xs
xsm
sm
md
lg

พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 3 ... “บ่อหาน” วิ่งสู้ฟัด ดันทางรถไฟสายแพนเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

สำนักงานด่านบ่อหาน (ภาพ: MGR ONLINE)
มาถึงบ่อหาน ไม่กล่าวถึงทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ หรืออาร์3เอ (R3A) และเส้นทางรถไฟแพนเอเชียก็เหมือนมาไม่ถึงบ่อหาน....จีนได้บุกตะลุยฝ่าฟันอุปสรรคปูโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมเพื่อรองรับความร่วมมือกับอาเซียนมานับกว่าสิบปี จากยุคบุกเบิกทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ (Kunming-Bangkok International Highway) ที่จีนเรียก “คุน-มั่น กงลู่” (昆曼公路) ที่สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และขณะนี้ก็กำลังมุ่งมั่นผลักดันเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย (Pan-Asia Railway)

สำหรับทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ เป็นถนนสายที่สั้นที่สุดที่เชื่อมระหว่างภาคใต้ของจีน เข้าสู่ลาวและไทย ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และมีบทบาทในการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อาเซียน

ทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ ระยะทางทั้งสิ้น 1,887 กิโลเมตร เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธ.ค. ปี ค.ศ. 2008 โดยตัดทางผ่านเมืองต่างๆดังนี้ เริ่มจากนครคุนหมิง เมืองอี้ว์ซี เมืองผู่เอ่อร์ มายังด่านบ่อหาน แคว้นสิบสอบปันนา มณฑลอวิ๋นหนัน รวมระยะทางในจีน 827 กิโลเมตร ข้ามเขตแดนลาวมายังบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ไปออกที่ด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว รวมระยะทางในลาว 247 กิโลเมตร จากนั้นก็เข้าสู่ดินแดนไทยที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ รวมระยะทางในเขตไทย 813 กม.

ตามความคาดหวังในแผนการฯ ระบุว่าการเดินทางโดยรถยนต์ตลอดเส้นทางทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ จะใช้เวลาไม่ถึง 20 ชั่วโมง เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีศักยภาพ และได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการ

ขณะนี้บ่อหาน (MOHAN) กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ มีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ทั้งหมดนี้ได้ก่อรูปเป็น “วงกลมเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงไปยังเมืองต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเขตต่างๆในคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีเส้นทางคมนาคมลงสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ หลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ (เส้นสีน้ำตาล) และเส้นทางรถไฟแพน-เอเชีย (เส้นปะสีเขียว) (ภาพกราฟฟิก สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน)

อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ ยังประสบปัญหา “ความไม่สะดวก” อาทิ การขนส่งสินค้าที่ต้องถ่ายสินค้าที่ด่านบ่อเต็น เนื่องจากลาวไม่อนุญาตให้รถขนส่งสินค้าไทยหรือจีนผ่านลาวเข้าสู่อีกประเทศได้โดยตรง ต้องถ่ายสินค้าจากรถของฝ่ายหนึ่งไปยังรถของอีกฝ่ายที่มารอรับอยู่บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ด่านบ่อเต็น ดันต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงขึ้นเที่ยวละ 2,000 - 3,000 หยวน หรือราว 10,000 -15,000 หยวน และยังต้องเสียเวลา 2 - 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่ผลไม้ไทยได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าภายใต้ FTA อาเซียน-จีน และปัญหาอื่นๆ

ในวันที่ไปยังบ่อหาน (1 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายดูแลกิจการภายนอกของสำนักงานพาณิชย์ประจำเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน นาย หู เหวินชาง กล่าวว่า เส้นทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ ได้กระตุ้นการค้าระหว่างจีน-ลาวและไทย ขยายตัวมากขึ้น โดยก่อนหน้าที่จะมีเส้นทางฯนี้ การขนส่งสินค้าต้องอาศัยแม่น้ำโขงทางเดียวเท่านั้น ซึ่งมีข้อจำกัดในการขนส่ง เนื่องจากการเดินเรือขึ้นอยู่กับระดับน้ำที่เรือสามารถล่องผ่านได้

ทั้งนี้การขนส่งสินค้าผ่านลำน้ำโขงจะต้องอาศัยระดับความลึกของน้ำ จึงขนส่งได้เฉพาะในฤดูน้ำหลาก (มิ.ย.-พ.ย.) ถ้ากระแสน้ำรุนแรงก็เป็นอุปสรรคในการขนส่งอีก ขณะที่ในช่วงฤดูแล้ง (ธ.ค.-พ.ค.) ระดับน้ำต่ำมากจนไม่สามารถเดินเรือสินค้าได้ ข้อดีของการขนส่งทางน้ำนี้คือค่าใช้จ่ายการขนส่งที่ต่ำมาก

สำหรับเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2020 เป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก ประกอบด้วยสายตะวันออก เริ่มจากฮานอย-พนมเปญ-กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์, สายกลาง จากต้าหลี่-หลินฉัง-ซังหย่ง-เวียงจันทน์-กรุงเพทฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ และสายตะวันตก จากรุ่ยลี่-ร่างกุ้ง-กรุงเพทฯ-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ โดยเส้นทางทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิง ทอดผ่านเวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ มาสบกันที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็อาจขยายไปยังกัวลาลัมเปอร์ สู่จุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์

เมื่อแผนการฯทั้งหมดบรรลุลุล่วง บ่อหาน (MOHAN) จะเชื่อมโยงกับเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (เส้นปะสีขาว) โดยผ่านทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ (เส้นปะสีเขียว) และเส้นทางรถไฟแพน-เอเชีย (เส้นปะสีม่วง) (ภาพกราฟฟิก สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน)

“จิ๊กซอว์ใหญ่” เริ่มก่อตัว เชื่อมแนวยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง”
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหวาได้รายงานข่าวที่นับเป็นความคืบหน้าสำคัญของแนวยุทธศาสตร์หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง ได้แก่ การลงนาม "แผนแม่บทว่าด้วยการสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บ่อต็น-บ่อหาน" ในวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาว โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และพลโท จูมมะลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาวร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับบ่อเต็น ตั้งอยู่ในแคว้นหลวงน้ำทา ทางภาคเหนือของลาว ห่างจากบ่อหาน 1 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันด้วยเส้นทางทางหลวงคุนหมิง-กรุงเทพฯ

ในวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา จีนและลาวก็ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือผุดเส้นทางรถไฟ และได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้กันที่นครเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันชาติลาว (วันครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

เส้นทางรถไฟจีน-ลาวสายนี้จะเริ่มออกจากคุนหมิง ไปยังจิ่งหง ต่อไปยังบ่อหาน เข้าสู่เขตแดนลาวผ่านเมืองบ่อเต็น ไปยังหลวงพระบาง วังเวียง และเวียงจันทน์ ความยาว 418 กิโลเมตร อัตราความเร็วเฉลี่ย 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มูลค่าโครงการ 4 หมื่นล้านหยวน ตามแผนการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 ซึ่งจะเป็นเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดและเร็วที่สุดของประเทศลาว ในอนาคตสามารถนั่งรถไฟจากเวียงจันทน์ไปยังบ่อหานในเวลากว่า 5 ชั่วโมง จากนั้นต่อไปยังคุนหมิงในเวลา 10 กว่าชั่วโมง

เส้นทางรถไฟสายนี้นับเป็นเส้นทางรถไฟมหาวิบาก โดยร้อยละ 60 ของเส้นทางรถไฟสายนี้ เป็นสะพานและอุโมงค์ กล่าวคือ ช่วงทางรถไฟที่อยู่ในเขตแดนจีนต้องตัดทางผ่านอุโมงค์ยาว ก่อนจะเข้าสู่เขตลาว หลังจากนั้นจะต้องเจาะอุโมงค์ลอดภูเขาอีกหลายช่วง ทะลุทะลวงภูเขา หุบเหว ข้ามแม่น้ำหลายสาย

แหล่งข่าวอีกรายชี้ว่า เมื่อเส้นทางรถไฟนี้มาถึงสถานีปลายทางที่นครเวียงจันทน์ ก็จะวกลงไปยังคลังสินค้าใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านดงโพสี ท่านาแล้ง ใกล้ๆกับสะพานมิตรภาพลาว-ไทย จังหวัดหนองคาย และจะไปเชื่อมต่อกับระบบรถไฟของไทยในอนาคต จากนั้นก็จะทอดยาวลงไปเชื่อมกับระบบรถไฟของมาเลเซียและสิงคโปร์

คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 1 ดันอวิ๋นหนัน เป็นแกนหมุนเปิดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียใต้

คลิกอ่าน: พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 2... “บ่อหาน” “ทัพหน้า” ทะลุทะลวงสู่อาเซียน และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21



กำลังโหลดความคิดเห็น