ในวาระดิถีวันปีใหม่ตามประเพณีจีน หรือวันตรุษจีนนี้ ทางมุมจีนขอนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนามหายานและวัฒนธรรมประเพณีจีน โดยอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน ได้กรุณามาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความรู้ดังกล่าว ซึ่งเป็นประเพณีที่เปี่ยมด้วยทรงคุณค่าความหมายและมีบทบาทในการธำรงคุณธรรม ความดีงาม ยังความสงบสุขแด่สังคม
ทั้งนี้อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน เป็นนักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนามหายาน และวัฒนธรรมประเพณีจีน และอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากรบรรยายความรู้ฯ อีกทั้งเป็นผู้แทนจัดงานพิธีกรรมทางพุทธศาสนามหายาน ได้แก่ การจัดพิธีกงเต็กในงานพระราชพิธีถวายพระศพแด่สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตลอดจนเป็นผู้ร่วมจัดทำพจนานุกรมศัพท์พุทธศาสนามหายานของวัดโพธิ์แมนคุณาราม
ความรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีการเฉลิมฉลองวันตรุษจีน เพื่อสร้างสิริมงคล ความสุข อำนวยโชคลาภ และรากความเชื่อ แก่นแท้ของพิธีกรรมในการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามประเพณีจีน โดยอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน ให้สัมภาษณ์ ในวันที่ 7 ก.พ. 2559 ณ วัดทิพย์วารีวิหาร (กัมโล่วยี่) แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ไหว้เทพวันตรุษจีน
ตามประเพณีการฉลองปีใหม่จีนนั้น มีกิจกรรมตระเตรียมกันตั้งแต่ปลายปี เริ่มจากพิธีขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการบูชาเทพเจ้าของชาวจีนนั้นมีหลักความกตัญญูเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในต้นปีผู้คนได้ไปขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองชีวิต ไม่ว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เมื่อถึงปลายปีก็จะมาขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ตามย่านชุมชนจีนตามตรอกซอย ก็มีการจัดแสดงงิ้ว ภาพยนตร์กลางแปลง เป็นต้น วัฒนธรรมดังกล่าวผูกพันกับชีวิตคนจีนมาเป็นเวลานานนับชั่วคน แต่ปัจจุบันประเพณีเหล่านี้มีให้เห็นน้อยลง การไหว้เจ้าตามชุมชนจางหายไป เนื่องด้วยปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ ได้แก่ คนรุ่นใหม่ไม่อยู่เป็นชุมชนเหมือนก่อน คนเก่าแก่ล้มหายตายจากไป การโยกย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นหลังๆ อีกทั้งสภาพการถือครองที่ดินที่เปลี่ยนไป ทำให้ชุมชนแตกสลาย ประเพณีก็สูญหายตามไปด้วย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
เมื่อไหว้ขอบคุณเทพแล้ว ก็จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนขัดล้างสิ่งสกปรกออกไป เมื่อใกล้วันตรุษจีนก็มีการจับจ่ายซื้อข้าวของ ตระเตรียมการสักการะบรรพบุรุษในวันสิ้นปี ที่คนไทยเรียก “วันไหว้” ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ตามศาลเจ้า
พิธีกรรมในคืนวันสิ้นปี ก็มีการเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ความเป็นสิริมงคล เทพแห่งความสุขยินดีต่างๆเข้ามายังบ้านเรือน ตามตำราจะระบุเทพเจ้าจะมาทิศไหน ฤกษ์ยามสิริมงคลเป็นเมื่อไหร่ ก็จะตั้งโต๊ะเซ่นไหว้บูชาหันหน้าไปทางทิศนั้นในฤกษ์สิริมงคลที่ระบุ พิธีเซ่นไหว้ในสมัยก่อนจัดกันแบบเรียบง่าย ของที่นำมาไหว้ไม่มีอะไรมาก ส้ม กระดาษเงินกระดาษทอง ธูปเทียน แต่ปัจจุบันกลับไปเน้นกันที่พิธีเซ่นไหว้บูชาใหญ่โต เนื่องจากคนในยุคกระแสทุนนิยมมาแรง ถือว่าเทพเจ้าโชคลาภเป็นเทพสำคัญ
มาถึงวันขึ้นปีใหม่ คือ “วันที่หนึ่ง เดือนหนึ่ง” ตามปฏิทินจันทรคติจีน ก็มีการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้บรรพบุรุษ โดยจะไม่ไหว้เนื้อสัตว์ ของไหว้จะเป็นผลไม้ อาหารเจ เป็นการงดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บางคนกินเจหนึ่งมื้อ...อย่างน้อยก็มื้อแรกของวันปีใหม่ นอกจากนี้ยังนิยมไหว้ขนมหวาน จันอับ ถั่วตัด ฝักเชื่อม โดยคนจีนเชื่อว่าความหวานคือความสุข ชีวิตหวานชื่นตลอดปี
หลังจากนั้น ใน “วันที่สี่ เดือนหนึ่ง” ก็จะมีพิธีต้อนรับเทพเจ้า สืบเนื่องจากช่วง 7 วัน ก่อนวันตรุษจีน ซึ่งตกราววันที่ 23-24 ของปีเก่าหรือเดือน 12 มีการทำพิธีส่งเทพเจ้าเตาขึ้นสวรรค์ เตาเป็นเทพเจ้าประจำบ้าน คนจีนถือว่า “บ้านไหนไม่มีควันไฟ บ้านนั้นไม่มีชีวิต” ทุกบ้านต้องมีการหุงต้มอาหาร โดยมีเจ้าเตาเป็นเจ้าที่ดูแลชีวิต
เจ้าเตาจะขึ้นสวรรค์ไปช่วงก่อนวันตรุษจีน 7 วัน เพื่อไปรายงานว่าคนในบ้านทำดีทำชั่วอย่างไร เพื่อที่เทพบนสวรรค์จะประทานพรอย่างถูกต้อง และท่านจะกลับลงมาในวันที่สี่หลังวันตรุษจีน ดังนั้น จึงมีการไหว้ต้อนรับเทพเจ้าเตาไฟกลับมา
“วันที่ห้า เดือนหนึ่ง” คนจีนในบางท้องถิ่นมีประเพณีไหว้เทพแห่งโชคลาภด้วย เพราะเชื่อว่าวันที่ห้า เดือนหนึ่ง เป็นวันเกิดของเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยพิธีไหว้ก็คล้ายการเซ่นไหว้ในคืนวันตรุษจีน ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความเชื่อของแต่ละบ้าน บางบ้านไหว้กันทุกวัน
“วันที่เจ็ด เดือนหนึ่ง” คนจีนถือว่าเป็นวันกำเนิดมนุษย์ จากตำนานโบราณบันทึกว่าเจ้าแม่หนี่ว์วาเป็นผู้สร้างมนุษย์ โดยปั้นดินสีเหลืองซึ่งเป็นดินของประเทศจีน ปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ สุนัข เป็ด ไก่...พอถึงวันที่เจ็ดก็ปั้นรูปคน ดังนั้นจึงมีการเซ่นไหว้เจ้าแม่หนี่ว์วาในวันที่เจ็ดหลังวันตรุษจีน
เคล็ดการกินผักอำนวยสิริมงคลโชคลาภ
นอกจากนี้กลุ่มคนจีนทางใต้ มีประเพณีการกินอาหารผัก 7 ชนิดในวันกำเนิดมนุษย์ จะเป็นผัดผักหรือแกงผัก ส่วนเลขเจ็ดก็พ้องกับวันที่เจ็ด โดยเลือกผักที่มีความหมายเชิงสิริมงคลต่างๆ เช่น ผักกาดเขียวให้มีโชคลาภใหญ่, คั่นไช่ให้รู้จักเก็บหอมรอมริด, ต้นกระเทียมหมายถึงการคิดคำนวณ มีเงินทองให้นับอยู่เรื่อย, หัวไชเท้าได้โชคลาภก้อนใหญ่, หัวแป๊ะฮะคล้ายหัวหอมหมายถึงทุกเรื่องสมใจนึก, กุ้ยไช่หมายถึงยั่งยืนนาน, คะน้ามีความหมายการรู้จักเก็บรู้จักใช้ เห็ดหอมคือความหอม มีชื่อเสียงเป็นที่รักใคร่ หรือจะใส่ต้นหอมแทนก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นอาจมีความเชื่อต่างกันเล็กน้อย
วันที่เจ็ดก็ถือเป็นวันสำคัญ นอกจากนี้เรื่องการกินผัก บางคนเชื่อว่าในวันตรุษจีนกินเนื้อสัตว์ไปมากแล้ว ก็มากินผักชดเชย
“วันที่เก้า เดือนหนึ่ง” เป็นวันไหว้เง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นประมุขสวรรค์ในความเชื่อลัทธิเต๋า คอยดูแลหมู่ทวยเทพต่างๆ วันที่เก้าหลังวันตรุษจีนถือเป็นวันประสูติเง็กเซียนฮ่องเต้ ประเพณีของชาวจีนตอนใต้จะเอาน้ำตาลทรายมาหล่อเป็นรูปทรงเจดีย์อันหมายถึงสวรรค์ นำมาบูชาเง็กเซียนฮ่องเต้ พร้อมกับอาหารคาวหวานต่างๆ โดยตั้งโต๊ะไหว้หน้าบ้านหรือกลางแจ้ง เพื่อขอพรจากพระจักรพรรดิแห่งสรวงสวรรค์
เมื่อถึง “วันที่ 15 เดือนหนึ่ง” เป็นวันหยวนเซียว หรือเทศกาลโคมไฟ เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลเฉลิมฉลองตรุษจีน จะมีการไหว้บรรพบุรุษอีกครั้ง ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพรฯ
พิธีสะเดาเคราะห์ แก้ชง
หลังวันตรุษจีนก็จะเริ่มทำพิธีสะเดาะเคราะห์กัน สมัยก่อนจะไม่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ในช่วง 15 วันก่อนตรุษจีน โดยจะทำในช่วง 15 วันหลังตรุษจีน แต่ในยุคหลังๆคนนิยมไปสะเดาะเคราะห์กันตั้งแต่ช่วงปลายปี
สำหรับการไหว้สะเดาะเคราะห์ จะทำพิธีไหว้เทพเจ้าไท้ส่วย เทพประจำปี เป็นดวงดาวที่โคจรมาดูแลชะตาชีวิตในแต่ละปี ฉะนั้น คนเกิดปีนักษัตรตรงข้ามกับนักษัตรปีนั้น เรียกว่า “ปีชง” อาจมีเคราะห์ร้าย มีอุบัติเหตุ มีปากเสียงกัน ทรัพย์สินรั่วไหล ก็จะมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือแก้ชง ฝากดวงชะตาไว้ที่วัด โดยเขียนชื่อ-วันเดือนปีเกิดบนแผ่นกระดาษ ฝากไว้ที่วัดหนึ่งปี เรียกว่า “ฝากดวง” ทางวัดก็จะเก็บดวงชะตา ทำพิธีสวดมนต์คุ้มครองให้เป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อถึงปลายปีก็ทำพิธีขอบคุณเทพเจ้าและเอากระดาษดวงชะตานี้ไปเผา สมัยก่อนคนที่มาทำพิธีฝากดวงก็จะกลับมาขอบคุณในตอนปลายปี แต่สมัยนี้คนมาทำพิธีต้นปีแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่สนใจกลับมาขอบคุณ
ในประเทศจีน เทศกาลหยวนเซียว มีพิธีมากมาย ไหว้เทพประจำปี มีการฉลองโคมไฟ เที่ยวเตร่ แห่เจ้ารอบหมู่บ้าน แต่เทศกาลหยวนเซียวในไทยจะเงียบกว่า
สมัยก่อนมีการขอพรตามศาลเจ้า โดยมีการไหว้ด้วยรูปปั้นสิงโตและเจดีย์ทำจากน้ำตาล ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายขนมเปี๊ยะ แล้วเชิญสิ่งเหล่านี้กลับไปปวางบนหิ้งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บ้าน ความหมายของสิงโต คือขับไล่สิ่งชั่วร้าย ส่วนเจดีย์เป็นการต่ออายุ ยังความเจริญรุ่งเรือง ตลอดจนป้องกันสิ่งชั่วร้ายด้วย สมัยก่อนช่วงหยวนเซียว จะมีรูปปั้นสิงโต-เจดีย์น้ำตาล ตามศาลเจ้ามากมาย
พอจบเทศกาลหยวนเซียว การเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนก็ครบถ้วน...จากการเซ่นไหว้ในช่วง 15 วันก่อนตรุษจีน และ 15 วันหลังตรุษจีน รวมเวลาหนึ่งเดือน
โดยสรุป เทศกาลปีใหม่เป็นเทศกาลขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์.. สักการะบรรพบุรุษ ขอพรสำหรับชีวิตข้างหน้า ส่วนเรื่องดวงชงสะเดาะเคราะห์ก็เป็นการเตือนใจไม่ให้ประมาท โดยพื้นฐานคนจีนอยู่กับการพึ่งพาตัวเองอยู่แล้ว การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงเคล็ดเสริมกำลังใจ นอกจากนี้ประเพณีที่ยังเป็นที่นิยมในช่วงปีใหม่คือการติดกลอนคู่ คำกลอนตุ้ยเหลียนไว้ที่บ้าน เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆเข้ามา
ชาวจีนในไทยยังมีประเพณีอีกอย่าง คือช่วงตรุษจีนตรงกับเดือนสามของไทย ใกล้งานบูชาพระพุทธบาทสระบุรี คนจีนก็มีประเพณีไหว้พระพุทธบาทไปด้วย เป็นงานบุญจาริกเฉพาะในเมืองไทย
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิในกรุงเทพฯที่คนนิยมไปไหว้ในคืนวันตรุษจีน ได้แก่ วัดมังกรกมลวาสหรือวัดเล่งเน่ยยี่ ศาลเจ้าพ่อเสือที่ถนนตะนาว ศาลซำเปากงวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร และที่อื่นๆ โดยมีวัดสามแห่งดังกล่าวเป็นจุดสำคัญของคนจีนในกรุงเทพฯ
ความหมายการบูชาเทพเจ้า เชิดชูคุณธรรมความดี กตัญญู
เทพเจ้าจีนมีพื้นฐานมาจากบุคคลที่สร้างตำนานคุณงามความดี การไหว้สักการะเป็นการเทิดทูนคุณธรรมความดี อย่างเช่น กวนอูเป็นแบบอย่างคุณธรรมซื่อสัตย์ ขงเบ้งเป็นแบบอย่างความเฉลียวฉลาดและจงรักภักดี การที่เทพเจ้าจีนมาจากสามัญชนที่สร้างคุณงามความดีนี้ก็มีรากฐานจากวัฒนธรรมปรัชญาขงจื่อที่สั่งสอนคุณธรรมความดี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านสร้างเทพเจ้าขึ้นมาเอง เช่น บางชุมชนสร้างศาลเจ้าหรือตั้งศาลเจ้าที่ ที่ชาวจีนเรียกว่า “ปึงเถ่ากง” ให้แก่เจ้าที่ดินที่มีความเมตตาให้ที่พักพิงแก่พวกเขา เทพประจำตลาดปากคลองตลาด ก็คือศาลรัชกาลที่หนึ่ง กับศาลกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็นับเป็นปึงเถ่ากง หรือเทพเจ้าประจำชุมชน ประเพณีเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของคนจีนที่แสดงออกถึงความกตัญญู เคารพสิ่งศักด์สิทธิ์ ประเพณีจีนไม่มีการไปไหว้เทพเจ้าแล้วก็นั่งรออภินิหารเฉยๆ
ในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เทพเจ้าที่คนนิยมบูชาที่สุด คือ ไฉ่ซิ้งเอี้ย เทพเจ้าโชคลาภ ทุกคนต่างก็แห่ขอโชคลาภกันทั้งนั้น....
ประเพณี พิธีกรรม กำหนดกาลเทศะ
รากประเพณีต่างๆ ตามหลักของขงจื่อเชื่อว่า ฟ้า ดิน และมนุษย์สัมพันธ์กัน มนุษย์อยู่ตรงกลางระหว่างฟ้าดิน เพราะฉะนั้นมนุษย์ก็ได้รับพลังจากฟ้าและดิน ฟ้าคือภูมิอากาศ เวลา การโคจรต่างๆบนท้องฟ้า ส่วนดินหมายถึงแผ่นดิน ภูมิประเทศ ที่เราอาศัยทำมาหากิน มนุษน์ควรอนุโลมเดินตามประเพณีต่างๆซึ่งกำหนดขึ้นในแต่ละฤดูกาล หลักการความเชื่อจีนคือมนุษย์จะต้องดำเนินชีวิตโดยไม่ขัดแย้งกับฟ้าดิน ให้สอดคล้องกับครรลองฟ้าครรลองดิน ฉะนั้น ในโอกาสต่างๆจะมีประเพณีก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเราควรทำอะไรเมื่อไหร่ เป็น “กาลเทศะ” ที่มนุษย์ควรดำเนินตาม
การบูชาเทพฯตามครรลองประเพณีก็เป็นไปตามกาละเทศะ อย่างกระแสอุ้มตุ๊กตาเทพ ดูเป็นการบูชาที่มากเกินไป เทียบกับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในสมัยก่อน นับจากการไหว้ผีเจ้าป่าเจ้าเขา การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเช่นพระเครื่อง การพกยัญติดตัว การแขวนสิ่งศักดิ์สิทธิในรถยนต์ทำให้ขับรถด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น การบูชานางกวักของคนทำมาหากินทั่วไป ก็ไม่มีใครอุ้มนางกวักติดตัว การถวายอาหารเซ่นไหว้ฯ ก็ถวายบนหิ้งในสถานที่เหมาะสม ไม่ใช่เซ่นไหว้กันบนเครื่องบินอย่างในกรณีตุ๊กตาเทพ
การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังมีความหมายที่ลึกซึ้ง อย่างเช่นการที่มนุษย์เคารพธรรมชาติ ทำพิธีไหว้ผีสางเจ้าป่าเจ้าเขา ก็เกิดจากความหวาดกลัว ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าไปตัดไม้สุ่มสี่สุ่มห้า เวลาไปตัดก็ต้องดูว่าไม้นี้จะล้มแล้ว เจ้าป่าอนุญาตแล้วถึงตัดเอาไปใช้กัน แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนกอบโกยทุกอย่างตามความต้องการ ใช้พิธีกรรมแค่สนองความอยาก ไม่ใช้ในเชิงเคารพบูชา พิธีกรรมก็กลายเป็นเครื่องมือในการทำอะไรบางอย่าง เช่น จัดพิธีบวงสรวงเจ้าป่าจะขอตัดไม้หมดป่าเลย โดยไม่ได้เป็นการเคารพ ผิดกับคนสมัยก่อนเคารพป่า ป่าเป็นสิ่งควรเคารพ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะใช้ประโยชน์ เก็บของป่า ก็เก็บแต่พอดี ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป
*เศรษฐพงษ์ จงสงวน จบการศึกษาปริญญาตรี คุรุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณทิต วิชาเอกสถาปัตยกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ปริญญาโทพุทธศาสตร์มหาบัณทิต สาขาพุทธศาสนาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสงฆ์) ต่อมาด้วยความสนใจส่วนตัวก็ได้ค้นคว้าศึกษาด้านพุทธมหายาน เทพเจ้าฝ่ายจีน วัฒนธรรมประเพณีจีน จนแตกฉานลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ และได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนามหายาน เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีจีน พุทธศาสนามหายาน ประจำอาศรมสยาม-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตลอดจนช่วยงานวิชาการด้านพุทธมหายานวัดโพธิ์แมนคุณาราม ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนคณะสงฆ์จากวัดโพธิ์แมนคุณา จัดพิธีกงเต็กในงานพระราชพิธีถวายพระศพแด่สมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
อาจารย์ยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานจัดทำพจนานุกรมศัพท์พุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป็นคู่มือการเรียนรู้ศึกษาพุทธมหายาน วัดโพธิ์แมนคุณาราม