สื่อต่างประเทศพร้อมใจกันตีข่าวว่าแอปเปิล (Apple) กำลังซุ่มจัดงานประชุมนักพัฒนาในเดือนมีนาคม 2013 เพื่อเปิดตัวชุดโปรแกรมใหม่ที่นักพัฒนาจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือเขียนแอปพลิเคชันสำหรับแอปเปิลทีวี (Apple TV) งานนี้นักวิเคราะห์เชื่อว่าหากข่าวทั้งหมดเป็นความจริง แอปเปิลทีวีจะถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เนื่องจากสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งแอปเปิลนั้นเคยประกาศไว้ในช่วงปลายปี 2010 ว่ามีแผนจะเปิดร้านแอปสโตร์สำหรับแอปเปิลทีวีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ยุคทองของแอปเปิลทีวี การได้เรียนรู้ว่าแอปเปิลทีวีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใคร ตอบโจทย์อะไร และจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเสพสื่อของชาวโลกอย่างไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนไทย เพราะที่ผ่านมา แอปเปิลทีวีหยุดทำตลาดในเมืองไทยทั้งที่เคยวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับแอปเปิลทีวีเท่าที่ควร
ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มล่าสุดพบว่าแอปเปิลทีวีอาจกลับมาวางจำหน่ายในเมืองไทยอีกครั้ง เพราะวันนี้แอปเปิลเปิดให้บริการภาพยนตร์พากษ์ไทยบนร้านไอจูนส์ (iTunes) แล้ว ถือเป็นขั้นแรกตามกระบวนการเริ่มจำหน่ายแอปเปิลทีวีในประเทศอื่นๆ เท่ากับมีโอกาสสูงที่แอปเปิลทีวีจะวางจำหน่ายในไทยหลังจากที่คอนเทนต์ภาษาไทยมีความพร้อมมากกว่านี้
***จากเรือนหมื่นลดเหลือ 3,000 บาท
แอปเปิลทีวีนั้นถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2006 จนกระทั่งถูกพัฒนามาเป็นแอปเปิลทีวียุคที่ 2 ในเดือนกันยายนปี 2010 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าแอปเปิลจะปรับลดราคา (จาก 299 เหรียญเป็น 229 เหรียญ) เพิ่มฟีเจอร์ หรืออัปเดทอินเตอร์เฟสใหม่เท่าไรก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไอโฟน แอปเปิลทีวีรุ่น 2 จึงถูกหั่นราคาครั้งใหญ่เหลือเครื่องละ 99 เหรียญสหรัฐ (ราว 3,000 บาท) จนทำให้ยอดจำหน่ายแอปเปิลทีวีทะลุ 1 ล้านเครื่องได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2010
นักวิเคราะห์เชื่อว่า 1 ในเหตุผลที่ทำให้แอปเปิลทีวีรุ่นแรกไม่สามารถทำรายได้ถล่มทลายเหมือนไอโฟนคือการขาดคอนเทนต์ในการดึงดูดผู้บริโภค เพราะแอปเปิลทีวีนั้นเป็นอุปกรณ์ในรูปกล่องจิ๋วเซตท็อปบ็อกซ์ที่ออกแบบมาสำหรับให้ผู้ใช้เช่าและซื้อวิดีโอจากร้านไอจูนส์มาชมบนโทรทัศน์ เมื่อเปิดตัวแอปเปิลทีวีรุ่น 2 แอปเปิลจึงมุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนคอนเทนต์ ด้วยการทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการวิดีโอออนไลน์ในสหรัฐฯอย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สถานีวิทยุออนไลน์พ็อดคาสต์ (podcasts) และบริการฝากรูปอย่างฟลิกเกอร์ (Flickr) ผ่านแอปเปิลทีวี ทำให้ผู้ใช้สามารถนอนเอนหลังบนโซฟาพร้อมชมภาพหรือวิดีโอจากทีวีจอใหญ่ได้แทนที่ต้องไปนั่งคุดคู้หน้าคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ขณะเดียวกัน แอปเปิลทีวีถูกปรับให้ผู้ใช้สามารถส่งไฟล์จากคอมพิวเตอร์แมคอินทอช ไอโฟน และไอแพ็ดมาเล่นบนทีวีเครื่องใหญ่ได้ ทำให้แอปเปิลทีวียุคที่ 2 เริ่มกลายเป็นอุปกรณ์เสริมที่สาวกผู้ใช้แมคอินทอชอยากซื้อหามาใช้งาน เช่นเดียวกับบริษัทองค์กรที่ต้องการให้พนักงานส่งไฟล์จากอุปกรณ์ส่วนตัวไปแสดงบนทีวีห้องประชุมได้รวดเร็ว
แอปเปิลทีวียุคใหม่มีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของรุ่นแรก เป็นกล่องสีดำดูสนุกน่าค้นหาและไม่มีฮาร์ดไดร์ฟ ด้านหลังเครื่องมีกลุ่มพอร์ตเชื่อมต่อซึ่งแม้จะน้อยกว่ารุ่นแรกมากนักแต่สามารถรองรับมาตรฐาน HDMI ในทีวีความละเอียดสูงได้โดยไม่ต้องใช้เครือข่าย Wi-Fi ตัวเครื่องสามารถต่อตรงกับทีวีได้เลยไม่ต้องผ่านคอมพิวเตอร์ สามารถแสดงวิดีโอความละเอียด 720p ที่ 30 เฟรมต่อวินาที
จุดประสงค์ดั้งเดิมของแอปเปิลทีวีคือการขายภาพยนตร์ แต่วันนี้ผู้ใช้สามารถเช่าภาพยนตร์ได้ตามสิทธิ์การชมแต่ละประเทศ ระบบไม่ต้องใช้ฮาร์ดไดร์ฟในเครื่องเพราะการเช่าภาพยนตร์และรายการทีวีบนอุปกรณ์ของแอปเปิลนั้นเป็นการสตรีมมิงซึ่งต้องพึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้แอปเปิลทีวีถูกให้คำจำกัดความว่า "สตรีมมิ่งบ็อกซ์ (streaming box)" ตามลักษณะการใช้งาน
***ตลาดไทยส่อแววรุ่ง
สัญญาณรุ่งโรจน์ของแอปเปิลทีวีในตลาดไทยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในร้านไอจูนส์และความต้องการความสะดวกสบายในการย้ายไฟล์ของผู้ใช้แมคอินทอชในไทย วันนี้แอปเปิลเริ่มต้นเพิ่มคอนเทนต์ความบันเทิงภาษาไทย ขณะที่สาวกชาวไทยก็ลงทุนไปหิ้วเครื่องจากต่างประเทศมาใช้งาน
มิถุนายนปี 2007 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แอปเปิลทีวีถูกนำเข้ามาจำหน่ายที่ร้านไอสตูดิโอ ตัวแทนจำหน่ายสินค้าแอปเปิลอย่างถูกต้องในประเทศไทยด้วยราคาเริ่มต้น 15,300 บาท ช่วงเวลานั้นร้านไอจูนส์ไม่มีบริการภาพยนตร์ไทย หรือเพลงไทย ทำให้แอปเปิลทีวีไม่โดนใจชาวไทยและไอสตูดิโอยกเลิกการจำหน่ายไปตามระเบียบ
แอปเปิลทีวียุคที่ 2 จึงไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ จุดนี้ "ขจร เจียรนัยพานิชย์" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์รวมข่าวสารแอปเปิล www.macthai.com ให้ข้อมูลว่าวันนี้ผู้ใช้แมคอินทอชจำนวนหนึ่งยอมจ่ายเงินซื้อแอปเปิลทีวีเครื่องหิ้วมาใช้งานในราคาราว 4,500-6,000 บาทแม้ผู้ใช้จะไม่มีความมั่นใจเรื่องบริการหลังการขาย เพราะต้องการประสบการณ์ถ่ายโอนไฟล์สะดวกสบายบนทีวี โดยคาดว่าปีนี้ แอปเปิลทีวีอาจจะเข้ามาทำตลาดในไทยอีกครั้งเพราะคอนเทนต์ภาษาไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่ง
"กลางปี 2012 ที่ผ่านมา เพลงไทยจากค่ายเพลงเลิฟอีสเริ่มเปิดให้ผู้ใช้สินค้าแอปเปิลซื้อหาดาวน์โหลดไปฟัง ขณะที่ภาพยนตร์ต่างประเทศจากค่ายดีสนีย์ เริ่มให้บริการเวอร์ชันพากษ์ไทยบนไอจูนส์ แต่ยังไม่มีบรรยายไทย และยังไม่มีภาพยนตร์ไทย ตรงนี้อาจจะทำให้แอปเปิลทีวียังไม่มีอิทธิพลในตลาดไทยวงกว้าง ซึ่งยังต้องใช้เวลา"
ขจรเชื่อว่าผู้ใช้แอปเปิลทีวีในประเทศไทยขณะนี้เป็นสาวกแอปเปิลส่วนใหญ่ โดยเป็นกลุ่มที่ยอมเสียเงินซื้อหรือเช่าภาพยนตร์ในราคา 3.99-19.99 เหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ถือเป็นคนจำนวนน้อยในประเทศไทย ขณะเดียวกัน คอภาพยนตร์ในไทยอาจยังไม่ปลื้มกับคุณภาพเสียงพากษ์ไทยที่เป็นระบบสเตอริโอ ไม่ใช่ระบบดอลบีดิจิตอล
ทั้งหมดนี้ ขจรเชื่อว่าแอปเปิลจะมีการพัฒนาคอนเทนต์ภาษาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาการตามขั้นตอนที่เกิดขึ้นในประเทศที่ทยอยวางจำหน่ายแอปเปิลทีวีแล้ว จุดนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่แอปเปิลทีวีจะเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปีนี้หรือปีหน้า เหมือนกับที่แอปเปิลทีวีเริ่มวางจำหน่ายในอินเดียช่วงกลางเดือนมีนาคม หลังจากเปิดร้านไอจูนส์อย่างเป็นทางการในอินเดียราว 3 เดือน
แม้แอปเปิลทีวีจะสามารถใช้งานกับทีวีที่ไม่รองรับสัญญาณ Wi-Fi แต่ขจรเชื่อว่าแอปเปิลทีวีจะไม่ได้มาแทนที่ทีวีอินเทอร์เน็ต เพราะตลาดทีวีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ผ่าน Wi-Fi นั้นกำลังขยายตัว จุดนี้มีความเป็นไปได้ที่สตรีมมิ่งบ็อกซ์อย่างแอปเปิลทีวีจะถูกใช้เพื่อชมรายการเคเบิลออนไลน์มากขึ้น จนทำให้สตรีมมิ่งบ็อกซ์ถูกใช้แทนกล่องรับสัญญาณเคเบิลทีวีในอนาคต รวมถึงฟรีทีวีช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ TPBS
***กูเกิลทีวีพร้อมแข่ง
ถ้าถามว่าแอปเปิลทีวีนั้นเป็นคู่แข่งของใคร หลายคนหันไปมองที่กูเกิลทีวี (Google TV) เพียงแต่ในขณะที่แอปเปิลทีวีเปิดตัวในรูปกล่องเซ็ตท็อบบ็อกซ์สำหรับเสียบต่อกับทีวี กูเกิลกลับเลือกพัฒนากูเกิลทีวีในรูปซอฟต์แวร์ที่มีพื้นฐานคือแอนดรอยด์ (Android) เพื่อให้ผู้ผลิตนำเอาไปติดตั้งในอุปกรณ์ของตัวเอง ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบต่างถูกออกแบบมาสำหรับเชื่อมต่อกับทีวี ปูทางให้ผู้ชมได้ชมคอมเทนต์ดิจิตอลบนทีวีจอใหญ่ในห้องนั่งเล่นเหมือนกัน
ข่าวคราวล่าสุดของกูเกิลทีวีในขณะนี้คือการเตรียมเปิดตัวความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดในงาน Google I/O งานประชุมนักพัฒนาที่กูเกิลจะจัดขึ้นกลางเดือนพฤษภาคม 2013 โดยช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นักพัฒนาในกลุ่ม Google TV Developer นั้นโพสต์ข้อความถึงผู้ติดตามบนเครือข่าย Google+ ว่า "Stay tuned for #GoogleTV news at I/O." เพื่อบอกให้นักพัฒนารอติดตามความเคลื่อนไหวของกูเกิลทีวีในงาน พร้อมกับส่งสัญญาณว่ากูเกิลยังไม่ลืมโครงการพัฒนาทีวีอินเทอร์เน็ตและกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ซึ่งยังไม่สามารถตีตลาดได้เท่าที่ควร
งาน I/O ปีที่แล้วเป็นเวทีเปิดตัวเครื่องสตรีมมิ่งบ็อกซ์ Co-Star จากค่ายวิซิโอ (Vizio) ซึ่งจำหน่ายในราคา 99 เหรียญสหรัฐ คาดว่างานปีนี้ คู่แข่งของแอปเปิลทีวีจะถูกเปิดตัวออกมาอีกแน่นอน
ปัจจุบัน ตลาดสตรีมมิ่งบ็อกซ์จิ๋วสไตล์แอปเปิลทีวีนั้นมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯซึ่งส่วนใหญ่มีราคาไม่เกิน 99 เหรียญ เช่น Western Digital TV Play, TiVo Mini และ Roku แบรนด์น้องใหม่กระแสแรงในขณะนี้ แถมส่วนใหญ่ถูกยกย่องว่ามีคุณสมบัติที่เหนือกว่าแอปเปิลทีวีในหลายจุด เช่น Roku 3 รุ่นใหม่ที่การทดสอบพบว่าผู้ชมในสหรัฐฯจะสามารถชมรายการมากกว่า 750 สถานีทั้ง Netflix, Amazon Instant, HBO Go, Hulu Plus, Pandora, MLB.TV, Amazon Cloud Player และ Vudu รวมถึงการจับมือกับสถานีโทรทัศน์หลักของสหรัฐฯ แต่ยังขาดช่อง YouTube รวมถึงการรองรับบริการของแอปเปิลได้ไม่ดีเท่าแอปเปิลทีวีเอง
1 ในหลายเหตุผลที่ทำให้ตลาดอุปกรณ์สตรีมมิ่งบ็อกซ์ขยายตัวและมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นต่อเนื่อง คือโอกาสของตลาดโทรทัศน์ออนไลน์ที่ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่ เพราะที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือถูกนำมาเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตจนเกิดเป็นสมาร์ทโฟนที่มีขั้วอำนาจ 2 ฝ่ายชัดเจนนั่นคือแอนดรอยด์และไอโอเอส แต่ในวงการโทรทัศน์ การนำอินเทอร์เน็ตไปติดให้โทรทัศน์กลับเติบโตแบบขาดความชัดเจน ไม่มีแพลตฟอร์มใดประสบความสำเร็จในฐานะระบบหลักเหมือนอย่างที่แอนดรอยด์และไอโอเอสทำได้ ช่องว่างนี้เองที่ทำให้ทุกคนพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ในวงกว้างที่สุด
วันนี้ ผู้ร่วมเล่นในวงการสมาร์ททีวีจึงมีตั้งแต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริการอินเทอร์เน็ต (เช่น TiVo Mini), ผู้ผลิตโทรทัศน์ (เช่น ซัมซุง, โซนี่ และ แอลจีที่นำคำว่า Smart TV มาเป็นชื่อสินค้า), ผู้ผลิตเกมส์คอนโซล (เช่น Xbox 360) รวมถึงบริษัทไอที (เช่น Apple TV)
ความคืบหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการสมาร์ททีวีในรอบปีนี้คือการที่แอลจีประกาศซื้อระบบปฏิบัติการเว็บโอเอส (webOS) จากเอชพี (HP) เพื่อนำมาปรับใช้เป็นระบบปฏิบัติการสมาร์ททีวีของตัวเอง การประกาศครั้งนี้สะท้อนว่าแอลจีอาจกำลังตีตัวออกห่างกูเกิลทีวี และพัฒนาแพลตฟอร์มทีวีอินเทอร์เน็ตของตัวเอง
ทั้งหมดนี้แสดงว่าเส้นทางของแอปเปิลทีวีนับจากนี้ จะไม่ได้โรยกลีบกุหลาบแน่นอน.
***รู้หรือไม่***
- แอปเปิลทีวีไม่เหมาะกับคนที่อ่อนภาษาอังกฤษ เพราะเมนูในเครื่องเป็นอังกฤษทั้งหมด
- แอปเปิลทีวีไม่มีรับประกันในประเทศไทย เครื่องหิ้วไม่สามารถนำเข้าศูนย์ซ่อม Apple Authorized ในประเทศไทย
- ผู้ใช้แอปเปิลทีวีจะต้องใช้ร่วมกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หากความเร็วสูงไม่พอ อาจเกิดปัญหาภาพสะดุด
- ระบบเสียงในแอปเปิลทีวียังเป็นที่กังวล เพราะภาพยนตร์ออนไลน์อาจไม่มีระบบเสียง Dolby True HD ทำให้การเล่นบนโฮมเธียเตอร์ไม่ได้อรรถรสเท่าที่ควร
- แอปเปิลทีวีสามารถรองรับทีวีเครื่องเดียว บ้านที่มีหลายห้องและมีทีวีหลายเครื่องจะต้องซื้อแอปเปิลทีวีเพิ่มหากต้องการใช้งานให้ครบทุกห้อง
- แอปเปิลทีวีเหมาะกับผู้ต้องการความสะดวกสบายในการเช่าภาพยนตร์ และการแบ่งปันคอนเทนต์ต่างๆขึ้นไปบนจอทีวี ทั้งเพลง ภาพยนตร์ในคอมพิวเตอร์ ภาพถ่าย และคลิปวีดีโอ ทำให้ทีวีที่รองรับ HDMI มีประโยชน์มากขึ้น