เอเจนซี—ยักษ์ใหญ่สื่อ “รูเพิร์ต เมอร์ด็อกแห่งเมืองจีน” จับมือกับวอร์เนอร์ บรอสของฮอลลิวู้ด บุกตลาดภาพยนตร์แผ่นดินใหญ่
บริษัท วอร์เนอร์ บรอส (Warner Bros Entertainment) ของฮอลลิวู้ด จับมือกับบริษัทการลงทุนจีน ไชน่า มีเดีย แคปปิตัล (China Media Capital หรือชื่อย่อ CMC) ตกลงทำธุรกิจร่วมทุนการจัดจำหน่ายและการผลิตระหว่างประยักษ์ใหญ่สื่อ “รูเพิร์ต เมอร์ด็อกแห่งเมืองจีน” จับมือกับวอร์เนอร์ บรอสของฮอลลิวู้ด บุกตลาดภาพยนตร์แผ่นดินใหญ่เทศ ในชื่อบริษัท แฟล็กชิป เอ็นเตอร์เทนเมนท์ กรุ๊ป (Flagship Entertainment Group) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง โดยมีสัดส่วนหุ้น ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า (consortium) ที่นำโดย CMC ถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ และ วอร์เนอร์ บรอส ถือหุ้น 49 เปอร์เซนต์
ในกลุ่มกิจการร่วมค้าของ CMC นี้ มี TVB รวมอยู่ด้วย โดยถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ การแถลงจับมือร่วมทุนระหว่างสองยักษ์ใหญ่ภายนตร์นี้ เกิดก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนสหรัฐฯในวันจันทร์(21 ก.ย.)
หลี่ รุ่ยกัง ประธานผู้ก่อตั้ง CMC และ เควิน ซึจิฮารา ประธานและซีอีโอ ของวอร์เนอร์ บรอส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แถลงข่าวการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน แฟล็กชิป เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เมื่อวันอาทิตย์(20 ก.ย.) โดยมีเป้าหมายพัฒนาและผลิตภาพยนตร์ภาษาจีน จัดจำหน่ายในตลาดโลก รวมทั้งตลาดจีนด้วย
ผลงานชิ้นแรก คาดว่าจะออกสู่ตลาดในต้นปีหน้า 2559
สำหรับ หลี่ ผู้มีฉายา “รูเพิร์ต เมอร์ด็อกแห่งเมืองจีน” เป็นผู้มีผลประโยชน์และประสบการณ์แน่นปึกในวงการสื่อ กล่าวในงานแถลงฯว่า ประสบการณ์ความชำนัญอันล้ำลึกของวอร์เนอร์ จะช่วยพัฒนาคุณภาพของภาพยนตร์ภาษาจีน
ประธานบริหารของ TVB นาย Mark Lee Po-on กล่าวว่าการจับมือกับวอร์เนอร์ บรอส ครั้งนี้ จะช่วยให้ TVB ได้เข้าร่วมการผลิตในระดับโลก โดยธุรกิจร่วมทุนจะมุ่งทำภาพยนตร์สำหรับป้อนตลาดโลก ซึ่งมีการผลิตที่แตกต่างไปจากภาพยนตร์สำหรับตลาดท้องถิ่น ศิลปินนักแสดงและผู้ร่วมงาน จะได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้การสร้างภาพยนตร์ระดับอินเตอร์ฯนี้
ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา TVB ได้จัดตั้งบริษัท ชอว์ บราเดอร์ส์ พิกเจอร์ส (Shaw Brothers Pictures) เพื่อบุกตลาดแผ่นดินใหญ่
ทั้งนี้ หลี่ ก่อตั้ง CMC ในปี 2552 และในปี 2555 ได้ร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่บันเทิงแห่งสหรัฐอเมริกา ดรีมเวิร์ค แอนนิเมชั่น (DreamWorks Animation) สร้างธีมพาร์ค มูลค่าโครงการ 20 ล้านหยวน หรือ ราว 100 ล้านบาท ในมหานครเซี่ยงไฮ้
ขณะที่รายได้จากหน้าห้องขายตั๋วภาพยนตร์ หรือ บ็อกซ์ออฟฟิศในสหรัฐฯและแคนนาดารวมกัน ตกลง 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว เท่ากับ 10,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านบ็อกซ์ออฟฟิศจีน พุ่งขึ้น 1 ใน 3 เท่ากับ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากข้อมูลของสมาคมภาพยนตร์อเมริกา (Motion Picture Association of America)
นอกจากนี้ จากข้อมูล PwC ระบุอัตราขยายตัวของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจีน กำลังไล่กวดสหรัฐฯติดๆ โดยตัวเลขคาดการณ์ ระบุ บ็อกซ์ออฟฟิศจีนจะทะลุ 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562
กลุ่มบริษัทภาพยนตร์โลกต่างดิ้นรนเข้าเจาะตลาดจีนมีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก ทั้งมีอนาคตสดใส แต่ก็ต้องผจญกับกรรไกรเซนเซอร์อันคมกริบของพญามังกร อีกทั้งข้อจำกัดจากระบบโควต้าการนำเข้าภาพยนตร์ที่เข้มงวด โดยจีนได้กำหนดโควตานำเข้าภาพยนตร์ 34 เรื่องต่อปี
ดังนั้น เหล่ายักษ์ใหญ่สตูดิโอโลก อย่าง พาราเมาท์ พิกเจอร์ส (Paramount Pictures), ดรีมเวิร์ค แอนนิเมชั่น (DreamWorks Animation SKG Inc), ไลออน์ เกท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (Lions Gate Entertainment Corp) และ วอล์ท ดิสนีย์ (Walt Disney Co) ต่างได้จับมือร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่นแดนมังกรกันไปถ้วนหน้าแล้ว.