เชื่อว่าผู้กำกับภาพยนตร์บ้านเรามีความรู้ มีความสามารถ ไม่ด้อยไปกว่าต่างชาติแม้แต่น้อย แต่การสร้างภาพยนตร์ซักเรื่องหนึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งปัจจัยหนึ่งสำคัญมาก นั่นก็คือเงินทุนในการสร้าง ถ้าหากมีเงินในกระเป๋าก็ไม่ต้องเดือดร้อนดิ้นรนหาแหล่งทุน ผู้ร่วมทุน สามารถสร้างได้ทันที ส่วนคนที่ไม่มีทุนถึงแม้ว่าจะมีฝีมือพร้อมผลิตผลงานดีๆ ออกสู่สายตาผู้ชม ต้องออกแรงวิ่งเต้นเฟ้นหาผู้ร่วมทุนในประเทศและต่างประเทศ
การวิ่งหาเงินทุนของผู้สร้าง ผู้กำกับ ในบางครั้งก็มีข้อจำกัดโดยเฉพาะหาแหล่งทุนจากต่างประเทศ นั่นก็คือภาษารวมถึงกลุ่มทุน เพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้ กระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมให้สองฝ่ายเจรจาธุรกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล่าให้ฟังว่า วธ.เป็นสื่อกลางในการเจรจาธุรกิจอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาหลายปีแล้ว ซึ่งก่อนจะถึงเทศกาลหนัง จะมีเจ้าหน้าที่ไทยติดต่อนักธุรกิจหรือผู้สนใจไว้ล่วงหน้า จากนั้นจะนัดให้ 2 ฝ่ายมาคุยกัน ถึงแม้ว่าการพบปะเจอะเจอกันอาจจะไม่ได้ข้อสรุปทันที เพราะขึ้นชื่อว่าธุรกิจเขาจะมองเรื่องคุ้มทุน ได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากน้อยเพียงใดด้วย
“เราทำหน้าที่สื่อกลางในการเจรจา 4 ครั้ง รวม 11 เรื่อง โดยสร้างเสร็จและฉายแล้ว 2 เรื่อง สร้างเสร็จรอฉาย 5 เรื่อง ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างดำเนินการสร้าง สำหรับปีนี้ที่มีการเจรจาผ่าน วธ.จำนวน 3 เรื่อง คือ สุริยา ลูกทุ่ง Uncle Ho และซิดนีย์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่นานผลงานเหล่านี้จะเข้าโรงฉายในประเทศและต่างประเทศ”
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ในแวดวงได้มีการวิเคราะห์ตลาดภาพยนตร์ในช่วงที่ผ่านมา เรามีจุดเด่น นักแสดง บทภาพยนตร์ อย่างหนังบู๊ จา พนม ถ่ายทอดแม่ไม้มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่ไทยและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ขณะที่บทภาพยนตร์ผี เป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติมาก เพราะมีหลากหลายอรรถรส น่ากลัว ตลก ผจญภัย มีมุมฮาๆ เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม
เมื่อถามว่าปัจจุบันคนนิยมหันมาดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ศ.ดร.อภินันท์ แสดงความเห็นว่า การดูผ่านเน็ตจะเป็นหนังเก่าๆ หรือคนละเกรด ที่สำคัญมันคนละอารมณ์ ดูจากเน็ตดูตอนไหนก็ได้ หากดูในโรงภาพยนตร์จะสนุกตื่นเต้นมากกว่าที่สำคัญได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
“ต่างชาติโดยเฉพาะแถบยุโรปไม่ค่อยดูจากเน็ต เขาจะใช้วันหยุดถือเป็นวันครอบครัว พากันไปดูหนังร่วมกัน เที่ยวสถานที่ต่างๆ สร้างความใกล้ชิดภายในครอบครัว เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าธุรกิจภาพยนตร์ยังเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลกแน่นอน เพียงแต่ผู้สร้างอาจจะเหนื่อยหน่อยต้องวิเคราะห์ตลาดผู้ชมว่าช่วงนั้นหนังประเภทไหนมาแรง หนังบู๊ หนังผี หนังแนวจินตนาการ การ์ตูน มาแรง อย่างไรก็ตาม ยุคโซเซียลมาแรง ผู้สร้าง ผู้เขียนบท คงต้องทำการบ้านค่อนข้างหนักว่าหนัง 2 ชั่วโมง จะพ็อตเรื่องอย่างไรให้คนดูติดตามแบบไม่กะพริบตา ”
นอกจากนี้ ไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ภาพยนตร์นับเป็นหนึ่งในการเปิดประตูเชื่อมสัมพันธ์ประเทศในอาเซียน เปิดโลกการเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรม ภาษา และอื่นๆ ของกันและกัน อาจใช้เวทีนี้ ให้ผู้กำกับ นักลงร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ร่วมกัน พร้อมกันนี้จะเป็นโอกาสดีๆ ที่แต่ละประเทศนำหนังเก่า สารคดี และอื่นๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ดู มาฉายให้ดูด้วย
...การสร้างภาพยนตร์นอกจากผู้ชมจะได้รับความบันเทิงแล้ว สถานที่ถ่ายทำ อาหาร วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ผ่านแผ่นฟิล์ม มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาชมความงดงามของธรรมชาติ ลิ้มรสอาหารไทย สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างรายได้ให้แก่ประเทศด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่