xs
xsm
sm
md
lg

สำเร็จ! “โรเซตตา” โคจรรอบ “ดาวหาง” หลังตามล่า 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองภารกิจการติดตามดาวหางของยานโรเซตตาเมื่อเข้าใกล้ที่ระยะ 100 กิโลเมตร  (เอเอฟพี/อีซา)
“โรเซตตา” ยานอวกาศยุโรปเข้าโคจรรอบดาวหางที่ติดตามมาเป็นเวลา 10 ปี แล้วเมื่อเย็นวันที่ 6 ส.ค.นี้ โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมายานได้วัดอุณหภูมิพื้นผิวของดาวหาง พบว่า “น้ำแข็งโสโครก” ของอวกาศนี้ไม่หนาวเหน็บอย่างที่คาด แต่ก็มืดมิดและหยาบแข็ง

ข้อมูลจากองค์การอวกาสยุโรป (อีซา) ระบุว่า ยานอวกาศโรเซตตา (Rosetta) ซึ่งติดตามดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก (Comet 67P/Churyumov-Gerasimenko) มานานกว่าเวลา 10 ปีเป็นระยะทางกว่า 6 พันล้านกิโลเมตรได้เข้าโคจรรอบดาวหางดังกล่าว ที่ระยะ 100 กิโลเมตร เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 6 ส.ค.นี้ ตามเวลาประเทศไทย

ปัจจุบันทั้งยานอวกาศและดาวหางดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกประมาณ 405 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางครึ่งหนึ่งระหว่างดาวพฤหัสบดีและดาวอังคาร โดยมุ่งหน้าเข้าสู่ระบบุสุริยะชั้นในด้วยความเร็ว 55,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโกนั้นมีคาบดคจรรอบดวงอาทิตย์ 6.5 ปี โดยเริ่มเดินทางจากจุดไกลที่สุดนอกวงโคจรของดาวพฤหัสบดี เข้ามายังวงดคจรระหว่างดาวอังคารและโลกที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด โดยยานโรเซตตาของอีซาจะติดตามดาวหางดวงนี้ไปอีกปีกว่า กระทั่งดาวหางโคจรอ้อมดวงอาทิตย์แล้ววกกลับไปทางวงโคจรของดาวพฤหัสบดีอีกครั้ง

โรเซตตาถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ปี 2004 และอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงโน้มถ่วงของโลกและดาวอังคารเพื่อเร่งความเร็วในการไล่ตามดาวหางที่สนใจดวงนี้ โดยอาศัยแรงโน้มจากการบินเข้าใกล้โลก 3 ครั้ง และดาวอังคารอีก 1 ครั้ง

การเดินทางอันยาวนานโดยอาศัยตัวช่วยจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์เพื่อเร่งยานให้เข้าสู่วงโคจรของดาวหางเป้าหมายนี้ ยังทำให้ยานมีโอกาสผ่านดาวเคราะห์น้อยอีก 2 ดวง ได้แก่ สเตนส์ (Šteins) และ ลูทีเทีย (Lutetia) พร้อมทั้งบันทึกภาพและเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอวกาศทั้งสองดวง

ทั้งนี้ ยานโรเซตตาถูกปรับเข้าสู่ภาวะจำศีลเมื่อ มิ.ย.2011 เนื่องจากเส้นทางโคจรในระบบสุริยะทำให้ยานต้องอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากจนแผงเซลล์แสงอาทิตย์สร้างพลังงานได้น้อย นำไปสู่การตัดสินใจทำให้ยานเข้าสู่ภาวะหลับลึก และถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังโคจรกลับมาเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้ง

“หลังจาก 10 ปี 5 เดือน และ 4 วันของการเดินทางสู่เป้าหมายของเรา วนรอบดวงอาทิตย์ 5 ครั้ง และคำนวณเป็นระยะทาง 6.4 พันล้านกิโลเมตร เรายินดีอย่างยิ่งที่จะประกาศว่า ในที่สุด “เราก็มาถึง” ตอนนี้ โรเซตตาของยุโรปเป็นยานอวกาศลำแรกในประวัติศาสตร์ที่ร่วมเดินทางไปกับดาวหาง เป็นจุดสำคัญในการสำรวจกำเนิดของพวกเรา การค้นพบจะได้เริ่มขึ้นแล้ว” ฌอง ฌาคส์ ดอร์แดง (Jean-Jacques Dordain) ผู้อำนวยการใหญ่อีซากล่าว

ขณะที่รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ระหว่างวันที่ 13-21 ก.ค.ที่ผ่านมา ยานอวกาศลำดังกล่าวได้ขยับใกล้ดาวหางจากระยะทาง 14,000 กิโลเมตรเป็น 5,000 กิโลเมตร และระหว่างนั้นได้ใช้เครื่องมือวัดคลื่นอินฟราเรด วัดอุณหภูมิของดาวหางได้ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งหากพื้นผิวเป็นน้ำแข็งอย่างเดียวคาดว่าดาวหางจะหนาวเย็นกว่านี้ประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส

จากอุณหภูมิที่วัดได้อีซาแถลงว่า จากการวัดอุณหภูมิดาวหางน่าจะมีพื้นผิวที่มีฝุ่นเขรอะ เนื่องจากพื้นผิวที่มืดกว่าจะทำให้ได้รับความร้อนและปลดปล่อยความร้อนออกมาได้อย่างเต็มที่มากกว่าเมื่อสัมผัสแสงอาทิตย์ โดยระยะที่วัดอุณหภูมินั้นดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 555 ล้านกิโลเมตร

อย่างไรก็ดี ภารกิจที่เป็นไฮไลต์สำหรับยานโรเซตตาคือการยานฟิเล (Philae) เพื่อลงจอดบนพื้นผิวดาวหาง ซึ่งจะเกิดขึ้นเดือน พ.ย.ข้างหน้า เมื่อโรเซตตาอยู่ใกล้ดาวหางในระยะ 10 กิโลเมตร โดยยานลงจอดถูกออกแบบมาเพื่อปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดาวหางนาน 6 เดือน ส่วนโรเซตตายานแม่นั้นจะโคจรอยู่รอบๆ ดาวหางขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แล้วโคจรออกห่างเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดีในปี 2015

ทั้งนี้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวหางคือร่องรอยที่หลงเหลืออยู่จากกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ซึ่งยานโรเซตตามีเป้าหมายเพื่อร่วมศึกษากำเนิดระบบสุริยะนี้ โดยหาองค์ประกอบและเคมีของโมเลกุลโบราณจากดาวหาง

ชมภาพภารกิจสดได้ที่

Watch live streaming video from eurospaceagency at livestream.com


อ่านเพิ่มเติม

ปลุก “โรเซตตา” ยานล่าดาวหางหลังหลับนาน 31 เดือน
ภาพดาวหาง67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก ซึ่งบันทึกเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2014 โดยกล้องบนยานโรเซตตา (อีซา)

ภาพดาวหาง 67พี/ชูริวมอฟ-เกราซิเมนโก ขณะยานโรเซตตาอยู่ห่าง 1,950 กิโลเมตร ซึ่งอีซาเผยออกมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2014  (เอเอฟพี/อีซา)








Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น