เอเอฟพี – ศาลอุทธรณ์เกาหลีใต้มีคำพิพากษาวันนี้ (22 พ.ค.) ให้ปล่อยตัว ฮีทเธอร์ โช อดีตรองประธานสายการบินโคเรียนแอร์ ซึ่งก่อเหตุไล่หัวหน้าสจวร์ตลงจากเครื่องบินจนกลายเป็นคดี “ถั่ววีนแตก” ที่อื้อฉาวไปทั่วโลก และนำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของพวกเศรษฐีที่ผูกขาดธุรกิจในแดนโสมขาว
ฮีทเธอร์ โช หรือ “โช ฮยุน-อาห์” บุตรสาวคนโตของประธานสายการบินแห่งชาติแดนโสมขาว ถูกศาลแขวงกรุงโซลสั่งจำคุก 1 ปีฐานรบกวนความปลอดภัยของเที่ยวบินที่กำลังเดินทาง แต่ล่าสุดวันนี้ (22) ศาลสูงกรุงโซลมีคำวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของ โช ไม่ถือเป็นการบังคับให้เครื่องบินเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ซึ่งเท่ากับล้มคำตัดสินของศาลชั้นต้น
“จำเลยไม่มีเจตนาที่จะรบกวนสวัสดิภาพในการเดินทางของเที่ยวบิน” คิม ซัง-ฮวาน ผู้พิพากษาศาลสูงระบุ พร้อมสั่งลดโทษจำคุกเหลือเพียง 10 เดือน โดยรอลงอาญา 2 ปี
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น โช วัย 40 ปี ก็เปลี่ยนจากเครื่องแบบนักโทษเป็นชุดธรรมดา โดยสวมเสื้อโค้ทสีดำและแว่นตากรอบดำขนาดใหญ่
โช เดินก้มหน้างุดฝ่ากองทัพนักข่าวที่มารอสัมภาษณ์อยู่บริเวณด้านนอกศาล โดยมีคณะผู้ดูแลนำทางไปที่รถยนต์สีดำซึ่งจอดรออยู่
โช เคยรั้งตำแหน่งรองประธานฝ่ายงานบริการบนเที่ยวบินของโคเรียนแอร์ โดยคดีความทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการที่ซีอีโอหญิงเกิดไม่พอใจที่พนักงานต้อนรับรายหนึ่งนำถั่วแมคคาเดเมียมาเสิร์ฟให้เธอทั้งถุง แทนที่จะเทใส่ถ้วยตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว โช จึงใช้อำนาจผู้บริหารขับไล่หัวหน้าสจวร์ตลงจากเครื่องบินซึ่งกำลังจะเทคออฟออกจากสนามบินนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ส่งผลให้กัปตันต้องนำเครื่องวกกลับไปจอดใหม่ และทำให้เที่ยวบินนี้ถึงกรุงโซลล่าช้ากว่ากำหนด
ผู้พิพากษาศาลแขวงกรุงโซลวินิจฉัยว่า เครื่องบิน “อยู่ระหว่างเดินทาง” ตั้งแต่เคลื่อนตัวออกจากอาคารเทียบ ดังนั้น โช จึงละเมิดกฎหมายความปลอดภัยการบิน เพราะทำให้เที่ยวบินนี้ต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทาง
อย่างไรก็ตาม ศาลสูงกลับตีความไปคนละอย่าง โดยระบุว่า การสั่งให้เครื่องบินวกกลับไปจอดที่เกตไม่ถือเป็นการ “เปลี่ยนเส้นทาง” และการกระทำของ โช ก็ก่อความเสี่ยงเพียง “เล็กน้อย” ทว่าในส่วนของความผิดฐานก่อกวนเที่ยวบินและใช้ความรุนแรงต่อลูกเรือ ยังยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น
พัค ชาง-จิน หัวหน้าสจวร์ตที่โดนไล่ลงจากเครื่อง ให้การต่อศาลว่า เขาถูก โช บังคับให้คุกเข่าขออภัย และใช้หนังสือคู่มือบริการทุบใส่หลายครั้ง
ด้านพนักงานต้อนรับหญิงที่เป็นคนเสิร์ฟถั่วแมคคาเดเมียให้ โช ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง โดยอ้างว่าถูก โช ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย มิหนำซ้ำยังกดดันให้เธอปกปิดเรื่องนี้ และแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนด้วย
เหตุการณ์ซึ่งทั่วโลกให้ฉายาว่า “ถั่ววีนแตก” (nut rage) ทำให้ชาวแดนกิมจิยิ่งรู้สึกโกรธแค้นพวกเศรษฐีที่เป็นเจ้าของบริษัทผูกขาดขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “แชโบล” ซึ่งนอกจากจะมีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดช่องว่างรายได้ในสังคมเกาหลีใต้ด้วย
กระนั้นก็ดี ยังมีนักวิจารณ์บางคนกล่าวในทำนองว่า โทษจำคุก 1 ปีนั้นรุนแรงเกินไปสำหรับ โช ซึ่งถูกสังคมรุมประณามจนได้รับความอับอาย และยังสละตำแหน่งรองประธานสายการบินเพื่อรับผิดชอบต่อความผิดของตนเองแล้ว
ผู้พิพากษา คิม ระบุว่า ศาลเล็งเห็นว่า โช มีบุตรชายฝาแฝดอายุ 2 ขวบที่ต้องดูแล และไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน
“เธอเองก็รู้ดีว่า ถึงอย่างไรเหตุการณ์นี้ก็จะเป็นตราบาปแก่เธอไปตลอดทั้งชีวิต”