xs
xsm
sm
md
lg

จีนรับ “สารเคมีอันตราย” ซุกในโกดังเทียนจิน 3,000 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้อาศัยในนครเทียนจินสวมชุดป้องกันสารพิษหอบหิ้วสัมภาระเดินอยู่ในบริเวณอพาร์ทเมนท์ของเขาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. หลังจากเกิดระเบิดหลายครั้งที่โกดังเก็บสารเคมีในเขตเมืองใหม่ปินไห่ (ภาพ เอเอฟพี)
ไชน่า เดลี - สื่อจีนอ้างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยว่า มีสารเคมีอันตรายนับ 3,000 ตันถูกเก็บในโกดังเก็บสารเคมีของเขตอุตสาหกรรมนครเทียนจิน ขณะที่เกิดเหตุระเบิดใหญ่เมื่อวันพุธ (12 ส.ค.) ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่กระทรวงความมั่นคงแห่งสาธารณะระบุ (17 ส.ค.) ว่า ในโกดังฯมีสารเคมีอันตรายราว 40 ชนิด โดยมีสารโซเดียม ไซยาไนด์ (sodium cyanide) สารประกอบอนินทรีย์ที่มีความอันตรายถึงชีวิตหากกลืนกินหรือสูดดมเข้าสู่ร่างกาย มากถึง 700 ตัน (sodium cyanide) แอมโมเนียมไนเทรต (ammonium nitrate) ราว 800 ตัน และโพแทสเซียมไนเตรต(potassium nitrate) หรือดินประสิวอีกราว 500 ตัน

พลตรี สื่อ หลู่เจ๋อ เสนาธิการทหารประจำภูมิภาคปักกิ่งแห่งกองทักปลดแอกประชาชนจีน ระบุในวานนี้ ( 17 ส.ค.) ว่า หากตรวจพบการปนเปื้อนของไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ในพื้นที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ก็จะใช้สารฆ่าเชื้อไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) เพื่อกวาดล้างถอนสารพิษ

นายหวัง เจี้ยนฟัง กรรมการบริษัทเฉิงซิ่น ในมลฑลเหอเป่ย ผู้ผลิตโซเดียม ไชยาไนด์ที่เก็บในโกดังดังกล่าวเปิดเผยว่า สารเคมีในโกดังได้ถูกบรรจุอยู่ในกระป๋อง มีน้ำหนักราวกระป๋องละ 50 กิโลกรัม ได้เก็บในโกดังเพื่อเตรียมจัดส่งให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศต่างๆมากกว่า 10 ประเทศ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ โดยบริษัทฯได้มีเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการส่งออกถูกต้องตามกฎหมายครบถ้วน

นายเฉิน จิ้งเหอ ประธานกรรมการบริหารบริษัทจื่อจิน ไมนิ่ง บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ ระบุว่าโซเดียม ไชยาไนด์ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพื่อสกัดทอง ซึ่งทำให้ช่วยลดราคาต้นทุนในการสกัดทองได้มาก แต่เป็นสารเคมีอันตราย อาจส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ หากขาดการควบคุมที่เข้มงวด

โซเดียมไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ละลายในน้ำและแอลกอฮอล์ได้ดี เมื่อแห้งจะไม่มีกลิ่น มีความเป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่ใกล้ รวมถึงสัตว์น้ำ สามารถทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนั้นยังมีการตกค้างหรือดูดซับในตะกอนดิน และไม่ถูกทำลายด้วยแสงแดด

รายงานระบุว่า สถานีติดตามคุณภาพอากาศแห่งหนึ่ง ได้ตรวจพบไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) หรือก๊าซพิษ ที่สูงเกินขีดปกติไป 0.08 เปอร์เซ็นต์ และสถานีติดตามโรงบำบัดน้ำเสีย 17 แห่ง ได้ตรวจพบไซยาไนด์ โดยพื้นที่สามแห่ง มีระดับไซยาไนด์เกินขีดมาตรฐาน สถานีติดตามฯแห่งหนึ่งได้บันทึกระดับไซยาไนด์สูงเกินมาตรฐานไป 27.4 เท่า ขณะที่สถานีติดตามอีกสองแห่ง บันทึกระดับไซยาไนด์ที่สูงเกินมาตรฐาน 4.37 เท่า และ 0.96 เท่า ตามลำดับ

กำลังโหลดความคิดเห็น