xs
xsm
sm
md
lg

จี้ปักกิ่งลงโทษนักลงทุนไต้หวัน "สองหน้า" โกยผลกำไรบนแผ่นดินใหญ่ แต่สนับสนุนเอกราชไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 โจว จื่ออี๋ว์ ป๊อบสตาร์ชาวไต้หวันต้องออกมาขอโทษชาวจีน หลังโบกธงชาติไต้หวันในรายการโทรทัศน์บนแผ่นดินใหญ่ ก่อนการเลือกตั้งไต้หวัน – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ที่ปรึกษาระดับสูงของจีนเตือนรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาพวกผู้ประกอบการชาวไต้หวัน ที่ตีสองหน้า โดยแนะนำให้สร้างระบบ เพื่อจำแนกพวกที่สนับสนุนเอกราชของเกาะมังกรน้อยออกมา

นาย หลี่ อี้หู ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายไต้หวันคนสำคัญของรัฐบาลปักกิ่ง และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนจีน ให้สัมภาษณ์ พิเศษหนังสือพิมพ์ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ว่า พวกตีสองหน้า ที่เขาเอ่ยถึงนี้ หมายถึงนักลงทุนชาวไต้หวัน ที่มาทำธุรกิจบนแผ่นดินใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของไต้หวันและมีนโยบายออกห่างจากจีน

“ นักธุรกิจ ‘ สีเขียว’ จากไต้หวันบางคนมาหาเงินบนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมเรียกร้องเอกราชในไต้หวันอยู่” นายหลี่หมายถึง “ค่ายสีเขียว” ของบรรดาพรรคการเมือง ที่นิยมเอกราช โดยนำชื่อมาจากสีของธงประจำพรรคดีพีพี

เขาเสนอให้รัฐบาลปักกิ่งสร้างระบบการให้ “ รางวัลและการลงโทษ” เพื่อแยกผู้ประกอบการประเภทนี้ออกมา โดยรัฐบาลควรเริ่มจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของนักธุรกิจไต้หวันบนแผ่นดินใหญ่ แต่มิได้เสนอว่า ควรจัดการลงโทษพวกตีสองหน้าอย่างไร

ทั้งนี้ หลังจาก ไช่ อิง เหวิน ผู้นำพรรคดีพีพี ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน และสมาชิกพรรคชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนไปอย่างมีพลัง ในรัฐบาลประธานาธิบดี หม่า อิงจิ่ว จากพรรคชาตินิยม หรือ พรรคก๊กมินตั๋ง ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปักกิ่งออกมาย้ำถึงค่านิยมหลักของนโยบาย “จีนเดียว” หรือที่รู้จักกันว่า “ฉันทามติ 1992” และพยายามกดดันให้ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันออกมาชี้แจงการตีความหมายของเธอให้กระจ่าง ซึ่งนักวิเคราะห์ของไต้หวันมองว่า เป็นการชิงป้องกันไม่ให้ไช่อ่านจุดยืนของจีนอย่างผิด ๆ หากมีการเจรจากันในอนาคต

นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังประกาศต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ภายหลังชัยชนะของไช่ว่า ปักกิ่งจะยับยั้งการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนไต้หวันในรูปแบบใดก็ตามอย่างเด็ดขาด

นายหลี่ ซึ่งยังเป็นคณบดีสถาบันไต้หวันศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุด้วยว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ควรมีความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ ใน “ฉันทามติ 1992” อย่างถ่องแท้ ความเข้าใจผิวเผินของคนส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ เช่นกรณี โจว จื่ออี๋ว์ ป๊อบสตาร์ชาวไต้หวันโบกธงชาติไต้หวันในรายการโทรทัศน์บนแผ่นดินใหญ่ และต้องออกมาขอโทษ หลังถูกชาวจีนแผ่นดินใหญ่กล่าวหาว่า เธอสนับสนุนการเรียกร้องเอกราช เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวไต้หวัน ซึ่งยังไม่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครพรรคใด ได้หันไปเทคะแนนให้พรรคดีพีพี

ทั้งนี้ ฉันทามติ 1992 ซึ่งทำร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง อนุญาตให้ทั้งสองฝ่าย ให้คำจำกัดความของคำว่า “จีนเดียว” ต่างกัน และทั้งสองฝ่ายถือว่า จีนเดียวหมายถึงประเทศเดียว แต่ตั้งอยู่บน 2 ฝั่งของช่องแคบไต้หวัน โดยพรรคก๊กมินตั๋งถือว่า ตนเป็นผู้นำโดยชอบธรรมของประเทศนั้น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า สาธารณรัฐจีน ( Republic of China) ขณะที่ปักกิ่งถือว่า ตนเป็นผู้นำโดยชอบธรรมของประเทศ ซึ่งเรียกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ( People’ s Republic of China)

ส่วนจุดยืนของพรรคดีพีพีก็คือทั้งสองเป็นรัฐอธิปไตย ที่อยู่คนละฟากของช่องแคบ

อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและไต้หวันต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่า การทำฉันทามติฉบับนี้เป็นการตกลงหยุดพักเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างกันไว้ก่อน เพื่อหันมาค้นหาหลักการร่วมกัน โดยปักกิ่งมอง ฉันทามติ 1992 เป็นข้อตกลงทางการเมือง ที่มีอยู่ฉบับเดียวระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน และเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบร่วมกันต่อไป

จากการเปิดเผยของนายหลี่ ปักกิ่งเชื่อว่า ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวันจะไม่มีการเคลื่อนไหวเหนือความคาดหมายอย่างที่นาย เฉิน สุ่ย เปียน ผู้นำพรรคดีพีพีคนก่อนเคยทำมาก่อน แต่ปักกิ่งก็ยังเผื่อความเป็นไปได้ ที่วันหนึ่งไช่ อิงเหวิน อาจหาทางแยกไต้หวันเป็นเอกราช ด้วยวิธีทำประชามติ หรือขอคำตัดสินจากศาลก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น