รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯเตรียมออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้รัฐสภาคองเกรสอนุมัติให้ มูน เอ็กซ์เพรส (Moon Express) บริษัทเอกชนอเมริกันที่มีฐานในรัฐฟลอริดา สามารถใช้ยานอวกาศของตัวเองร่อนลงพื้นผิวดวงจันทร์ได้เร็วที่สุดในปี 2017 แซงหน้าลักเซมเบิร์กที่มีเป้าหมายทำเหมืองดาวเคราะห์น้อยด้วยเช่นกัน
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (10 มิ.ย.) ว่า ในขณะนี้รัฐสภาคองเกรสอยู่ในระหว่างการประเมินถึงกรอบร่างกฎหมายถาวรในความเป็นไปได้ที่จะใช้เพื่อควบคุมกิจการด้านการขนส่งการขนส่งอวกาศไปสู่ดวงจันทร์ และดาวอังคาร และจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลก แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯให้ข้อมูล
ทั้งนี้ พบว่า แผนการของบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯในการที่จะนำยานอวกาศของตัวเองไปสู่ดวงจันทร์ หรือบินออกนอกวงโคจรโลกนั้น ต้องพบอุปสรรคทางกฎหมายอย่างใหญ่หลวง เป็นเพราะในขณะนี้ทางสหรัฐฯยังไม่มีกฎหมายกำกับการขนส่งอวกาศ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศในเวลานี้ แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ
“ในขณะนี้ทางเรายังไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบวงโคจรโลก หรือบนดาวเคราะห์อื่น ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ทางเรากำลังเผชิญอย่างหนักในเวลานี้” จอร์จ นีลด์ (George Nield) หัวหน้าแผนกการขนส่งเอกชนอวกาศประจำสำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ให้ความเห็น
และ นีลด์ ยังกล่าวต่อว่า “สิ่งที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้เป็นแค่พลาสเตอร์ปิดแผลประทังไว้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะระบบได้พังไปแล้ว” นีลด์ กล่าวในงานสัมมนาสภาทนายความสหรัฐฯ ABA ว่าด้วยกฎหมายอวกาศฟอร์มที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันพุธ (8 มิ.ย.)
รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศปี 1967 ได้อนุญาตให้สหรัฐฯและชาติผู้ลงนามอื่น ๆ ได้รับอนุญาตให้บริษัทเอกชนของตนทำการสำรวจ หรือกิจกรรมในอวกาศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯยังไม่มีอำนาจในมือที่จะสามารถออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกันเหล่านี้สามารถทำการใดๆนอกพื้นที่ยานอวกาศ หรือจรวดขนส่งอวกาศ หรือนอกตัวยานอวกาศประเภทที่ถูกนำกลับมาใช้ได้ใหม่ และการจัดการเทเลคมนาคมสื่อสาร และรีโมตเซนเซอร์ดาวเทียมในวงโคจรโลก
และทำให้ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงเมื่อบริษัทอวกาศที่มีฐานอยู่ในรัฐฟลอริดา มูน เอ็กซ์เพรส ( Moon Express) ได้ทำการร้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อทำการจอดยานอวกาศของตัวเองบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ภายในปี 2017 ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงแต่หน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปประจำเหนือโลกเท่านั้น
ด้านซีอีโอบริษัท มูน เอ็กซ์เพรส บ็อบ ริชาร์ดส์ (Bob Richards) ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “ยังไม่เคยมีบริษัทเอกชนรายใดได้ร้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯในการเดินทางออกนอกวงโคจรโลกมาก่อน โดยทางเราถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้”
แต่อย่างไรก็ตาม ริชาร์ดส์ และ นีลด์ ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียดถึงสิ่งที่ทางมูนเอ็กซเพรสได้ยื่นร้องขอ
แต่อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของสื่อธุรกิจ บิสซิเนสไฟแนนซ์นิวส์ ในปี 2015 พบว่า บริษัท มูนเอ็กซ์เพรส มีเป้าหมายเพื่อการทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ โดยอ้างว่าเพื่อต้องการนำแร่มีค่าบนดวงจันทร์เพื่อชีวิตของมนุษย์บนดาวเคราะห์โลก ซึ่งมีรายงานว่าในเดือนตุลาคม 2015 ทางมูนเอ็กซ์เพรสบรรลุข้อตกลงกับบริษัทสำรวจอวกาศเอกชนที่มีฐานอยู่ในเมืองลอสแองเจลิสในการส่งหุ่นยนต์ไปดวงจันทร์ 3 ตัว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป
ซึ่งสื่อธุรกิจชี้ว่า ไม่เพียงแต่แร่มีค่า เช่น ทองคำ และแพลตินัมเท่านั้นที่ถูกพบบนดวงจันทร์ แต่ยังรวมไปถึง ก๊าซฮีเลียม (Helium-3) ที่สามารถใช้เป็นพลังงานในเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะถูกสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคตเช่นกัน โดยบิสซิเนสไฟแนนซ์นิวส์ ชี้ว่า โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์บนดวงจันทร์จะถูกใช้ในการสร้างพลังงานสะอาดเพื่อมนุษย์ที่ตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มูนเอ็กซ์เพรสของริชาร์ดส์ สามารถชนะได้ทุน 500,000 ดอลลาร์จากองค์การนาซาในโครงการ Innovative Lunar Demonstration Data Program และอีก 1.25 ล้านดอลลาร์จากบริษัทกูเกิลในโครงการแข่งขัน Lunar XPRIZE
ซึ่งในสำหรับการแข่งขัน Lunar XPRIZE ทางบริษัท กูเกิล มีเป้าหมายมอบเงินรางวัลร่วม 30 ล้านดอลลาร์ สำหรับทีมผู้เข้าแข่งขันทีมแรกที่สามารถส่งยานสำรวจอวกาศของตัวเองลงบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งมีกติกาว่า บริษัททีมเข้าแข่งขันต้องสามารถให้ยานอวกาศของตัวเองเดินทางบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ไกลอย่างน้อย 500 กม. และส่งภาพที่มีความคมชัดสูง พร้อมกับวิดีโอคลิบกลับมายังดาวเคราะห์โลกได้
รอยเตอร์รายงานต่อว่า ใช่แต่สหรัฐฯจะเดินหน้าเพื่อการสำรวจอวกาศภาคเอกชนแต่เพียงรายเดียว เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลักเซมเบิร์กได้ประกาศความร่วมมือกับ 2 บริษัทสัญชาติอเมริกันในการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อย (asteroid)
ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อยส่วนมากพบวงโคจรเป็นวงรีอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี เชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่เป็นซากที่หลงเหลือในจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ซึ่งไม่สามารถรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ได้ระหว่างการก่อกำเนิดระบบสุริยะ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์น้อยบางดวงมีดาวบริวาร หรือโคจรระหว่างกันเองเป็นคู่ เรียกว่า ระบบดาวเคราะห์น้อยคู่
ทั้งนี้ ในแผนการของลักเซมเบิร์กยังได้มีเป้าหมายลงทุนถึง 200 ล้านยูโรเพื่อต้องการให้บริษัทสำรวจอวกาศต่างๆย้ายสำนักงานมายังลักเซมเบิร์ก
และมีรายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีเป้าหมายในการสำรวจอวกาศเพื่อการค้าด้วยเช่นกัน