xs
xsm
sm
md
lg

พญามังกรฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนที่ 2... “บ่อหาน” “ทัพหน้า” ทะลุทะลวงสู่อาเซียน และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรัตน์ ปรีชาธรรม

สำนักงานใหญ่เขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน (ภาพ สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน)
เจ้าหน้าที่จีนได้พาคณะผู้สื่อข่าวฯ เดินทางโดยเครื่องบินจากนครคุนหมิงไปยังแคว้นปกครองตัวเองชนชาติไตแห่งสิบสองปันนา ซึ่งใช้เวลาบิน 45 นาที เป้าหมายของการเยือนแคว้นสิบสองปันนา คือ ชมเขื่อนจิ่งหงบนแม่น้ำหลันชาง ซึ่งเป็นลำน้ำตอนบนของแม่น้ำโขง และไปชมเมืองด่านชายแดนบ่อหาน (磨憨) ซึ่งอยู่ติดกับด่านบ่อเต็นทางภาคเหนือของประเทศลาว

สิบสองปันนา เป็นแคว้นปกครองตัวเองชนชาติไต อยู่ทางใต้สุดของมณฑลอวิ๋นหนัน มีพรมแดนทางทิศใต้ติดกับแขวงหลวงน้ำทาและแขวงพงสาลีของประเทศลาวและรัฐฉานของประเทศเมียนมาร์ และไม่ไกลจากเวียดนาม และไทย โดยห่างจากไทยเพียง 200 กว่ากิโลเมตร ชายแดนสิบสองปันนาด้านทิศตะวันออกห่างจากอ่าวเป่ยปู้วาน (Beibu Gulf) หรืออ่าวตังเกี๋ยในมหาสมุทรแปซิฟิก 400 กว่ากิโลเมตร ด้านทิศตะวันตกห่างจากอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย 600 กว่ากิโลเมตร รวมเขตชายแดนยาว ก 966.3 กิโลเมตร มีแม่น้ำโขงไหลผ่านตอนกลาง ข้อมูลสถานที่ตั้งและตัวเลขเหล่านี้อาจดูน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับพญามังกรซึ่งมีจิตวิญญาณพ่อค้ามาแต่โบราณนั้น มันมีความหมายในการวางยุทธศาสตร์เส้นทางเศรษฐกิจการค้า

ทั้งนี้ มณฑลอวิ๋หนัน เป็นดินแดนที่ไร้ทางออกทะเล ดังนั้น การเชื่อมเส้นทางการค้าที่นำไปสู่ทางออกทะเล จึงเป็นสิ่งที่จีนต้องบุกเบิกเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันตกของแผ่นดินใหญ่

สำหรับชนชาติไตที่สิบสองปันนา เป็นชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไต ตระกูลภาษาเดียวกันคนไทยคนลาว มีวัฒนธรรมอาหารการกินการแต่งกาย และประเพณีอื่นๆ ตลอดจนสถาปัตยกรรมบ้านเรือนวัดวาละม้ายคล้ายกับไทยและลาว สภาพภูมิอากาศก็เป็นแบบป่าฝนเขตร้อน

รายงาน ฟื้นชีพ “เส้นทางสายไหม” ตอนนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองท่าบ่อหาน” บ่อหานเป็นหน่วยปกครองระดับตำบลอยู่ในเขตอำเภอเมิ่งล่า หรือเมืองหล้าของแคว้นฯสิบสองปันนา ดูจากแผนที่...บ่อหานเป็นติ่งแผ่นดินที่ยื่นลงไปทางใต้สุด ติดกับด่านบ่อเต็นของลาว จึงเป็นชัยภูมิสำหรับการสร้างเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน เป็นเส้นทางบกที่สะดวกที่สุดไปยังลาว และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับชื่อ “บ่อหาน” นี้ เป็นภาษาไต หมายถึง “เหมืองแห่งความมั่งคั่ง”

คณะผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่งรถจากเมืองจิ่งหงไปยังด่านบ่อหาน ระยะทาง 181 กิโลเมตร กินเวลาราว 3 ชั่วโมง สองข้างทางถนนสู่บ่อหานถูกบุกเบิกเป็นพื้นที่เพาะปลูกผลไม้เมืองร้อน กล้วย ลำไย มะละกอ สับปะรด อีกทั้งมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งก็ถูกนำมาเป็นจุดขายการท่องเที่ยว

เมื่อเข้าสู่บ่อหาน ก็เห็นตึกหลังใหญ่อลังการ คือตึกสำนักงานใหญ่เขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน สภาพอากาศในวันที่ 1 ธ.ค. ที่ไปเยือนนั้นค่อนข้างร้อนเหมือนอยู่ในเมืองไทย เจ้าหน้าที่ที่บ่อหานจัดอาหารมื้อเที่ยงเป็นอาหารไตต้อนรับ ซึ่งดูเป็นเมนูลูกผสมไทย-ลาว มีข้าวเหนียว ไก่ย่าง น้ำพริก ผักลวก ขนมจีน แกงน้ำยา เนื้อแดดเดียว

จีนหมายมั่นปั้นเมืองบ่อหานจากเขตชายแดนป่าเขาที่ห่างไกล ให้เป็นเขตเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศ เริ่มจากการเป็นปากประตูบุกเบิกความร่วมมือเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือชื่อย่อ GMS) ปัจจุบันบ่อหานไม่เพียงเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจทั่วไป ยังกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมการนำเข้าและส่งออก และในขณะนี้กำลังก่อสร้างเขตนำร่องเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเมิ่งล่า (บ่อหาน) และเขตเศรษฐกิจชายแดนบ่อหาน-บ่อเต็น

ขณะนี้บ่อหานไม่ใช่เมืองชายขอบที่เข้าถึงได้ยากอีกต่อไป กลับกลายเป็นศูนย์กลางที่มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงได้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ จากท่าเรือเล่ยกั่ง...สนามบินสิบสองปันนา...ท่าเรือจิ่งหง...และเมืองท่าต่าลั่ว ทั้งหมดนี้ได้ก่อรูปเป็น “วงกลมเศรษฐกิจ” เชื่อมโยงไปยังเมืองต่างๆในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเขตต่างๆในคาบสมุทรอินโดจีน ด้วยการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ บ่อหานก็พร้อมเป็นทัพหน้าในการผลักดันความร่วมมือตามแนวยุทธศาสตร์ “หนึ่งแนวเขต หนึ่งเส้นทาง”

ภาพกราฟฟิกแสดงตัวเลขระยะทางจากวงกลมเขตเศรษฐกิจบ่อหานไปยังเมืองต่างๆในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ จิ่งหง สิบสองปันนา 181 กม., คุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนัน 701 กม., แขวงหลวงน้ำทา 62 กม., เวียงจันทน์ 680 กม., หลวงพระบาง 298 กม., เชียงของ 348 กม., เชียวราย 348 กม., กรุงเทพฯ 1098 กม. โดยเส้นปะสีเขียวแสดงถนนหลวง, เส้นสีส้มแสดงเส้นทางบิน (ภาพกราฟฟิก สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจบ่อหาน)


กำลังโหลดความคิดเห็น