เอเจนซี--เทนซิน เดเลค รินโปเช มรณภาพในเรือนจำที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เมื่อวันอาทิตย์(12 ก.ค.) ชี้ อาจเป็นเหตุโหมกระแสไม่พอใจต่อรัฐบาลกลาง จากการเปิดเผยของญาติๆและกลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษย์ชน เมื่อวันจันทร์ (13 ก.ค.)
เทนซิน ดีเลค รินโปเช (Tenzin Delek Rinpoche) วัย 65 ปี เป็นพระลามะผู้ใหญ่ที่ได้รับการเคารพยกย่องของชนชาติทิเบต ต้องโทษจำคุก 20 ปี ในความผิด “อาชญากรรมร้ายแรง และยุแหย่ลัทธิแบ่งแยกดินแดน”
เกอเช นีมา (Geshe Nyima) ญาติของท่านดีเลค รินโปเช เปิดเผยทางโทรศัพท์จากอินเดียว่า เจ้าหน้าที่จีนได้แจ้ง เรื่องการมรณภาพฯโดยมิได้ระบุสาเหตุการตายที่ชัดเจน
กลุ่มรณรงค์สิทธิมนุษย์ชน ทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้จีนปล่อยตัว ดีเลค รินโปเช
นักเขียนชาวทิเบต เซริง วูเซอร์ (Tsering Woeser) กล่าวว่า ดีเลค รินโปเช เป็นนักโทษการเมือง และเป็นที่รู้จักดีบนเวทีระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 21 ชาวทิเบตกว่า 30,000 คน ได้ลงชื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนปล่อยตัวท่าน
ทั้งนี้ กลุ่มทิเบตพลัดถิ่นระบุการประท้วงต่อต้านจีน เนื่องมาจากการปกครองที่กดขี่ทางวัฒนธรรมและศาสนา การประท้วงอย่างรุนแรงในช่วง 5-6 ปีมานี้ คือ เฉพาะกรณีที่ทราบและมีรายงานออกมา กรณีการเผาตัวเองของลามะและชาวทิเบตจากปี 2552 เท่ากับ 141 คน ในจำนวนนี้ มี 115 คน เสียชีวิต
กรณีชาวทิเบตประท้วงเผาตัวเองรายล่าสุด คือ นาง ซันกี โซ (Sangye Tso) วัย 36 ปี เป็นแม่ลูกสอง เหตุเกิดที่หน้าสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นในแคว้นปกครองตัวเองชนชาติทิเบตแห่งกันหนัน (Gannan) มณฑลกันซู่เมื่อ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เชื่อกันว่านางได้เสียชีวิต
ในสัปดาห์ก่อนหน้าที่นาง ซันกี โซ ประท้วงเผาตัวเอง นาย เทนซิน กัตโซ (Tenzin Gyatso) วัย 25 ปี พ่อลูกสี่ ได้เผาตัวเองในอำเภอเต้าฝู (Daofu) แคว้นปกครองตัวเองชนชาติทิเบตแห่งกันจื่อ (Ganzi) ประท้วงที่รัฐบาลส่งกองกำลังเข้ามาในพื้นที่เพื่อสกัดการเฉลิมฉลองวาระครอบรอบ 80 ปี ของทะไล ลามะ
ทั้งนี้ จีนได้ประกาศผนวกดินแดนทิเบตเป็นเขตปกครองตัวเองของจีนหลังจากที่ได้ส่งกองกำลังเข้าไปในทิเบตเมื่อปี 1950 ในปี 1959 ชาวทิเบตลุกฮือต่อต้านจีนและเกิดการนองเลือดใหญ่ จนทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ได้ลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย และจากนั้นก็มีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในธรรมศาลา ตอนเหนือของแดนภารตะ
ผู้นำจีนวางจุดยืนแข็งกร้าวต่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของชาวทิเบต และประณามทะไล ลามะ ยุแหย่ความรุนแรงเพื่ออิสรภาพทิเบต
ด้านทะไล ลามะ ยืนยันว่าท่านต้องการการปกครองตัวเองที่แท้จริงในทิเบต และปฏิเสธเรื่องเสี้ยมความรุนแรง