แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่การให้สัมภาษณ์สั้นๆของซีอีโอ WhatsApp เรื่องการเตรียมเก็บ"ค่าสมาชิกรายปีกับผู้ใช้บนอุปกรณ์ iOS" ทำให้เกิดกระแสกล่าวขานไปต่างๆนานา "ผู้จัดการไซเบอร์" จึงรวบรวม 4 ข้อควรรู้เกี่ยวกับข่าวนี้ เพื่อให้ผู้ใช้ WhatsApp ทุกคนเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบริการแชตทันใจสัญชาติอเมริกัน
1. WhatsApp เก็บค่าบริการแชตรายปีกับผู้ใช้ Android อยู่แล้ว
นี่อาจเป็นเรื่องที่ผู้ใช้อุปกรณ์แอนดรอยด์ (Android) หลายคนยังไม่เคยรู้ ตรงนี้หากชาวแอนดรอยด์ลองคลิกเปิดแอป WhatsApp แล้วเลือกที่เมนู Setting คลิกที่ Account จะพบปุ่ม Payment info ซึ่งจะแสดงข้อมูลค่าบริการรายปีที่ต้องชำระเมื่อถึงเวลาที่กำหนด สำหรับคนไทย ค่าบริการจะแบ่งเป็น 3 แพคเกจ ได้แก่ แบบ 1 ปี 28.85 บาท, แบบ 2 ปี 77.81 บาท (ลดราคา 10%) และแบบ 5 ปี 108.12 บาท (ลดราคา 25%)
ที่ผ่านมา WhatsApp นั้นเปิดให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปแชตกับเพื่อนข้ามแพลตฟอร์มได้ฟรี โดยจะยอมให้ใช้บริการฟรี 1 ปี เมื่อครบกำหนดใช้ฟรีผู้ใช้จะสามารถเลือกชำระค่าบริการตามแพคเกจที่ต้องการ ซึ่งสามารถคลิกชำระผ่านบริการ Google Wallet หรือคลิกจ่ายเงินผ่าน Paypal ที่จะส่งเงินตรงถึงบริษัท WhatsApp Inc.
สิ่งที่ WhatsApp กำลังจะทำคือการนำรูปแบบบริการนี้มาใช้กับกลุ่มผู้ใช้งานบนอุปกรณ์ iOS บ้าง โดย Jan Koum ซีอีโอ WhatsApp ให้สัมภาษณ์ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ WhatsApp ต้องซื้อแอพบน iTunes Store ด้วยราคา 0.99 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 30 บาท) แล้วสามารถใช้ได้ตลอด มาเป็นการเสียค่าธรรมเนียมการใช้งานรายปีแทน
เท่ากับว่า ผู้ใช้ไอโฟนในอนาคตจะสามารถดาวน์โหลด WhatsApp เพื่อใช้งานครั้งแรกได้ฟรีไม่มีค่าใช้ข่าย แต่หลังจากใช้ไปแล้ว 1 ปี ก็จะต้องเสียค่าบริการปีละ 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 บาทไปทุกปี เช่นเดียวกับผู้ใช้แอนดรอยด์ และอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการอื่นๆ อย่าง Blackberry, Nokia และ Windows Phone ที่มีรูปแบบเก็บค่าบริการแบบเดียวกัน
2. มีผลเฉพาะผู้ใช้รายใหม่
ผู้ใช้ WhatsApp บนไอโฟนในปัจจุบันไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเก็บเงินซ้ำซ้อนทั้งที่ได้จ่ายเงินซื้อแอปมาแล้วในราคา 0.99 เหรียญ เนื่องจากซีอีโอ WhatsApp ยืนยันว่ารูปแบบนี้จะใช้กับผู้ที่ใช้งาน WhatsApp รายใหม่ที่เพิ่งโหลดแอปไปใช้งาน
WhatsApp ยังไม่ระบุว่าจะเริ่มรูปแบบธุรกิจนี้กับผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันรายใหม่ภายในช่วงเวลาใด แต่ยืนยันว่าจะเป็นช่วงเวลาหนึ่งในปีนี้
3. WhatsApp แสดงจุดยืนไม่หวังเงิน
เบื้องต้น WhatsApp ให้เหตุผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไว้ว่าต้องการให้ผู้ใช้ทุกแพลตฟอร์มเสียค่าบริการในรูปแบบเดียวกัน ไม่ให้เป็น 2 มาตรฐานอย่างที่เป็นมา ซึ่งจะทำให้ WhatsApp สามารถบริหารจัดการบริษัทได้ง่ายขึ้น
ขณะที่บนเพจแสดงค่าบริการสำหรับผู้ใช้ Android, BlackBerry และ Windows Phone ผู้ใช้จะเห็นข้อความชี้แจงว่าการเก็บค่าบริการที่เกิดขึ้นเป็นการเก็บค่าบริการเล็กน้อยเพื่อเลี่ยงไม่ให้แอปพลิเคชัน WhatsApp มีโฆษณา
ทั้ง 2 ส่วนนี้สะท้อนว่า WhatsApp พยายามแสดงจุดยืนเรื่อง WhatsApp ไม่ได้คาดหวังทำรายได้จากการเก็บค่าบริการแชตรายปี โดยหากพิจารณาจากสถิติที่ผ่านมา ผู้ใช้อุปกรณ์ iOS ทั่วโลกจำนวนมากก็ยอมเสียเงินดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจนทำให้ WhatsApp ติดอันดับแอปพลิเคชันยอดนิยมในกลุ่มแอปพลิเคชันที่ต้องเสียค่าบริการ (top paid app) ในบางช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของ WhatsApp ในระยะหลังนั้นถดถอยกว่าเดิมมาก แม้ WhatsApp จะยืนยันว่า WhatsApp เป็นสื่อกลางรับส่งข้อความมากกว่า 1.7 หมื่นล้านข้อความต่อวัน และมีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคนบนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์
4. WhatsApp เตรียมขยายอาณาจักร
ซีอีโอ WhatsApp ยืนยันกับสื่อต่างชาติว่าวางแผนจะพัฒนาบริการใหม่ที่นอกเหนือจากการแชตและโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาจแจ้งเกิดเป็นบริการแปลภาษา หรือบริการ live streaming video (ถ่ายทอดสด) ซึ่งจะยังไม่เปิดให้บริการในปีนี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แผนการขยายอาณาจักร WhatsApp นั้นไม่ขยายวงสู่อุปกรณ์ที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากซีอีโอ WhatsApp ยอมรับว่าบริษัทไม่มีแผนในการพัฒนาให้ WhatsApp สามารถใช้งานบนคอมพิวเตอร์ แต่จะมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์พกพาต่อไป ตามความนิยมของชาวดิจิตอลที่ยังผูกติดกับการใช้งานอุปกรณ์พกพาทั้งสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต มากกว่าเดสก์ท็อปหรือคอมพิวเตอร์พีซีที่ยังใช้งานเฉพาะเวลานั่งโต๊ะ
แผนนี้ทำให้จุดยืนของ WhatsApp มีทั้งความเหมือนและต่างจากคู่แข่งอย่าง Line โดย Naver ต้นสังกัด Line นั้นพยายามสร้างอาณาจักรที่สามารถทำรายได้จากหลายบริการ เช่น บริการขายสติกเกอร์ บริการขายแอปพลิเคชันในเครือ จุดนี้อาจเป็นสิ่งที่ WhatsApp ต้องการจะเดินไป แต่ WhatsApp เลือกจะไม่พัฒนาความสามารถบนคอมพิวเตอร์พีซีเหมือนที่ Line ทำ ซึ่งถือเป็นจุดต่างที่แสดงความเชื่อมั่นที่ต่างกัน
ที่เหลือนอกจาก 4 ข้อนี้ คือการลุ้นว่าผู้ใช้ WhatsApp บน iOS จะตอบรับรูปแบบบริการใหม่ของ WhatsApp มากน้อยเพียงใด.