xs
xsm
sm
md
lg

จีนยิงจรวดลองมาร์ช 7 ส่งสัญญาณรุดหน้าพัฒนาอาวุธในอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดขนส่งลองมาร์ช 7 กำลังทะยานขึ้นจากแท่นส่งดาวเทียมในเหวินชาง มณฑลไห่หนัน (ไหหลำ) เมื่อคืนวันที่ 25 มิ.ย. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ความสำเร็จในการยิงจรวด ลอง มาร์ช 7 ซึ่งเป็นจรวดขนส่งรุ่นใหม่ของจีน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ ( 25 มิ.ย. พ.ศ. 2559) ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารต้องตะลึง เพราะแค่การปล่อยจรวดเพียงครั้งเดียว ทว่าได้เผยให้เห็นถึงการก้าวรุดหน้าไปหลายขุมในการพัฒนาสรรพาวุธในอวกาศของพญามังกร

ลอง มาร์ช 7 พุ่งทะยานขึ้นจากศูนย์การยิงดาวเทียมเหวินชาง ในมณฑลไห่หนัน ซึ่งเป็นเกาะใต้สุดของแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับเสบียงสัมภาระหนัก 13.5 ตัน โดยจรวดนี้อาศัยเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดถึงร้อยละ 90 ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะ พร้อมด้วยอุปกรณ์ต้านแรงลม และแคปซูลสำหรับการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ( re-entry capsule) รวมทั้งดาวเทียมอีกหลายดวง ตลอดจนอุปกรณ์อื่น ๆ

เมื่อลงถึงพื้นกลางทะเลทรายบาเดน จารัน ( Badain Jaran) ในมองโกเลียใน สำนักข่าวซินหวารีบบันทึกภาพแคปซูลรีเอ็นทรี ซึ่งมีรูปร่างเหมือนหัวกระสุนอย่างฉับไว

ภาพถ่ายเหล่านั้นกำลังบอกเล่ารายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่พลาดสายตาของนักวิเคราะห์การทหารอย่างนาย แอนโทนี หว่อง ซึ่งอาศัยอยู่ในมาเก๊าไปได้เลย

“ แคปซูลรีเอ็นทรี ตามที่เรียกนี้ดูคล้ายยานร่อนความเร็วเหนือเสียง ดีเอฟ-แซ็ตเอฟ ( hypersonic glide vehicle DF-ZF)” นายหว่องระบุ

“ สีของแคปซูลยังบ่งบอกถึงการใช้สารเคลือบ ที่ต้านทานความร้อนชนิดใหม่สำหรับยานความเร็วเหนือเสียง”

จากรายงานของ วอชิงตัน ฟรี บีคอน ( Washington Free Beacon) ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จีนเริ่มทดสอบยานร่อนความเร็วเหนือเสียงเมื่อปีพ.ศ. 2557 ยานนี้สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงถึง 11,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วย ขณะที่บางแหล่งข่าวระบุว่า จีนอาจพร้อมนำมาประจำการณ์ได้ภายในปีพ.ศ. 2563

ด้านอาจารย์ เหอ ฉีสง ผู้เชี่ยวชาญนโยบายกลาโหมประจำมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ เห็นด้วยที่สารเคลือบแคปซูลรีเอ็นทรีนี้อาจถูกนำมาใช้ได้กับยานอวกาศและยานร่อนความเร็วเหนือเสียง โดยเมื่อแคปซูลดิ่งสู่โลก อุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 2,800 องศาเซลเซียส ซึ่งสารเคลือบป้องกันแคปซูลจำเป็นต้องใช้สาร ที่ทนทานความร้อน และมีความซับซ้อนกว่าเทคโนโลยี่สำหรับวัตถุ ที่ใช้เพียงครั้งเดียว เช่น ดาวเทียม หรือจรวด

แคปซูลรีเอ็นทรีนีมีความสูง 2.3 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.6 เมตร และหนัก 2.6 ตัน เป็น
“ รถบัสเวียนรับส่งในอวกาศ” ( space shuttle bus) ตามที่หนังสือพิมพ์ไชน่า ไซเอนซ์ เดลี (China Science Daily) ของทางการจีนอ้างคำพูดของนักวิทยาศาสตร์

นอกจากความคืบหน้าของเทคโนโลยีเคลือบหุ้มแล้ว การทดสอบแคปซูลยังยืนยันว่า จีนมีความก้าวหน้าทั้งในด้านการพัฒนายานอวกาศ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ในด้านระบบการบิน เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิความร้อนและอากาศพลศาสตร์ ตลอดจนด้านการติดต่อสื่อสาร ระหว่างการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก

อาจารย์เหอชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีจรวดขนส่ง ร่วมกับบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศของจีน ( ซีเอเอสทีซี) สามารถชี้ตำแหน่งที่แคปซูลตกสู่พื้นโลกได้อย่างรวดเร็ว บ่งถึงความแม่นยำมากขึ้นในการบอกพิกัด เนื่องจากมีการติดตั้งอุปกรณ์นำร่องอัตโนมัติเพิ่มเติมบนแคปซูล และเทคโนโลยีใหม่นี้พิสูจน์ว่า ความแม่นยำในการบอกพิกัดของจีนรุดหน้าถึงขั้นระดับสากลแล้ว

ขณะที่นายหว่องระบุว่า การยิงจรวดลอง มาร์ช 7 บ่งชี้ว่า เทคโนโลยีขีปนาวุธของจีนกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นใหม่ ซึ่งได้ช่วยในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางดีเอฟ-26 และขีปนาวุธดีเอฟ-21ดี เจ้าของฉายา “เพชฌฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน” ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อฐานทัพของสหรัฐฯ บนเกาะกวมได้ โดยความคืบหน้าทั้งหมดที่เอ่ยมาสรุปแล้วก็คือในการยิงจรวดลอง มาร์ช 7 พญามังกรยังมีจุดประสงค์ เพื่อทดสอบเทคโนโลยีสกัดขีปนาวุธฝ่ายข้าศึก ซึ่งจะช่วยต่อกรกับระบบต่อต้านขีปนาวุธขององค์การนาโต้ ตลอดจนช่วยให้ขีปนาวุธดีเอฟ-26 ทำลายเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วยนั่นเอง

นายหยัง เป่าหวา รองผู้จัดการของซีเอเอสทีซี ระบุว่า การทดสอบยิงจรวดลอง มาร์ช 7 ช่วยผลักดันให้จีนสามารถพัฒนาจรวด ที่สามารถบรรทุกสัมภาระ ที่มีน้ำหนักมากมายได้ภายในเวลาอีก 15 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน จีนมีจรวด ที่สามารถนำยานอวกาศและสัมภาระ น้ำหนักประมาณ 100 ตันขึ้นสู่อวกาศได้ ซึ่งเพียงพอสำหรับภารกิจส่งมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์ และการส่งยานไปสำรวจในห้วงอวกาศ อย่างไรก็ตาม จีนอาจขยายขีดความสามารถในการขนส่งได้ถึง 3,000 ตันในอนาคต

นายหยังกล่าวกับสำนักข่าวซินหวาว่า จีนวางแผนพัฒนาเทคโนโลยี ที่สำคัญ ๆ ให้สำเร็จภายในอีก 5 ปี เพื่อกรุยทางไปสู่การพัฒนาจรวดขนส่งวัตถุ ที่มีน้ำหนักมากต่อไป

ตามความเห็นของนายเหอ สิ่งที่นายหยังกล่าวนั้นย่อมแสดงว่า จีนจะสามารถไล่ตามทันสหรัฐฯ และสามารถปล่อยดาวเทียมจารกรรมทางทหารขนาดยักษ์ขึ้นสู่วงโคจร สูงเหนือโลกประมาณ 20,000 กิโลเมตรได้ ดาวเทียมเหล่านั้นจะเสมอชั้นกับดาวเทียมของสหรัฐฯ ซึ่งใช้สำหรับระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ จีพีเอส เลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น