เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องรัฐบาลจีนใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน หลังจากอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ สัญญาณแดนมังกรเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
จากรายงานของสำนักสถิติแห่งชาติจีนเมื่อวันอังคาร ( 9 มิ.ย.) ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ ซีพีไอ ซึ่งวัดภาวะเงินเฟ้อแดนมังกรประจำเดือน พ.ค. ลดลงเหลือร้อยละ 1.2 จากร้อยละ 1.5 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.3 เนื่องจากราคาอาหารถูกลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อสุกร
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต หรือพีพีไอ ประจำเดือนพ.ค. ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในส่วนที่ผู้ผลิตได้รับ ยังคงติดลบร้อยละ - 4.6 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แสดงถึงอำนาจในการกำหนดราคาของผู้ผลิตที่น้อยลงทุกที ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตชะลอการลงทุน
ภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งเร่งใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินใช้ไม่ได้ผล
นายแอนดรูว์ โพล์ก นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจจีนในกรุงปักกิ่งระบุว่า ขณะนี้จีนอยู่ในท่ามกลางภาวะย่ำแย่ของงบดุล บริษัทและธนาคารกำลังวุ่นวายกับการปรับแก้ไขงบดุล ที่มีหนี้สินสูง ทำให้ความต้องการกู้ยืมพลอยลดลงตามไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงควรลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมาก และเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้น
ด้านนาย สี ตงหมิง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโอซีบีซี มองว่า แรงกดดันด้านเงินฝืดในจีนยังอยู่ห่างไกล ขณะเดียวกันก็ยังมีโอกาสอีกมาก ที่รัฐบาลปักกิ่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือนเมื่อเดือนพ. ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งการลดสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม แทบไม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย
นักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับมองว่า จีนอาจกำลังเดินเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “กับดักสภาพคล่อง” (liquidity trap) ซึ่งแม้อัดฉีดเงินสดเข้าสู่การหมุนเวียนในระบบแล้ว แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการลงทุน ที่สร้างผลผลิตขึ้นได้
นักเศรษฐศาสตร์บางคนยังเห็นว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินนี้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเท่านั้น นับตั้งแต่ธนาคารกลางจีนเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557
ขณะที่บรรดาผู้บริหารของบริษัทระบุว่า แรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในจีนมีน้อย เนื่องจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนมักต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวโดยทั่วไปแล้วสูงยิ่งกว่าน
ผลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจประจำเดือนพ.ค. แทบไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจของจีนในภาพรวม ที่ยังคงชะลอตัวจากแรงกดดันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา การมีกำลังการผลิตสินค้าออกมาล้นเกินในตลาด จนไม่สามารถทำกำไรได้ และหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น
นายอาร์เทอร์ โครเบอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยเกฟคัล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) ระบุในรายงานว่า ภาคอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนนำเศรษฐกิจจีน มาตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ของทศวรรษ 2543-2553 กำลังตกหล่มของกำลังการผลิตล้นเกิน ขณะที่ราคาผู้ผลิตตกต่ำลงอย่างแข็งแกร่ง
“ ยุคเฟื่องฟูจบลงแล้วอย่างชัดเจน และความเจ็บปวดมากมายกำลังรออยู่ข้างหน้า” เขาระบุ