xs
xsm
sm
md
lg

แก๊งปลอมกระเป๋ากุชชี่หนาว ผู้พิพากษามะกันสั่งธ.จีนเปิดเผยบัญชีเงินฝาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แก๊งปลอมสินค้าแบรนด์กุชชี่ถูกกล่าวหาฝากเงินหลายล้านดอลลาร์จากการขายสินค้าปลอมในสหรัฐฯ  ไว้กับสาขาของแบงก์ออฟไชน่า – เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้พิพากษาศาลแขวงนครนิวยอร์กชี้ขาด ธนาคารแห่งประเทศจีน ( Bank of China) อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลสหรัฐฯ โดยมีคำสั่งให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลบัญชีเงินฝากหลายล้านดอลลาร์ ที่ได้จากการขายกระเป๋าแบรนด์กุชชี่ปลอม ในสหรัฐฯ

ในหนังสือคำสั่งฉบับวันที่ 29 ก.ย. ริชาร์ด ซัลลิแวน ผู้พิพากษาคนดังกล่าว ชี้ว่า ศาลสหรัฐฯ มีอำนาจในการตัดสินคดี ที่เกี่ยวข้องกับแบงก์ออฟไชน่า ซึ่งเปิด 4 สาขาในสหรัฐฯ และการโอนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้า-ออกจากจีนนิยมใช้บริการของธนาคารแห่งนี้เป็นอันดับหนึ่ง โดยเขาชี้แจงเหตุผล ที่ไม่พึ่งระบบกฎหมายของจีนและกลไกระหว่างประเทศ ที่มีอยู่ ก็เนื่องจากการดำเนินการฟ้องร้องในจีนมีประสิทธิภาพน้อยและเสียเวลามาก อีกทั้งมีโอกาส ที่จะล้มเหลวอีกด้วย

คำตัดสินดังกล่าวกลายเป็นประเด็นน่าสนใจทางการเมืองทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารแดนมังกรตั้งการ์ดรับทันที โดยอ้างว่า การสั่งให้เปิดเผยข้อมูลเป็นการหยามอธิปไตยของจีนกันชัด ๆ และเกิดคำถามประการสำคัญก็คือธนาคารของจีน ที่ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ควรปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของใคร

จากการสืบสวนและการดำเนินคดีฟ้องร้องในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ผ่านมาพบว่า สาขาในต่างประเทศของธนาคารรัฐวิสาหกิจจีนชั้นนำ ซึ่งรวมทั้งแบงก์ออฟไชน่า กลายเป็นแหล่งกบดานของเงินจากการขายสินค้าปลอม และการฟอกเงิน ขณะเดียวกันระบบการเงินของจีนก็ถูกชาวจีน ที่อาศัยในต่างประเทศและกลุ่มมิจฉาชีพสัญชาติอื่นใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายของจีนการเข้าถึงข้อมูลของธนาคารทำได้ยาก แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการติดตามร่องรอยผลกำไรจากการทำธุรกิจผิดกฎหมาย และนำไปสู่การอายัดทรัพย์ได้ก็ตาม

นาย เจฟฟรีย์ พ็อตเตอร์ ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญาในนครนิวยอร์กระบุว่า ที่ผ่านมาธนาคารของจีนได้อำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินแก่ขบวนการปลอมแปลงสินค้าของจีน ถ้าธนาคารถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีธนาคารของลูกค้าก็จะทำให้พวกปลอมแปลงสินค้าทำธุรกิจได้ยากขึ้น

“ การปลอมแปลงสินค้าเป็นอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำเงิน” เขาอธิบาย

“ จะมีการจ่ายเงินกันได้ก็ต้องอาศัยระบบธนาคาร”

นายแดน เพลน ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญาในฮ่องกงระบุว่า การตัดสินของผู้พิพากษา ซึ่งอาจถูกยื่นอุทธรณ์กลับนั้น อาจมีประโยชน์สำหรับโจทก์รายอื่น ๆ ที่ต้องการข้อมูลแบบเดียวกันจากแบงก์ออฟไชน่าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า ถึงจะชนะคดีก็อาจเป็นชัยชนะ ที่กลวง เพราะแบงก์ออฟไชน่าคงจะยอมเปิดเผยข้อมูลบ้างเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกันธนาคารก็อาจให้ข้อมูลแก่ลูกค้าในการลดความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ถึงแม้ในที่สุดกุชชี่จะได้ข้อมูล ที่ต้องการจากแบงก์ออฟไชน่า แต่หลังจากนี้ก็อาจต้องเจอกับด่านโหดด้านกฎหมายในการเก็บเงินชดใช้ค่าเสียหายเหมือนกรณีบทเรียนของทิฟฟานีแอนด์โค (Tiffany & Co) ซึ่งฟ้องร้องแก๊งปลอมแปลงสินค้าของจีน และเพิ่งชนะคดี 2 รายไปเมื่อเดือนมิ.ย ซึ่งจำเลยต้องจ่ายเงินชดใช้จำนวน 52 ล้าน 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อก.ย. ซึ่งจำเลยต้องจ่ายเงินชดใช้จำนวน 26 ล้าน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถติดตามทวงเงินค่าเสียหายได้ ขณะที่จำเลยไม่ไปขึ้นศาลฟังการพิจารณาคดีเลยสักคนเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น