xs
xsm
sm
md
lg

วันที่จีนรอคอยหยวนเป็นสกุลเงินโลกอยู่แค่เอื้อม

เผยแพร่:   โดย: พรรณพิไล นาคธน


เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ขณะนี้เงินหยวนของจีนกำลังคืบใกล้สู่พรมแดนสุดท้ายของการเป็นสกุลเงิน “ปกติ” ที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ บริษัทและผู้คนใช้เงินหยวนทำธุรกรรมกันทั่วโลกเหมือนกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในทุกวันนี้

จากบทวิเคราะห์ของเฮเลน หว่อง หัวหน้าผู้บริหารของธนาคารเอชเอสบีซี การเดินทางของเงินหยวนในฐานะสกุลเงินสำหรับการค้าและการลงทุนในช่วงสิบปีที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างรวดเร็วและโดดเด่น ประกอบกับการปฏิรูปและการใช้เงินหยวนระหว่างประเทศ ซึ่งขยายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรีจึงเป็นสิ่งที่พอมองเห็นได้แล้วในเวลานี้

เมื่อเดือนส.ค. 2558 จีนประกาศนโยบายลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงเงินหยวน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากนั้น ปลายเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา จีนก็เริ่มทำดัชนีเปรียบเทียบค่าเงินหยวนกับตะกร้าสกุลเงิน ที่เป็นคู่ค้ากับจีน ซึ่งแสดงชัดเจนว่าหยวนไม่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯ อีกต่อไป

และในวันที่ 1 ต.ค. 2559 เงินหยวนจะได้เข้าอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) โดยน้ำหนักของเงินหยวนในตะกร้าเงิน SDRs จะน้อยกว่าก็แต่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินยูโรเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่งชี้ได้ในแง่หนึ่งว่า หยวนคือ 1 ใน 3 สกุลเงินชั้นนำของโลก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่อื่นๆ เช่น ในการใช้ชำระเงินระหว่างประเทศ บทบาทของเงินหยวนยังล้าหลังไม่เพียงแต่ดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร แต่ยังล้าหลังเงินปอนด์อังกฤษ และเงินเยนญี่ปุ่น แสดงว่า การก้าวไปสู่การเป็นสกุลเงินสากลยังต้องเดินทางต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีแรงขับเคลื่อน ที่ทรงพลัง 2 ประการในการเดินทาง ได้แก่การให้คำมั่นเปิดเสรีบัญชีทุนของรัฐบาลจีน และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของจีนไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนมีการเปิดตลาดทุนแก่นักลงทุนต่างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น โครงการเชื่อมโยงการซื้อขายหุ้นระหว่างตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้กับฮ่องกง และโครงการนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการใช้สกุลเงินหยวน (QFII)

โครงการเหล่านี้กำลังเพิ่มขนาดฐานนักลงทุนต่างชาติ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเทรดในตลาดทุนจีน การถือครองหุ้นและตราสารหนี้สกุลเงินหยวนของต่างชาติยังนับว่าเล็กน้อยมาก หากเทียบกับขนาดของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้แดนมังกร แต่การปฏิรูปต่อไปจะเปลี่ยนแปลงภาพดังกล่าวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนก.พ. 2559 เมื่อทางการจีนเปิดตลาดตราสารหนี้ให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบันในระยะกลางและระยะยาว เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย และกองทุนบำนาญของต่างชาติ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ซึ่งอาจกรุยทางให้หลักทรัพย์จากต่างประเทศจำนวนมากไหลเข้ามานั้น มีขึ้นหลังจากจีนมีการประกาศเมื่อเดือนก.ค. 2558 ว่า จะทำให้ธนาคารกลางและกองทุนความมั่งคั่งของต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ในตลาดจีนได้ง่ายขึ้น

การผ่อนคลายกฎระเบียบเหล่านี้เป็นการยืนยันคำมั่นของจีน ที่จะเปิดเสรีบัญชีทุน และเป็นการส่งสาร ที่ทรงพลังว่า จีนจะยังคงอยู่บนเส้นทางการปฏิรูป

แรงขับเคลื่อนที่ 2 ซึงจะผลักดันให้เงินหยวนสามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่ได้แก่เศรษฐกิจของจีนเอง

เศรษฐกิจแดนมังกรขณะนี้ขยายตัวในอัตราที่ “ ปกติ” มากขึ้น คือร้อยละ 6.9 ในปี 2558 แม้การส่งออกชะลอการเติบโตก็ตาม แต่เศรษฐกิจจีนยังคงเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง และการเพิ่มผลผลิตของจีนเมื่อปีที่แล้วโดยคร่าว ๆ เท่ากับขนาดผลผลิตของเศรษฐกิจสวิสทั้งประเทศ

นอกจากนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 13 ของจีนยังตั้งเป้ารักษาอัตราการเติบโตของจีดีพีต่อปีให้อยู่เหนือร้อยละ 6.5 จากปัจจุบัน จนถึงปี 2563 เมื่อประกอบเข้ากับโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของรัฐบาล อาทิ โครงการ "หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง" หรือ “ Belt and Road” ซึ่งเป็นการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของชาติในเอเชีย ตลอดจนความพยายามของบริษัทจีนในการขยายการผลิตและขีดความสามารถออกไปนอกแผ่นดินใหญ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนรับประกันว่า การค้าและการลงทุนในโลก โดยใช้เงินหยวนย่อมเติบโตต่อไปอย่างแน่นอน

ปัจจุบันการค้าสินค้าของจีนประมาณร้อยละ 26 ซื้อขายกันด้วยเงินหยวน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดาเลย เมื่อมองว่า การค้าข้ามพรมแดนด้วยเงินหยวนเป็นโครงการ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2552 เท่านั้น

นอกจากการซื้อขายสินค้าระหว่างจีนกับฮ่องกงด้วยเงินหยวนแล้ว ก้าวสำคัญต่อไปก็คือคู่ค้ารายใหญ่อื่น ๆ ของจีนมีการใช้เงินหยวนทำธุรกรรม อาทิ ออสเตรเลีย ซึ่งมีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด โดยในปี 2558 สัดส่วนการส่งออกไปยังออสเตรเลียของจีนเพิ่มถึงร้อยละ 32 ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียของจีนเพิ่มถึงร้อยละ 23 หากมีการใช้เงินหยวนแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของการค้าระหว่างกันนี้ แหล่งเงินหยวนนอกจีนก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การเติบโตของตลาดนอกประเทศย่อมปูทางไปสู่การใช้เงินหยวนระหว่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินข้ามพรมแดน การลงทุน หรือการออมเงินของคนธรรมดา ๆ ทั่วโลก

มาตรวัดสุดท้ายว่าหยวนได้กลายเป็นสกุลเงินสากลแล้วก็คือเมื่อเริ่มมีการนำเงินหยวนมาใช้การทำธุรกรรม ที่ไม่เกี่ยวกับจีนเลย เช่นผู้ผลิตในเกาหลีใต้ใช้เงินหยวนจ่ายให้แก่ซัปพลายเออร์ในไทย แบบเดียวกับที่บริษัทและนักช้อปปิ้งทั่วโลกใช้เงินดอลลาร์ซื้อสินค้า ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ก็ได้

จิ๊กซอว์ดังกล่าวกำลังต่อเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็วในขณะนี้ หนทางยังต้องเดินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เงินหยวนเดินมาได้กว่าครึ่งทางแล้ว เพื่อมุ่งสู่การเป็นเงินที่ผู้คนมีการใช้กันทั่วไป การก้าวเดินไปบนเส้นทางนี้ย่อมทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินของโลกอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น