคยเป็นโฆษกของนายกู เจิ้นฝู่ ประธานมูลนิธิการแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ หน่วยงานด้านการเจรจาในสังกัดสภาฯ ระหว่างนายกูเยือนจีน ปี 2541 เพื่อพบปะนายหวัง เต้าฮั่น ประธานสมาคมความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบของจีน
อย่างไรก็ดี ด้วยแนวทางชูธงการแยกตัวเป็นอิสระของพรรคดีพีพี ทำให้เกิดความกังวลว่า นางไช่อาจเดินตามรอยเดิมของนายเฉิน สุยเปี่ยน ขณะเดียวกันเสียงสนับสนุนนางไช่อันแรงกล้า ตั้งแต่เธอประกาศชิงชัยศึกเลือกตั้งในปีก่อน บวกกับความเป็นไปได้ที่จะคว้าชัยชนะ ก็ทำให้ปักกิ่งและสหรัฐฯ ร้อนๆ หนาวๆ เพราะหวั่นกลัวว่าความตึงเครียดในอดีตจะหวนกลับมาอีกครั้ง
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง นางไช่ถูกคู่แข่งเล่นประเด็นดังกล่าวอยู่ตลอด ทั้งจากนายอีริค ชู พรรคก๊กมินตั๋ง และนายเจมส์ ซุง พรรคพีเพิล เฟิรส์ต ว่าจะเป็นบุคคลที่พาไต้หวันสู่หายนะ เพราะไม่สามารถจัดการกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบได้
นอกจากนั้นนางไช่ยังถูกโจมตีเรื่องความกำกวมของนโยบายข้ามช่องแคบ รวมถึงกรณีเธอจะยอมรับ “ฉันทามติ 1992” ซึ่งปักกิ่งและพรรคก๊กมินตั๋งต่างเห็นด้วยว่ามี “จีนเดียว” แต่สามารถตีความในแบบฉบับตัวเองได้หรือไม่
“ความคลุมเครือ (เกี่ยวกับฉันทามติฯ) นั้นเป็นกลยุทธ์ตั้งรับอันชาญฉลาด ที่ช่วยปลอมประโลมบรรดาลูกพรรคของเธอ ซึ่งยึดมั่นการแยกตัวเป็นอิสระ และเวลาเดียวกันก็เว้นที่ว่างให้เธอได้วางแผนจัดการกับจีน” อาจารย์หวังกล่าว “หากคุณตั้งใจฟังสิ่งที่เธอพูดเกี่ยวกับฉันทามติ ขณะร่วมเวทีดีเบตทางโทรทัศน์ คุณจะบอกได้ว่าความหมายที่แท้จริงเบื้องหลังความคิดเห็นของเธอคืออะไร”
ในคำกล่าวปราศรัยทางโทรทัศน์ของนางไช่ การโต้วาทีสองครั้งกับคู่แข่ง และการนำเสนอแนวนโยบายต่างๆ เธอยอมรับว่ามันเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ไทเปและปักกิ่งหารือกันบนเกาะฮ่องกง ปี 2535 ซึ่งแม้ทั้งสองฝ่ายมีมุมมองต่างกัน แต่ก็เห็นพ้องกันหนึ่งสิ่ง ว่าบนพื้นฐานความเข้าใจต่อกันและบนความต้องการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไปข้างหน้า ไต้หวันและจีนควรแสวงหาพื้นที่ที่ทำความตกลงกันได้ โดยพักวางความแตกต่างของตัวเองไว้
นางไช่กล่าวขณะโต้วาทีครั้งแรกในเดือนธ.ค. ว่า ส่วนของฉันทามติกลับไม่ได้เกิดขึ้นในปี 2535 แต่ถูกสร้างขึ้นในปี 2543 โดยเธอคิดว่าเราทั้งหมดควรนั่งลงพูดคุยถึงการใช้งานและการตีความ ซึ่งเธอเชื่อว่าความสัมพันธ์จะยังมั่นคง เพราะทุกสิ่งสามารถเจรจากันได้
“ตราบเท่าที่การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปด้วยความจริงใจ ดิฉันเชื่อมั่นหากได้รับเลือก จีนจะโต้ตอบกับพรรคดีพีพีด้วยท่าทีที่มีเหตุผล” นางไช่กล่าว “เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ‘ฉันทามติ 1992’ จึงเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งในหลายๆ ตัวเลือกเท่านั้น”
นายถัง เฉินหยวน อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ บอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่นางไช่จะนำนโยบายข้ามช่องแคบแบบเดิมๆ มาใช้ โดยทางเลือกในการแก้ปัญหาทั้งหมดคือหลักการเหตุและผล
“งานของนางไช่คือรักษาสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบ การแลกเปลี่ยนและการหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับทวิภาคี ตลอดจนหลีกเลี่ยงกรณีจีนใช้กำลังทหารเข้ายึดครองและผนวกดินแดน”
ทั้งนี้ จีนประกาศชัดเจนว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่ และต้องกลับมารวมชาติกันในที่สุด แต่หากไต้หวันเคลื่อนไหวเรื่องเอกราช จีนก็พร้อมจะนำกองทัพไปบุกยึดดินแดน
นักวิเคราะห์มองอีกว่า แม้นางไช่จะเป็นผู้ร่าง “ความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐในลักษณะพิเศษ” (special state-to-state relations) ซึ่งอดีตประธานาธิบดีหลี่ เติงฮุย เคยใช้อธิบายความสัมพันธ์ไต้หวัน-จีน ปี 2542 จนปักกิ่งอารมณ์ลุกเป็นไฟ ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะเป็นพวกหัวแข็งยึดมั่นแต่หลักการ
“แม้เธอจะสนับสนุนการระบุอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวัน แต่เธอถูกมองเป็นนักคิดมากกว่านักเคลื่อนไหว” อาจารย์หวังกล่าว “นางไช่ซึ่งเป็นคนที่มีความอดทนสูงมาก ย่อมเลือกใช้การสื่อสารพูดคุยในการแก้ไขปัญหา”
“พวกหัวเก่าจำนวนมากที่ออกจากดีพีพีไปตั้งกลุ่มก๊วนการเมืองของตัวเอง ก็ช่วยนางไช่ลดปัญหาการรับมือลูกพรรคที่ยึดมั่นหลักการแบบสุดโต่ง และทำให้ง่ายต่อการจัดการความสัมพันธ์กับปักกิ่ง”