เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลสำรวจความเห็นของประชาชนและร้านอาหารหลายร้อยแห่งในฮ่องกง พบว่า แม้คนฮ่องกงชอบออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่การหาอาหารมีประโยชน์ต่อสุขภาพรับประทานที่ร้านสักแห่งนั้น เป็นเรื่องยาก
มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคสำรวจความเห็นของชาวฮ่องกง 401 คน และร้านอาหาร 305 แห่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ และพบว่า ร้านอาหารร้อยละ 60 บนเกาะฮ่องกงไม่มีอาหารบำรุงสุขภาพให้ลูกค้าเลือกมากพอ นอกจากนั้น ยังพบว่า ร้อยละ 65 ของผู้ถูกสอบถาม ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-59 ปี นิยมออกไปหาอาหารรับประทานนอกบ้านไม่ต่ำกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ โดยผู้ถูกสอบถามถึง 1 ใน 3 ออกไปรับประทานนอกบ้านทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าจะหาอาหาร 3 มื้อหลัก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รับประทาน เช่น อาหารมังสวิรัติ หรืออาหารมีเกลือ น้ำมัน และน้ำตาลในระดับต่ำนั้น ช่างเป็นเรื่องอัตคัตขัดสน
ขณะที่ร้อยละ 60 ของร้านอาหาร ที่ถูกสำรวจ อ้างว่า มีอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารมีเกลือ น้ำมัน และน้ำตาลต่ำให้เลือก แต่ก็มักเป็นอาหารประเภทเครื่องเคียงเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผักต้ม หรือขนมปังปิ้ง
และนี่เอง ที่มีผลทางอ้อม ให้ลูกค้าไม่อยากสั่งเมนูอาหาร ที่มีประโยชน์ เพราะต้องสั่งเพิ่ม ซึ่งเสียเงินและเวลา นักวิจัยประจำคณะรัฐศาสตร์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค ซึ่งดูแลการสำรวจระบุ
วิธีการเสิร์ฟอาหารเช่นนี้สวนทางกับผลสำรวจ ที่พบว่า ลูกค้าทุกวัยให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยผู้ที่อายุไม่ถึง 30 ปี ให้ความสำคัญกับราคาอาหารเป็นอันดับแรก ส่วนผู้อายุเกิน 60 ปี ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าราคาและรสชาติ
รายงานการศึกษาชิ้นนี้เสนอแนะให้สำนักงานสุขอนามัยอาหารและสิ่งแวดล้อมเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้งของร้านอาหารเพื่อสุขภาพแก่กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุให้มากขึ้น พร้อมกับระบุชื่อร้านอาหาร ที่เอาใจใส่ลูกค้า และมีรายการอาหารเพื่อสุขภาพให้เลือกหลากหลาย
นายชุง คิม หวา ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาด้านนโยบายสังคมของมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิค ชี้ว่า คนฮ่องกงใส่ใจรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ก็จริง แต่เวลาพักเที่ยงเพียง 1 ชั่วโมงและต้องต่อแถวยาวก็เป็นบททดสอบความมุ่งมั่นในการหาอาหารมีคุณค่ารบริโภคได้เช่นกัน
นอกจากนั้น เขายังเสนอแนะให้คณะกรรมการว่าด้วยการลดเกลือและน้ำตาลในอาหารของรัฐบาลออกข้อบังคับ ซึ่งมีผลในทางกฎหมาย ให้ร้านอาหารแจ้งข้อมูลโภชนาการในรายการอาหารของร้าน เช่น ปริมาณแคลอรี และสร้างระบบการให้รางวัล แก่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เหมือนโครงการ คิว-มาร์ก ( Q-Mark) ซึ่งให้รางวัลสำหรับการบริการและการสร้างผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการจัดทำฉลากระบุระดับเกลือโซเดียม สำหรับอาหารทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งที่เสิร์ฟในร้านอาหาร
ด้านนาย เบอร์นาร์ด ชาน ประธานคณะกรรมการดังกล่าวระบุว่า ทางคณะกรรมการได้เริ่มโครงการจัดทำป้ายฉลากปริมาณแคลอรีนำร่องในร้านอาหารสำหรับพนักงานโรงพยาบาลของรัฐ ได้ร้อยละ 80 จากจำนวนร้านอาหารทั้งหมด แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาในการบังคับใช้กับร้านอาหารสาธารณะ ซึ่งอาจทำไม่ได้กรณีร้านเล็ก ๆ เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่าย และการระบุปริมาณเกลือในเมนูอาจทำได้ยาก เนื่องจากเทคนิคการปรุงอาหาร ซึ่งไม่มีความแน่นอน