หากรู้ว่าเบื้องหลังผลไม้แห้งบนแผงของพ่อค้าเป็นมาอย่างไรตั้งแต่แรก เรายอมที่จะเป็นผู้แพ้โดยปราศจากการตัดพ้อต่อว่า
จากตลาดสองพันปีคาซการ์ แกรนด์ บาซ่าร์ เรามุ่งหน้าไปหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง
รถวิ่งใช้เวลาพอสมควร จากเมืองค่อยๆกลายเป็นชนบท ที่นี่ดูสงบเงียบ มีชาวบ้านเข้าแถวรอต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นระเบียบ ใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม แววตาเป็นประกาย คล้ายยินดีอย่างมากที่จะได้บอกเล่าเรื่องราวของพวกต่อคณะนักข่าวหลายสิบคนจากทั่วทุกมุมโลก
พวกเขาเป็นเกษตรกรฐานะยากจน เพาะปลูกผลไม้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งต่อสู้กับลมฟ่าอากาศ ทั้งดิ้นรนขายผลผลิตแต่ถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบสารพัด ผลไม้แห้งตามแผงร้านค้าในตลาดคาซการ์แกรนด์บาซ่าร์ไม่แน่นักว่าจะมาจากหมู่บ้านนี้ เราเองเมื่อมาสัมผัสและรู้เบื้องหลังจึงยินดีมากที่ไม่ได้ใช้แผนนางงามพิชิตศึกต่อรองราคา เพราะนั่นถือว่า ถูกมากแล้ว
ทว่า วันนี้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยี และ เครือข่ายการสื่อสาร ที่มาพร้อมกระแสชอปปิ้งออนไลน์ พวกเขาสามารถเสนอขายผลไม้แห้ง และ ผลผลิตอื่นๆผ่านทางเว็บไซต์ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้เลยตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไป
การเพิ่มช่องทางการขายเท่ากับสร้างโอกาสให้แก่สมาชิกเกษตรกรของหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจะดีกว่าขายถูกๆให้พ่อค้าคนกลางแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้สักพักใหญ่ๆแล้วโดยเริ่มต้นจากกลุ่มคนสองสามคน
คนหนึ่งชื่อ อามู เป็นลูกหลานเกษตรกรชาวอุยกูร์ เขาลาออกจากงานประจำ ที่สำนักงานศุลกากรในคาซการ์ กลับบ้านเกิด เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาซินเจียง ตามนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ และ เพื่อช่วยเหลืออาชีพให้กับคนพิการ และ คนยากไร้ตามชนบทเขาจึงสมัครเข้าร่วม และโชคชะตาพาให้เขาได้พบกับคนๆหนึ่งชื่อ หลิว จิ้งเหวิน
หลิว จิ้งเหวิน เป็นคนหนุ่มมาจากมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน เห็นว่า โครงการนี้เป็นอะไรที่ดีสามารถช่วยคนท้องถิ่นได้ จึงสมัครมายังคาซการ์
แรกๆอามู อาสาที่จะเป็นล่ามภาษาจีนกลาง-อุยกูร์ให้หลิว จิ้งเหวิน และ ให้คำแนะนำอาสาสมัครคนอื่น ๆระหว่างนั้น หลิว ก็พบว่า หมู่บ้านเกษตรแห่งนี้มีปัญหาการขายพืชผลแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีคุณภาพสูง เช่น ผลไม้แห้ง แต่ขายของไม่ได้ เพราะ ขาดช่องทางการจัดจำหน่าย
ดังนั้น หลิว อามู และอาสาสมัครอื่นๆจึงตัดสินใจที่จะช่วยขายสินค้าเหล่านั้นบน Taobao.com เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน แต่ในเวลานั้นเกษตรกรในหมู่บ้านไม่ทราบว่าอินเทอร์เน็ต คือ อะไร จะช่วยพวกเขาขายผลิตภัณฑ์อย่างไร อามูซึ่งเข้าใจแผนของหลิวก็ค่อยๆชักชวนให้เกษตรกรลองทำตามความคิดของหลิว และ ก่อตั้ง บริษัท วิซดาน เทรดดิ้ง จำกัด ขึ้นมาในปี 2012 โดยให้เกษตรกรเข้าร่วมถือหุ้นแล้วแบ่งปันผลประโยชน์คล้ายๆสหกรณ์
พวกเขาร่วมกันทำไม่นาน ภายใต้ตราสินค้า Vizdan (维吉达尼联合) ค่อยๆเป็นที่รู้จักของลูกค้าออนไลน์ สามารถขายผลไม้แห้งได้มากกว่า 150 ตัน ขณะที่เรื่องราวของซินเจียงอุยกูร์ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายตามไปด้วย จนวันนี้กลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับเกษตรกรที่อื่นๆของจีน
ก่อนโบกมือลา ชาวบ้านนำผลไม้แห้งของพวกเขามาขายให้กับคณะนักข่าวซึ่งก็ได้รับการตอบรับอุดหนุนกันคนละถุงสองถุง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างยิ้มให้แก่กัน
คราครั้งนี้ ทั้งแววตา และ รอยยิ้ม ล้วนเต็มไปด้วยความปรารถดีต่อกัน
…..
วันที่สามในคาซการ์
ฟ้าแจ่มใส แดดจัด วันนี้คาราวานนักข่าวมีจุดหมายปลายทาง คือ อำเภออิงจี๋ซา(英吉沙) ซึ่งถูกเรียกว่า เป็น “ดินแดนที่ปราศจากเสียงหัวเราะ” เนื่องเพราะ เมื่อ 80 กว่าปีก่อนเคยเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างสงครามซินเจียง ชาวฮั่น และ มุสลิมชาวอุยกูร์ ฆ่าฟันกันจนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
ปัจจุบัน อิงจี๋ซา แทบไม่หลงเหลือดินแดนแห่งสงคราม ถือเป็นเขตพัฒนาตัวอย่าง รัฐบาลจีนได้เข้ามาปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเมืองเก่า สร้างที่อยู่อาศัยให้ชุมชนต่างๆใหม่ ลงทุนด้านสาธารณูปโภค ดูแลหาอาชีพให้ทำ จนน้อยคนที่จะไปจดจำอดีตที่แสนเศร้า
ตั้งแต่แรกที่มาถึงแล้วพากันเดินเยี่ยมชม ผ่านบ้านที่ถูกปลูกสร้างใหม่ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ของชาวอุยกูร์ ตัวบ้านทำจากอิฐและฉาบด้วยดินโคลน ทาสีสวยสดใส พร้อมกับภาพวาดวิถีชีวิตดั่งเดิมของชาวอุยกูร์ตามกำแพง ผนังบ้าน หลังแล้วหลังเล่า สิ่งที่ทุกคนพยายามเงี่ยหูฟัง คือ เสียงหัวเราะของชาวบ้าน
เราต่างทราบว่า การหัวเราะ คือ กิริยาที่บ่งบอกถึงอารมณ์เป็นสุข สนุกสนานของคน ที่บอกว่า ที่นี่เป็นดินแดนที่ปราศจากเสียงหัวเราะ หรือ คนไม่มีความสุขเลย ผ่านมาถึงวันนี้จะยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือไม่? พวกเขามีความสุขกันแค่ไหนกับสิ่งที่รัฐบาลจีนทำให้ นี่คือประเด็นที่คณะนักข่าวใคร่อยากจะพิสูจน์ที่สุด
ชาวอุยกูร์ส่วนใหญ่ล้วนมีฐานะยากจน บนถนนหนทางจะเห็นม้า หรือ ลาเทียมเกวียน วิ่งไปมาไปปะปนใช้ถนนร่วมกันกับรถยนต์ เสื้อผ้าที่สวมใส่เก่าขาด บ่งบอกถึงความประหยัดมัธยัถส์อย่างที่สุด เกษตรกร ช่างฝีมือแรงงานต่างดิ้นรนต่อสู้ชีวิตเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เสียงหัวเราะหายไปมากกว่า
ผ่านมาถึงลานอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน แม้จะยังไม่ได้ยินเสียงหัวเราะของผู้คน แต่เห็นเด็กๆกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นปิงปอง กีฬายอดฮิตของคนจีนด้วยความสนุกสนานประสาเด็กก็ใกล้เคียงกับการเรียกว่า ความสุข บรรดานักข่าวจึงหยุดเดิน ห้อมล้อมเข้ามารุมดูและถ่ายภาพ บ้างก็ขอเล่นด้วย กลายเป็นกีฬาเชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างแขกผู้มาเยือนกับเจ้าบ้าน
ในหลายวันมานี้พอใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคณะนักข่าวก็สนิทสนมกันมากขึ้นเป็นลำดับ นักข่าวและช่างภาพของสำนักข่าวชื่อดังจากญี่ปุ่นเป็นเพื่อนที่ไอ้หนุ่มไท่กั๋วอย่างเราพูดคุยถูกคอและมักแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่ได้เจอแต่ละวันกันเสมอช่วงอาหารค่ำทุกๆเย็น
ระหว่างที่ยืนมองเด็กๆเล่นปิงปอง เรากระซิบบอกเพื่อนญี่ปุ่น ชื่อ ทาเคชิ ที่ยืนอยู่ข้างๆว่า “นายรู้หรือไม่กำลังยืนอยู่กับ แชมป์เปี้ยนเทเบิลเทนนิสออฟไทยแลนด์”
เพื่อนชาวญี่ปุ่นหันขวับ เขามองหน้าเราอย่างเหลือเชื่อ ตาชั้นเดียวของเขาเบิกโพลงกลายเป็นตาหกมิติเหมือนคิ้วหกมิติ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า มีคำถามมากมายกว่าคำพูดแค่ Really?
จริง! เราพยักหน้าด้วยความเคร่งขรึมจริงจัง สำทับว่า ไม่ได้ล้อเล่น พร้อมกับหักนิ้วปล่อยให้เสียงกระดูกลั่นกร็อบๆแทนคำอธิบายสรรพคุณตามหลัง
ปกติแล้ว ทาเคชิ คนนี้เป็นดาวเด่นในหมู่คณะ เขาพูดได้ทั้ง จีน อังกฤษ หากเป็นเวทีประกวดสาวงาม เขาก็คือ นางงามมิตรภาพ ที่เข้ากับเพื่อนๆนางงามได้ทุกคน พลันนั้นเองอีกไม่กี่วินาทีถัดมา เขาก็ตะโกนลั่น “ทุกคน แชมป์เปี้ยนออฟไทยแลนด์อยู่นี่” แล้วสายตาทุกคู่ก็จับจ้องมองมาที่เรา
ทาเคชิ ไม่ใช่แค่ตะโกนเปล่า เขาเดินไปที่โต๊ะปิงปอง ยกไม้ยกมือขอให้เด็กๆหยุดเล่นกันสักพักแล้วขอไม้ปิงปองมาจากเด็กคนหนึ่งมาส่งถึงมือเราแล้วผายมือค้อมตัวลงสไตล์ญี่ปุ่นสุดสุภาพเป็นเชิงเชื้อเชิญ เป็นเชิงพูดด้วยวาจาว่า... "ได้โปรดแสดงฝีมือของแชมป์ ให้พวกเราได้เปิดหูเปิดตาที"
….
ที่ ภัตตาคารเมืองอิงจี๋ซา มื้ออาหารกลางวัน
เสียงหัวเราะงอหงายของเด็กๆ กับ ผองเพื่อนนักข่าว ที่ลานอเนกประสงค์ของหมู่บ้านเขตเมืองเก่าอิงจี๋ซา เหมือนยังไม่จางหาย แต่ละคนยังอมยิ้มเมื่อมองมาที่ไอ้หนุ่มไท่กั๋ว
ในที่สุดเราก็ได้ยินเสียงหัวเราะบนดินแดนที่ปราศจากเสียงหัวเราะแล้ว เป็นเสียงหัวเราะที่เรารู้สึกสัมผัสได้ว่าเด็กๆเป็นสุขอย่างแท้จริงแม้จะชั่วครู่ชั่วยาม
เจ้าหน้าที่สาวของคณะรัฐบาลจีนที่ติดตามดูแลคณะนักข่าว นั่งทานอาหารอยู่ตรงข้ามเรายังสงสัยไม่สร่าง “คุณเป็นแชมป์ปิงปองประเทศไทยจริงเหรอ”
เรายิ้ม ไม่ตอบทันที แต่ย้อนถามว่า คุณคิดว่าอย่างไรละ เธอบอกว่า ดูจากท่าทางลักษณะการเล่นแล้วไม่น่าจะใช่ ไม่ใช่แน่ๆ เราอมยิ้มพยักหน้าแล้วบอกเธอไปว่า “นั่นละคือคำตอบ”
เรื่องจริงๆของเราก็แค่ต้องการอำทาเคชิเล่นๆ ไม่คิดว่าเขาจะประกาศออกสื่อ และ ดันเราไปสู้กับเด็กๆ ถามว่า ปิงปองเล่นเป็นหรือไม่ ตอบว่า เล่นได้เพราะเรียนมาสมัยมัธยมต้น แต่จับไม้ปิงปองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่จำไม่ได้ มันนานมาก
ไม่แปลกที่ไม่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่สาวหรอกที่จะเห็นท่าเก้ๆกังๆประหลาดพิกลผิดวิสัยแชมป์เปี้ยนของเรา เมื่อเด็กๆเห็น ทุกๆคนเห็น จากแชมป์ผู้น่าเกรงขามกลายเป็นเรื่องขำ เรียกเสียงฮา มากกว่าเสียงฮือ ไปทั่วลาน
เมื่อย้อนคิดเรื่องนี้ทีไร ต้องยิ้มอย่างเป็นสุข เราเชื่อ คุณป้ากมลา สุโกศล เสมอมาว่า 'ความสุข ความทุกข์ ไม่มีใครรู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ จะยอมรับความจริงที่เจอได้แค่ไหน เพราะชีวิตคือชีวิต เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป มีสุขสมมีผิดหวัง หัวเราะหรือหวั่นไหว เกิดขึ้นได้ทุกวัน' (เพลง Live and Learn บอย โกสิยพงศ์)
นี่เป็น สัจจธรรม เมื่อมีโอกาสหัวเราะก็ต้องตักตวงความสุขไว้ให้มาก เพราะ ชั่วพริบตาอาจกลายเป็นความทุกข์มีเรื่องให้หวั่นไหว มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
แล้วบ่ายวันนั้น มันก็มีเรื่องให้ต้องหวั่นไหว หัวร่อมิออกร่ำไห้ไม่ได้ เกิดขึ้นจนได้.
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันพฤหัสบดีนี้)