เอเจนซี - นักวิเคราะห์ชี้จีนอาจเพิ่มกำลังเรือรบ จัดซ้อมรบในทะเลจีนใต้ หรือส่งกองเรือเข้าขับไล่เรือยูเอสเอส แลสเซน (USS Lassen) เพื่อตอบโต้การท้าทายของสหรัฐอเมริกาในอนาคต
สืบเนื่องจากวันอังคาร (27 ต.ค.) “ยูเอสเอส แลสเซน” เรือพิฆาตติดจรวดนำวิถีของสหรัฐฯ ได้เข้าลาดตระเวนบนน่านน้ำรัศมี 12 ไมล์ทะเลจากเกาะเทียมของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งพญามังกรได้เรียก “แมกซ์ บาวคัส” เอกอัครราชทูตอเมริกันเข้าพบเพื่อยื่นประท้วง พร้อมแถลงจะตอบโต้ขั้นเด็ดขาดต่อการยั่วยุโดยเจตนา และจะเฝ้าระวังน่านน้ำของตนอย่างใกล้ชิด ทางด้านพญาอินทรียืนยันจะลาดตระเวนแบบเดิมอีกในไม่กี่สัปดาห์
นาย หลี่ เจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธนาวีจีน ระบุว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) อาจส่งกำลังทั้งทางน้ำและทางอากาศเข้าขับไล่เรือพิฆาตของสหรัฐฯ หากยังมีการรุกล้ำน่านน้ำจีนอีก โดยเขาอ้างกรณีของสหภาพโซเวียตในปี 2531 ที่ส่งเรือฟรีเกต Bezzavetny เข้าขับไล่เรือพิฆาตคาโลน (Caron) และเรือลาดตระเวนยูเอสเอส ยอร์กทาวน์ (USS Yorktown) ของสหรัฐฯ ซึ่งรุกล้ำเข้าไปภายในระยะ 7 ไมล์ทะเลจากฐานทัพเรือโซเวียต ใกล้เมืองเซวัสโตปอล ในคาบสมุทรไครเมีย โดยไม่ฟังคำเตือนของสหภาพโซเวียต
นายหลี่คาดว่าจีนจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาอย่างสันตินำหน้าการใช้กำลัง ดังเช่นกรณีเมื่อปี 2544 ครั้งที่ “อีพี-3” (EP- 3) เครื่องบินสอดแนมของนาวิกโยธินสหรัฐฯ เฉี่ยวชนกับเครื่องบินรบของจีนชนกลางอากาศเหนือน่านน้ำเกาะไหหลำของจีนจนเป็นผลให้นักบินจีนเสียชีวิตหนึ่งนาย สุดท้ายก็ไม่มีฝ่ายใดใช้กำลังทางทหารเข้าแก้ปัญหา โดยในภายหลัง สหรัฐฯ ก็ยอมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทางด้านศาสตราจารย์ ซุน เจ๋อ ผู้อำนวยการศูนย์ความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีน มหาวิทยาลัยชิงหวา วิเคราะห์ว่าหากจีนขับเคลื่อนกองทัพเรือหรือกองทัพอากาศเข้าเสริมความมั่นคงในพื้นที่ดังกล่าว ก็อาจทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ลุกลามมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ซุนระบุว่า จีนอาจส่งดาวเทียมจับตาความเคลื่อนไหวของเรือรบสหรัฐ อาจจัดซ้อมรบ หรืออาจจะใช้เรือของกองทัพ หรือเรือพลเรือนในการขับไล่เรือรบสหรัฐ โดยความตึงเครียดในพื้นที่นี้จะเป็นบททดสอบที่สำคัญของปักกิ่งและวอชิงตัน
ทางด้าน สือ อิ่นหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ระบุว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในประเด็นความขัดแย้งบนทะเลจีนใต้ เนื่องจากช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ทั้งสองประเทศก็ได้เคยลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับ เพื่อป้องกันความขัดแย้งบนท้องทะเล หลังจากที่เรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของจีน เกือบปะทะกับเรือลาดตระเวนคาวเพ็นส์ (USS Cowpens) ในเขตทะเลจีนใต้ในปี 2556
รายงานข่าวระบุอีกว่า แค่ปีนี้ปีเดียวจีนได้ถมทะเลเป็นแผ่นดินกว่า 607 เอเคอร์ หรือมากกว่าสองล้านสี่แสนตารางเมตร โดยจีนได้ลุล่วงงานก่อสร้างลานบิน ความยาว 3,000 เมตร สำหรับอากาศยานของกองทัพจีนบนเกาะเทียมหนึ่งในเจ็ดแห่งที่ผุดขึ้นมาใหม่บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ในประเด็นกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน