รอยเตอร์ - เงินทุนไหลออกจากแดนมังกรในปี 2559 คาดว่า มีอัตราช้าลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพบ้างแล้ว โดยคาดว่าจะมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 538,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากประมาณการของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ( the Institute of International Finance ) หรือ IIF เมื่อวันจันทร์ ( 25 เม.ย. 2559) เงินทุน ที่คาดว่า จะไหลออกจากจีนดังกล่าว มีจำนวนลดลง 1 ใน 5 จาก ที่เคยไหลออกจำนวน 674,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว นับเป็นการไหลออก ที่ช้าลง
อย่างไรก็ตาม IIF เตือนว่า การไหลออกของเงินทุนอาจมีอัตราเร่งอีกก็เป็นได้ หากนักลงทุนเกิดความกลัวขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับการอ่อนค่าอย่างไร้ระเบียบของเงินหยวน
รายงานฉบับนี้อธิบายว่า การไหลออกของเงินทุนจากจีนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจจีน ที่มีขนาดใหญ่ และการไหลออกเงินทุนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศผันผวนมากขึ้น ซึ่งถึงตอนนั้นจะทำให้เงินทุนทะลักออกระลอกใหม่
IIF ระบุว่า หากค่าเงินหยวนดิ่งแรงก็น่าจะทำให้มีการเทขายสินทรัพย์การลงทุน ที่มีความเสี่ยงทั่วโลกครั้งใหม่ รวมทั้งทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ นอกจากนั้น ยังอาจนำไปสู่การแข่งขันกันลดค่าเงินในหมู่ชาติตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ อีกรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่มีการค้าเชื่อมโยงใกล้ชิดกับจีน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การไหลออกของเงินทุนจากจีนกำลังชะลอลง โดยในเดือนมี.ค. มีการไหลออกประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมยอดเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปีประมาณ175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการไหลออกช้ากว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2558
รายงาน IIF มีขึ้น หลังจากเกิดแรงเทขายหุ้นอย่างหนักในตลาดทั่วโลกช่วงเริ่มต้นของปีนี้ อันเป็นผลจากการประกาศลดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันอย่างกะทันหันของจีน ซึ่งก่อให้เกิดความกลัวกันว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรายนี้จะเริ่มทำสงครามเงิน โดยลดค่าเงินแข่งกับประเทศอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได่ผ่อนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางเงินหยวน โดยทางการจีนย้ำว่า จีนมีการอ้างอิงเงินหยวนกับตะกร้าเงินมากกว่าผูกกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเงินเดียว ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มนิ่ง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว ขณะที่ เศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 7 ปี แต่ก็ยังสอดคล้องการคาดการของตลาด และยังอยู่ในกรอบประมาณการที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายไว้ ระหว่างร้อยละ 6.5- 7 สำหรับปี 2559
อย่างไรก็ตาม IIF เตือนว่า ยังมีเรื่องสำคัญ ที่ต้องคำนึงถึงอย่างหนึ่งคือทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ที่ลดลงของจีน ซึ่งอาจทำให้ทางการเริ่มวิตกกังวลและอาจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอีก หรือไม่ก็มีการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุนอย่างเข้มงวดจนเห็นได้ชัด
ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนลดลงจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. 2557 มาอยู่ที่ราว 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.พ. 2559 ซึ่งเมื่อเทียบกับชาติส่วนใหญ่ก็ยังนับว่า จีนยังมีทุนสำรองสูง
อย่างไรก็ตาม หากใช้เกณฑ์การคำนวณของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ จะเห็นว่า กันชนระหว่างทุนสำรองจริงกับทุนสำรองที่ถูกกำหนดของจีนนั้นได้ลดลงร้อยละ 15 จากร้อยละ 50 เมื่อ 2 ปีก่อน
เมื่อพิจารณาในแง่นี้ การไหลออกของเงินทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องก็อาจทำให้ทุนสำรองอย่างเป็นทางการของจีนลดลงถึงระดับที่มองกันว่า ขาดแคลน โดยที่ปราศจากมาตรการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด
เงินทุนต่างชาติสุทธิ ที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่อยู่ที่จีนเกือบร้อยละ 30 ระหว่างปี 2543-สิ้นปี 2557 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากนั้น ได้เกิดเงินไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักมาจากธนาคารต่างชาติหั่นเครดิตบริษัทจีน บริษัทของจีนเองจ่ายเงินชำระหนี้ และนักลงทุนต่างชาติลดเงินหยวนในบัญชีเงินฝาก
ในตอนท้าย IIF ระบุว่า การตัดสินใจของไอเอ็มเอฟให้เงินหยวนเข้ารวมอยู่ในตะกร้าสกุลเงินเอสดีอาร์เมื่อปีที่แล้วน่าจะช่วยให้เงินทุนไหลเข้าจีน และจะยิ่งดีมากขึ้น หากผู้จัดทำดัชนีอ้างอิงหลักทรัพย์และตราสารหนี้รายใหญ่จะดึงหุ้นในประเทศของจีนเข้าอยู่ในดัชนีอ้างอิงด้วย โดยบริษัท MSCI ผู้จัดทำดัชนี MSCI EM จะมีการตัดสินใจนำหุ้นกระดานเอของจีนเข้าสู่การคำนวณในดัชนี MSCI EM 23 ประเทศ ในเดือนมิ.ย นี้