เอเอฟพี - ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน “โฟล์คสวาเกน” ยอมจ่ายเงินกว่า 15,300 ล้านดอลลาร์เซ่นคดีโกงค่ามลพิษในสหรัฐฯ โดยจะรับซื้อรถยนต์เก่าที่ติดตั้งซอฟต์แวร์โกงค่ามลพิษ หรือซ่อมแซมให้ใหม่ และจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่เจ้าของรถที่ได้รับผลกระทบสูงสุดถึงรายละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ในเอกสารข้อตกลงที่ยื่นต่อศาลแขวงสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (28 มิ.ย.) โฟล์คสวาเกนตกลงที่จะจ่ายเงิน 14,700 ล้านดอลลาร์ให้แก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันและหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ยังทำข้อตกลงแยกอีกฉบับมูลค่า 603 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการดำเนินคดีจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคใน 44 รัฐ, เขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย และเปอร์โตริโก
ค่ายรถชื่อดังยอมรับว่าได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์โกงค่าไอเสียในรถยนต์เครื่องดีเซลประมาณ 11 ล้านคันที่ส่งไปขายทั่วโลก โดยที่ซอฟต์แวร์ที่ว่านี้จะไปปิดระบบควบคุมมลพิษระหว่างที่มีการขับขี่ตามปกติ และจะเปิดระบบก็ต่อเมื่อได้ตรวจพบว่ารถยนต์คันนั้นๆ กำลังถูกตรวจสอบการปล่อยไอเสียอยู่เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าระหว่างที่ระบบควบคุมไอเสียถูกปิดกั้นอยู่นั้น รถของโฟล์คสวาเกนอาจปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ ซึ่งรวมถึงก๊าซพิษจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ออกสู่อากาศในปริมาณที่สูงถึง “40 เท่า” ของมาตรฐานการปล่อยไอเสียตามปกติเลยทีเดียว
ยอดเงินชดเชยครั้งนี้ถือว่ามากที่สุดในประวัติการสืบสวนคดีมลพิษทางอากาศในสหรัฐฯ หลังจากคดีนี้ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และได้บั่นทอนภาพลักษณ์ของโฟล์คสวาเกนอย่างรุนแรง
ภายใต้ข้อตกลงซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาศาลแขวงซานฟรานซิสโก โฟล์คสวาเกนจะจ่ายเงินสูงสุด 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อรับซื้อรถคืน หรือซ่อมแซมให้แก่ลูกค้าราว 480,000 รายซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์โฟล์คสวาเกนและออดี้ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร และอีก 2,700 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนกองทุนลดมลพิษทางอากาศในสหรัฐฯ
ค่ายรถเมืองเบียร์ยังจะให้ทุนสนับสนุนอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ “เพื่อจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับยานพาหนะที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์”
เจ้าหน้าที่ระบุว่า โฟล์คสวาเกนจะต้องทำการเรียกคืน หรือซ่อมแซมยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85% หรือไม่ก็จ่ายเงินชดเชยเพิ่มให้แก่กองทุนลดมลพิษ
ทั้งนี้ เจ้าของรถยนต์มีเวลาตัดสินใจจนถึงปลายปี 2018 ว่าจะขายรถยนต์คืนให้แก่บริษัทหรือไม่
แซลลี ยาเตส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยืนยันว่า การสอบสวนคดีโกงค่ามลพิษ “ยังไม่จบ”
“ข้อตกลงระงับคดีบางส่วนนี้เป็นเพียงก้าวแรกที่จะนำไปสู่การบังคับให้โฟล์คสวาเกนต้องรับผิดชอบต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชน... และแม้คำประกาศนี้จะเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ แต่ดิฉันขอพูดให้ชัดเจนตรงนี้ว่า เรื่องยังไม่จบ”
ยาเตสย้ำว่า ข้อตกลงระงับคดีนี้ไม่ครอบคลุมถึงบทลงโทษทางแพ่งฐานฝ่าฝืนกฎหมาย Clean Air Act รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบรถเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 3.0 ลิตรของโฟล์คสวาเกนที่ยังคงดำเนินอยู่