เอเจนซี - ทางการจีนแสดงความไม่พอใจกรณีผู้จัดงานเทศกาลดนตรีแดนผู้ดีเชิญองค์ทะไล ลามะ เข้าร่วมงาน โดยชี้ว่ากำลังส่งเสริม “การแบ่งแยกดินแดน” ของผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบตนี้
สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน (26 มิ.ย.) ว่า องค์ทะไล ลามะ จะกล่าวคำปราศรัยแสดง “ความเห็นอกเห็นใจ ความสุขสันติ และความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ” ต่อผู้ร่วมงานเทศกาลดนตรีแกลสตันบูรี (Glastonbury) ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอังกฤษ วันที่ 27-30 มิ.ย. 2558
นางเอมิลี เอวิส ผู้ประสานงานฯ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “กลุ่มผู้จัดงานรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ต้อนรับองค์ทะไล ลามะ เข้าร่วมเทศกาลแกลสตันบูรี ประจำปี 2558” ซึ่งรวบรวมดนตรีและศิลปะการแสดงร่วมสมัยประเภทต่างๆ มาไว้ในงานเดียวกัน
ผู้ถือบัตรราว 135,000 คน ได้ตบเท้ารวมตัวบนลานหญ้าขนาดมหึมา สนุกสนานกับกิจกรรมนานาประเภท ตั้งแต่วันที่ 24-28 มิ.ย. รวมระยะเวลา 5 วัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และมีความเก่าแก่หลายทศวรรษนับตั้งแต่การจัดงานครั้งแรกในปี 2513
อย่างไรก็ดีแดนมังกรกลับไม่สบอารมณ์เท่าไรนัก โดยประณามการเชิญผู้นำทางจิตใจของชาวทิเบต ซึ่งจีนอ้างว่าก่อพฤติกรรม “ก่อการร้ายทางจิตวิญญาณ” เพื่อแสวงหาหนทางแบ่งแยกดินแดนออกไปเป็นอิสระ
“เราคัดค้านการจัดงานที่มีแนวทางสู่การนำเสนอพื้นที่ให้องค์ทะไล ลามะ ดำเนินกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนและต่อต้านการปกครองของจีน” นายลู่ คัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าว
รายงานข่าวเสริมว่าทะไล ลามะ จะยังกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนในฐานทัพสหราชอาณาจักร หมู่บ้านอัลเดอร์ชอท เมืองแฮมป์เชียร์ทางภาคใต้ของเกาะอังกฤษ ตามคำเชิญของศูนย์ชุมนุมพุทธศาสนิกชนแห่งสหราชอาณาจักร (BCCUK) ในสัปดาห์หน้าอีกด้วย
แม้ทะไล ลามะองค์ปัจจุบันเคยตรัสว่าสนับสนุนให้ทิเบตมี “การปกครองตนเองอย่างมีความหมาย” มากกว่าการเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ แต่ปักกิ่งก็ยังคงตามติดทุกย่างก้าว แถมเล่นงานเจ้าหน้าที่หรือผู้นำต่างชาติที่พบปะกับทะไล อาทิ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งหารือกับทะไลในปี 2555 ก็ถูกปักกิ่งลงโทษด้วยการลดทอนความสัมพันธ์ทางการทูตลง
อนึ่งทะไล ลามะองค์ที่ 14 ซึ่งมีพระนามว่า เทนซิน เกียตโซ ต้องหลบหนีออกจากเขตปกครองตนเองทิเบตของจีนในปี 2502 ภายหลังความล้มเหลวจะต่อต้านการปกครองจากรัฐบาลจีน โดยพลัดถิ่นไปอาศัยอยู่ที่ประเทศอินเดียแทน
ด้านชาวทิเบตจำนวนมากก็กล่าวหาว่าทางการจีนกดขี่ข่มเหงพวกเขา ทั้งเรื่องวัฒนธรรมการดำรงชีวิตและการนับถือศาสนา นำไปสู่เหตุการณ์จุดไฟเผาตัวเองเพื่อแสดงการประท้วงของชาวทิเบตมากกว่า 140 คน ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา