เอเจนซี - กระทรวงสิ่งแวดล้อมแดนมังกรคาด (10 ม.ค.) คลื่นหมอกควันระลอกใหม่ เตรียมโจมตีกรุงปักกิ่ง มณฑลเหอเป่ย และนครเทียนจิน เริ่มจากวันอังคารเป็นต้นไป พร้อมปฏิเสธข่าวลือออนไลน์ ที่จับหมอกพิษเชื่อมโยงกับรังสีนิวเคลียร์
หลังจากกระแสลมแรงช่วยปัดเป่าหมอกพิษหนาทึบ ที่แผ่ปกคลุมพื้นที่ทางจีนตอนเหนือมาเกือบตลอดเดือนธ.ค. ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านท้องถิ่นก็ได้โอกาสสูดอากาศบริสุทธิ์ และท้องฟ้าปลอดโปร่งสะอาดตาอีกครั้ง
ทว่าข้อมูลจากระบบพยากรณ์หมอกพิษทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงฯ เพิ่งเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ระบุว่าคลื่นหมอกหนาจะกลับมาเยือนพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย รวมถึงบางส่วนของมณฑลซันตง ซันซี และเหอหนันในวันพรุ่งนี้ แต่คาดว่าแนวปะทะอากาศเย็น (cold fronts) ก็จะเข้ามาช่วยขจัดหมอกพิษในวันพฤหัสบดี
ระบบฯ ดังกล่าวจะเผยแพร่ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ที่ได้จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศและระดับมลภาวะใน 32 เมืองใหญ่ ทุก 24 และ 48 ชั่วโมง โดยประชาชนสามารถเข้าชมผ่านเว็บไซต์ของศูนย์ติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (www.cnemc.cn)
นายหลัว อี้ ผู้รับผิดชอบการเฝ้าติดตามสภาพสิ่งแวดล้อมของกระทรวงฯ เผยว่า ระบบสามารถทำนายคุณภาพอากาศล่วงหน้า ก่อนการจัดกิจกรรมทางสังคมและการเมืองครั้งสำคัญได้อย่างแม่นยำ อาทิ การประชุมเอเปคในเดือนพ.ย. และพิธีสวนสนามของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) ในเดือนก.ย.
อย่างไรก็ดี ปัญหาหมอกควันที่รบกวนการดำเนินชีวิตของชาวจีน โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศ ได้รื้อฟื้นทฤษฎีซึ่งเคยเป็นเรื่องฮือฮาบนโลกออนไลน์ในปี พ.ศ.2556 โดยแพทย์รายหนึ่งออกมาอ้างสาเหตุของหมอกพิษ ว่ามาจากการเผาไหม้ถ่านหินอันประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีระดับสูง
นายแพทย์ระบุว่า การเผาไหม้ถ่านหินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุยูเรเนียม (uranium) ก่อให้เกิดฝุ่นพิษขนาดเล็กจิ๋ว ที่มีชื่อว่า “พีเอ็ม2.5” (PM2.5) ซึ่งปนเปื้อนกัมมันตรังสี โดยมันสามารถแทรกสู่ปอด ทำลายสุขภาพ เชื่อมโยงกับโรคหัวใจ มะเร็ง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
บทความของนายแพทย์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนหยุดการขุดเหมืองแร่ยูเรียม บริเวณเขตปกครองตนเองมองโกลเลียในอีกด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็ออกมาตอบโต้คำอ้างดังกล่าว ซึ่งคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งบนโซเชียลมีเดียจีนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีนแถลง (8 ม.ค.) ว่าประเด็นรังสีนิวเคลียร์กับหมอกควันนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยคณะนักวิจัยของกระทรวงฯ พบระดับยูเรเนียม-238 ในถ่านหินและเศษหินของมองโกเลียใน มีค่าเทียบเท่าค่าเฉลี่ยชาติ ส่วนตัวเลขจากสถานีเฝ้าติดตามรังสีในชั้นบรรยากาศ 167 แห่งทั่วประเทศ ก็อยู่ในระดับปกติ และไม่มีการตรวจพบอนุภาคยูเรเนียมแต่อย่างใด