xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมพรรคก๊กมินตั๋งจึงพ่ายแพ้ย่อยยับในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางไช่ อิงเหวิน ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาะไต้หวัน (ภาพ เอเอฟพี)
เอเจนซี - หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวัน ได้เสร็จสิ้นลงเมื่อวันเสาร์ (16 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยนางไช่ อิงเหวิน ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) สามารถเอาชนะนายอีริค ชู คู่แข่งจากพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์

อ้างอิงจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 21 ล้านคน ชาวไต้หวันได้เทคะแนนกว่าร้อยละ 56 แก่นางไช่ อิงเหวิน ทิ้งห่างนายอีริค ชู จากพรรคก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) และนายเจมส์ ซุง จากพรรคประชาชนอันดับหนึ่ง (พีเอฟพี) ชนิดไม่เห็นฝุ่น และกลายเป็น “ประธานาธิบดีหญิงคนแรก” ในประวัติศาสตร์ไต้หวัน

นอกจากนั้นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของนางไช่ ยังกวาดที่นั่งในรัฐสภาไต้หวันไปอย่างถล่มทลาย ด้วยจำนวน 68 ที่นั่ง จากทั้งหมด 113 ที่นั่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งได้ไปเพียง 35 ที่นั่ง จากที่เคยครอง 64 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งเดียวกันเมื่อปี 2555

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือคำถามที่ว่า “ทำไมพรรคก๊กมินตั๋งจึงประสบกับความพ่ายแพ้ย่อยยับเช่นนี้ได้?
นายอีริค ชู จากพรรคก๊กมินตั๋ง แถลงยอมรับผลการเลือกตั้งหลังพ่ายแพ้แก่นางไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า วันที่ 16 ม.ค. 2559 (ภาพ เอพี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ สื่อฮ่องกง ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความปราชัยของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งกุมอำนาจบริหารไต้หวันมานานกว่า 8 ปี ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายหม่า อิงจิ๋ว ผู้คว้าชัยการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดถึงสองสมัยติดต่อกัน ด้วยเหตุผล 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก - รัฐบาลก๊กมินตั๋งสอบตกการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อครั้งลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2551 นายหม่าให้คำมั่นสัญญาว่า รัฐบาลของเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ที่เรียกสั้นๆ ว่า “633” ซึ่งย่อมาจากสามตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจรายปี ที่ร้อยละ 6, รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per capital) ที่ 30,000 ดอลลาร์ และอัตราการว่างงาน ที่ต่ำกว่าร้อยละ 3

ในปีดังกล่าวซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการเงิน การเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันร่วงลงไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากเดิมร้อยละ 5-6 ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตฯ ตัวเลขจีดีพีต่อหัวทรงตัวอยู่ราว 31,900 ดอลลาร์ และอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.14

ทว่าจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไต้หวันก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับไปเหมือนก่อนเกิดวิกฤตการเงินได้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไต้หวันปี 2558 จะเติบโตที่ร้อยละ 1.06 จีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 22,355 ดอลลาร์ ส่วนอัตราการว่างงานได้พัฒนาดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยลดลงเหลือร้อยละ 3.91 ในเดือนพ.ย. แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายของหม่าอยู่ดี

นอกจากนั้นชาวไต้หวันส่วนใหญ่ไม่พอใจตัวเลขรายได้ที่ดูเซื่องซึม โดยจากปี 2551 จนถึงปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเงินรายได้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.8 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วไปที่ร้อยละ 2.85 ต่อปี
กลุ่มผู้ประท้วงเข้ายึดห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภากลางกรุงไทเป วันที่ 19 มี.ค. 2557 เรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันยกเลิกการทำข้อตกลงทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะหวั่นอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจของเกาะ (ภาพ เอเอฟพี)
ประการที่สอง - รัฐบาลก๊กมินตั๋งล้มเหลวจะเอาชนะใจคนไต้หวันรุ่นใหม่

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2557 ไต้หวันเกิดขบวนการ “ซันฟาวเวอร์” (sunflower) หรือดอกทานตะวัน นำโดยกลุ่มนักศึกษา ที่ออกมาปักหลักยึดครองอาคารรัฐสภาในกรุงไทเปนานร่วมเดือน เพื่อปลุกกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับผลประโยชน์แอบแฝงทางการเมือง และความเป็นธรรมในสังคมจากมุมมองคนไต้หวันรุ่นใหม่วัยเยาว์

เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจพรรคก๊กมินตั๋ง ที่พยายามบังคับผลักดันข้อตกลงทางการค้าและบริการข้ามช่องแคบ (Cross-Strait Service Trade Agreement) เข้าสู่รัฐสภา โดยปราศจากการพิจารณาทบทวนอย่างรอบด้านตามที่ตกลงกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

ชาวไต้หวันจำนวนมากกลัวว่า ข้อตกลงการค้าฯ อาจทำร้ายเศรษฐกิจท้องถิ่น และทำให้เกิดช่องโหว่จนปักกิ่งสามารถแผ่อิทธิพลเข้ามากดดันไต้หวันได้ แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับข้อตกลงฯ ในเชิงหลักการ ก็ยังสนับสนุนกลุ่มนักศึกษา ด้วยความเชื่อว่าการอนุมัติข้อตกลงต้องมีความบริสุทธิ์โปร่งใส

สุดท้ายพรรคก๊กมินตั๋งก็ต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้ พับเก็บข้อตกลงการค้าฯ ขึ้นหิ้ง โดยกล่าวว่าจะทำการทบทวนข้อตกลงอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง
นายหม่า อิงจิ๋ว หย่อนบัตรคะแนนลงกล่องในคูหาเลือกตั้งกรุงไทเป วันที่ 16 ม.ค. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ประการที่สาม - ความขัดแย้งของผู้นำระดับสูงภายในพรรคก๊กมินตั๋ง

รอยร้าวที่ฝังลึกระหว่างสองผู้นำอาวุโสของพรรคก๊กมินตั๋ง นายหม่า อิงจิ๋ว อดีตประธานพรรคฯ และนายหวัง จินผิง ประธานรัฐสภา ได้กัดแซะเสถียรภาพของรัฐบาล และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของพรรคก๊กมินตั๋งอย่างรุนแรง

ในปี 2556 ความขัดแย้งระหว่างหม่าและหวังได้พุ่งถึงจุดเดือดสุด เมื่อหวังเกือบถูกหม่าสั่งปลดออกจากตำแหน่ง และขับไล่ออกจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และรัฐสภาของรัฐบาลอย่างมาก

ครั้นพรรคฯ ต้องการตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในเดือนก.ค. ปีก่อน นางหง ซิ่วจู้ รองประธานรัฐสภา ถูกเสนอชื่อขึ้นมาแม้จะขาดประสบการณ์ด้านการบริหาร ส่วนคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้ออย่างนายอีริค ชู ประธานพรรคฯ และผู้ว่ากรุงนิว ไทเป ก็ปฏิเสธจะลงสมัครแข่งขัน

อย่างไรก็ดี พรรคก๊กมินตั๋งได้สับเปลี่ยนตัวผู้สมัครกะทันหันในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง โดยเลือกนายอีริค ชู มาแทนนางหง ซิ่วจู้ ที่ความสามารถในการหาเสียงเข้าขั้นย่ำแย่ โดยทีแรกนางหงปฏิเสธจะก้าวออกจากการสมัคร ยืนกรานจะยืนหยัดจนจบการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็ยอมถอยและเรียกร้องผู้สนับสนุนเธอร่วมเชียร์นายอีริค ชู ด้วย
กลุ่มนักศึกษานั่งประท้วงการปรับแก้หลักสูตรการเรียนฯ อยู่บริเวณจัตุรัสหน้าอาคารกระทรวงศึกษาธิการ (ภาพ เอเอฟพี)
ประการสุดท้าย - ความไม่แน่นอนของนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นกิจการภายในที่มีความสำคัญ

การปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลก๊กมินตั๋งในช่วงปลายเดือนก.ค. ปีกลาย ได้ก่อให้เกิดการประท้วงด้านนอกกระทรวงศึกษาธิการนานเกือบสัปดาห์ โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอย่างน้อย 100 คน ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับมัธยม ซึ่งพวกเขามองว่า “เป็นการเอาใจปักกิ่ง”

นอกจากนั้นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ยังรวมถึงราคาเชื้อเพลิง และราคาไฟฟ้าด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น