xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯจีนมุ่งดันการปฏิรูป ไม่อัดฉีดเงินสู่ระบบ ยอดขายรถยนต์จีนส่อเค้าลดลงเป็นปีแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวในพิธีเปิดการประชุม เวิร์ลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่เมืองต้าเหลียน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. (ภาพ รอยเตอร์ส)
เอเจนซี--นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงแห่งจีน กล่าวแก่ที่ประชุม เวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เมื่อวานนี้(10 ส.ค.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ว่าจะไม่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในทางการเงิน* พร้อมกับให้คำมั่นจะผลักดันการปฏิรูปและช่วยเหลือภาคบริษัท เพื่อคลี่คลายภาวะชะลอตัวในเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับสองของโลก

นายกฯหลี่ชี้ว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่จะส่งผลกระทบในเชิงลบ และผลกระทบไหลล้นสู่ภายนอก (spillover effects)

รายงานข่าวชี้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกฯออกมากล่าวปฏิเสธแนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรงด้วยมาตรการอัดฉีดเงินสู่ระบบ แต่การกล่าวฯในครั้งนี้ เกิดขึ้นในจังหวะที่ตัวเลขเงินเฟ้อทะยานสูงสุดในรอบ 1 ปี และราคาสินค้าหน้าโรงงานตกลงอย่างรวดเร็วในรอบ 6 ปี ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าว ได้ดับความหวังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้นำจีนยังต้องใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“จีนจะระดมมาตรการหลายๆอย่างในการปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค” หลี่ กล่าวในการประชุมเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค. ที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง

นายกฯหลี่ยังกล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเพื่อที่จะควบคุมความผันผวนเศรษฐกิจในระยะสั้น และป้องกันปัญหาขยายวงออกไป

“หากจะมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจได้ตกต่ำทะลุระดับที่เหมาะสม เราก็ยังมีความสามรถเพียงพอที่จะจัดการกับความเสี่ยง ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจีนจะตกกระแทกอย่างแรง” หลี่กล่าว

นายกฯแดนมังกรยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจจะสูงหรือต่ำไปกว่านี้ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ตราบเท่าที่การจ้างงานและรายได้ผู้อาศัยยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง อีกทั้งมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมส่งผลดีขึ้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่คือหลีกเลี่ยงอัดฉีดเงินเข้าไปท่วมระบบ และหันมาปฏิรูปเพื่อสกัดการชะลอตัว ขณะนี้มาตรการปฏิรูปก็เริ่มออกดอกออกผลแล้ว

ฟู่ ปิงเทา นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารเพื่อการเกษตร บอกว่ารัฐบาลไม่ห่วงดัชนีเศรษฐกิจระยะสั้น จะห่วงการควบคุมสภาพการณ์โดยกว้าง ให้อยู่ในความคาดหมายมากกว่า

“ไม่ว่า จีดีพี จะชะลอตัวที่ 6.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคือเป็นระดับที่เศรษฐกิจจะดำรงอยู่ในเสถียรภาพ เราห่วงเรื่องผลประกอบการระยะยาว อย่างเช่น ความคืบหน้าในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และจะควบคุมความเสี่ยงต่างๆได้หรือไม่” ฟู่ กล่าว ส่วนเป้าหมายอัตราเติบโตในปี 2558 นี้ อยู่ที่ 7 เปอร์เซนต์
ภาพเมื่อวันที่ 8 ก.ย. คนงานกำลังตรวจสอบรถยนต์นำเข้าใหม่ ยี่ห้อ เรโนลต์ ที่ท่าเรือชายทะเลเมืองชิงเต่า มณฑลซันตง ขณะนี้ยอดขายรถยนต์ในแดนมังกร กำลังซบเซา โดยยอดขายเดือนส.ค. ลดลง เป็นเดือนที่สาม แต่บางยี่ห้อเผยยอดขายยังดีอยู่ (ภาพ เอพี)
เงินเฟ้อจีนสูงเกินคาด ราคาสินค้าหน้าโรงงานร่วงผล็อย
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ซีพีไอ ของเมื่อเดือนที่แล้ว (ส.ค.) ทะยานสูง 2 เปอร์เซ็นต์ เทียบจากเมื่อปีที่แล้ว ผิดไปจากความคาดหมายตลาดที่คาดว่าซีพีไอจีนในเดือนส.ค. จะสูงขึ้น 1.8 เปอร์เซนต์ โดยมีปัจจัยจากราคาอาหารที่แพงขึ้นๆ อาทิ ราคาผักสดแพงขึ้น 15.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เนื้อหมูและเนื้อแปรูรูปต่างๆ ขยับขึ้น 9.3 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้อัตราขยายตัวของซีพีไอ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อตัวหลัก ได้เร่งฝีก้าวจากระดับ 1.6 เปอร์เซ็นต์ และ 1.4 เปอร์เซ็นต์ ของเดือนก.ค. และเดือนมิ.ย. ตามลำดับ จัดเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 1 ปี จากเดือนส.ค.เมื่อปีที่แล้ว

แต่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดก็ยังปรากฏอยู่ เนื่องจากดัชนีราคาผู้ผลิต หรือพีพีไอ หรือราคาสินค้าที่หน้าโรงงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้ออีกตัว และบ่งชี้ราคาในอนาคตนั้น ได้ตกมาอยู่ที่ 5.9 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนส.ค. จากระดับ 5.4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนก.ค. นับเป็นการลดระดับลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 6 ปี โดยดัชนี พีพีไอ นี้ สะท้อนถึงความสามารถในการผลิตที่มากเกิน และความต้องการตลาดไม่เพียงพอ

ส่วนอัตราขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง เท่ากับ 7 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าที่ตลาดคาดหมาย แต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การค้า การผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวร ล้วนขยายตัวในระดับกลางๆ

สำหรับการค้าในเดือนส.ค.นั้น ซบเซาลง ได้แก่ การส่งออกตกลง 6.1 เปอร์เซ็นต์ และการนำเข้าก็ลดลงอีก 14.3 เปอร์เซ็นต์

ยอดขายรถยนต์ในจีนรถซบเซา
ยอดขายรถในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นิ่งสนิท โดยยอดขายระหว่างเดือนส.ค. ได้ตกลง 3 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนหน้า เท่ากับ 1.7 ล้านคัน โดยเป็นตัวเลขยอดขายที่ลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน จากข้อมูลสมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน (China Association of Automobile Manufacturers /CAAM) เผยเมื่อวันพฤหัสฯ (10 ก.ย.)

ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีนในปีนี้ลดลงเป็นปีแรก นับตั้งแต่จีนเปิดตลาดรถยนต์ในปลายทศวรรษที่ 1990

*มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) คือนโยบายทางการเงินรูปแบบหนึ่ง หลักการของการดำเนินนโยบายคือการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน และจะให้สถาบันทางการเงิน ปล่อยกู้ให้ภาคเอกชนต่อไป เพื่อกระตุ้นให้ ประชาชนในประเทศ มีการใช้จ่ายมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น