xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำจีนประกาศทำสงครามกบฏแบ่งแยกดินแดนทิเบตไม่เลิกรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเมื่อครั้งไปเยือนทิเบตในปีพ.ศ.2554 ก่อนขึ้นเป็นผู้นำจีน -ซินหวา
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนไม่ยอมพบครึ่งทางข้อเสนอจัดตั้งเขตปกครองตนเองของผู้นำจิตวิญญาณทิเบต โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศกร้าวปราบปรามกบฏแบ่งแยกดินแดนทิเบตไม่รามือ

ในการประชุมผู้นำระดับสูงของจีนเกี่ยวกับทิเบตครั้งที่ 6 ซึ่งดำเนินเป็นเวลา2 วันในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสีย้ำว่า เขาจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางในการทำสงครามปราบปรามการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนทิเบต ที่มีองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณทิเบต เป็นผู้ขับเคลื่อน นอกจากนั้น ผู้นำจีนยังเรียกร้องให้มีการส่งเสริมการสร้างความรักชาติในหมู่ชาวพุทธเชื้อสายทิเบต การบริหารจัดการวัดวาอารามในระยะยาว และการแปลหลักคำสอนทางศาสนา ที่เข้ากันได้กับประเทศสังคมนิยม ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของชนต่างชาติพันธุ์ภายใต้ความเป็นชาติจีนเดียวกัน

ด้านองค์ทะไล ลามะ ทรงปฏิเสธเรื่องการแสวงหาเอกราช พระองค์เพียงแต่ทรงต้องการเขตปกครองตนเองของชาวทิเบต ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองอย่างแท้จริงเท่านั้น ในลักษณะ ที่พระองค์ทรงเรียกว่า การพบกันครึ่งทาง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งเชื่อว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นแค่การสร้างม่านควันอำพรางการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น และยืนยันว่า ทุกวันนี้ก็มีเขตปกครองตนเองของทิเบตอย่างแท้จริงอยู่แล้ว

ในบทความของฝ่ายการแนวร่วมกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเจรจา ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาโดยตลอด กับคณะผู้แทนขององค์ทะไลลามะ ระบุว่า รัฐบาลจีนจะไม่มีวันยอมรับการพบกันครึ่งทางอย่างแน่นอน เพราะหมายถึงการเฉือนดินแดน 1 ใน 4 ของจีน ซึ่งรวมทั้งมณฑลใกล้เคียง ที่เคยเป็นดินแดนของทิเบตในประวัติศาสตร์

“ ที่เรียกว่า พบกันครึ่งทางนั้น เนื้อแท้ก็คือการเรียกร้องทางการเมืองของพวกแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น” บทความระบุ

ในปีนี้มีการฉลองครบรอบปีของหลายเหตุการณ์ ที่นับว่าสำคัญสำหรับดินแดนทิเบต ซึ่งจีนส่งทหารเข้ายึดครองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2493 โดยเรียกการกระทำนี้ว่า การปลดแอกอย่างสันติ ได้แก่การครบรอบ 50 ปีที่จีนก่อตั้งเขตปกครองตนเองทิเบต และงานฉลองพระชันษา 80 ปีขององค์ทะไลลามะ ซึ่งเสด็จหนีออกจากทิเบตในปีพ.ศ. 2502 ภายหลังจากชาวทิเบตลุกฮือต่อต้านจีน แต่ไม่สำเร็จ และมาประทับลี้ภัยในอินเดียจนถึงปัจจุบัน

ด้านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ทุกวันนี้รัฐบาลจีนยังคงมีการกดขี่ทางวัฒนธรรมและเสรีภาพทางศาสนาในทิเบต และเข้มงวดกวดขันการเข้าไปในพื้นที่ของนักข่าวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนตอบโต้ว่า การปกครองของจีนได้ยุติความเป็นทาส และนำความเจริญมาสู่ดินแดน ที่ล้าหลังแห่งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น