เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - องค์การอนามัยโลกเตือนจีน ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก เร่งลดการปล่อยก๊าซตัวการโลกร้อน โดยขอให้รัฐบาลปักกิ่งพิจารณาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกให้ดี หลังจากรายงานผลการศึกษาฉบับใหม่ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนอาจทำลายการพัฒนาสังคมและสุขภาพของประชาชนหลายสิบล้านคนในจีน ที่ประสบความก้าวหน้ามานานหลายทศวรรษก็เป็นได้
ในรายงานขององค์การอนามัยโลก ชื่อว่า “ภาวะการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศและสุขภาพของประเทศจีน” ( Climate and Health Country Profiles, China) ซึ่งเผยแพร่ ก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ที่กรุงปารีสจะเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย. เพียงไม่กี่วัน ได้คาดการณ์ว่า ในกรณีที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับที่สูงจะส่งผลให้อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นราว 6.1 องศาเซลเซียส ระหว่างปีพ.ศ. 2533-2643 แต่หากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิอากาศจะเพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 1.7 องศาเซลเซียสเท่านั้น
ในกรณีแรกคาดว่า ถ้ารัฐบาลปักกิ่งไม่ลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือชุมชนในการปรับตัว จะมีประชาชนราว 23 ล้านคนในจีนประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วม อันเป็นผลจากระดับน้ำทะเล ที่เพิ่มสูงทุก ๆ ปี ในช่วงปีพ.ศ. 2613 - 2643 อย่างไรก็ตาม หากมีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างรวดเร็วและเสริมมาตรการป้องกันอื่น ๆ เช่น การสร้างเขื่อนให้สูงขึ้น จำนวนประชาชน ที่ได้รับความเดือนร้อนในแต่ละปี จะลดลงอย่างมากเหลือเพียง 2,400 คน
การปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ ก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกร้อนนี้จะส่งผลให้สภาพอากาศมีความแปรปรวนรุนแรง เช่น เกิดฝนตกหนัก และคลื่นความร้อน ที่รุนแรงกว่าเดิม โดยสภาพอากาศเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้น
นอกจากนั้น โลกที่ร้อนขึ้นยังทำให้ประชาชนบนแดนมังกรเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรค ที่เกี่ยวข้องกับความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เด็ก และผู้เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่า อัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุจะเพิ่มเกือบ 49 รายต่อประชากร 1 แสนคนภายในปีพ.ศ. 2623 หรือราว 6,860,000 คน หากจำนวนประชากรจีนอยู่ที่ 1,400 ล้านคน เทียบกับเกณฑ์พื้นฐานที่ประเมินไว้ที่กว่า 2 รายต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี ระหว่างปีพ.ศ. 2504-2533
รายงานยังระบุด้วยว่า วันที่มีฝนตกหนัก คือมีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 20 มิลลิเมตรนั้น อาจมีเพิ่มเฉลี่ยอีกเกือบ 3 วันในระหว่างปีพ.ศ. 2533-2643 ซึ่งเสี่ยงเกิดแม่น้ำล้นตลิ่งทะลักท่วมพื้นที่ในประเทศ และอาจกระทบต่อการผลิตอาหารและการจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค โดยนอกจากก๊าซคาร์บอนทำให้โลกร้อนแล้ว ยังเป็นตัวการให้เกิดมลพิษในอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกมากที่สุดอย่างหนึ่งอีกด้วย