เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโลครบรอบ 78 ปี โดยไร้เงาผู้นำแดนมังกรเป็นประธานในงานเหมือนเช่นปีก่อน
นาย หลิว อวิ้นซัน ผู้นำหมายเลข 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นประธานในพิธี ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สงครามประชาชนจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานมาร์โคโปโล หรือสะพานลูกัว ชานกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคาร ( 7 ก.ค.) โดยมีการเปิดงานแสดงนิทรรศการ ชื่อว่า “มหาชัยชนะ , การมีส่วนช่วยเหลือ อันน่าจดจำ” (“Great Victory, Historical Contribution”) เป็นการแสดงภาพถ่ายจำนวน 1,170 ภาพ และสิ่งของ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นจำนวน 2,834 ชิ้น รูปภาพและข้าวของเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการต่อสู้ในสงครามกับญีปุ่นจนได้รับชัยชนะ
การสู้รบระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับจีน ที่สะพานมาร์โคโปโลจุดชนวนให้ญี่ปุ่นกับจีนกลายเป็นศัตรูคู่แค้นกันในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม การจัดงานของจีนในปีนี้ลดระดับการให้ความสำคัญลงอย่างเห็นได้ชัด โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มิได้มาเป็นประธานในพิธี และสื่อมวลชนของทางการก็มิได้เสนอข่าวอย่างเอิกเกริกเหมือนเช่นปีก่อน
ประธานาธิบดีสีเป็นประธานาธิบดีคนแรกของจีน ที่เข้าร่วมพิธีรำลึกอย่างเป็นทางการในปี 2557 พร้อมกับประกาศว่า จีนจะต่อสู้ขัดขวางความพยายามใด ๆ ก็ตาม ที่จะลบล้างหลักฐานความก้าวร้าวของญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ สุนทรพจน์ดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประธานาธิบดีสีและนายกรัฐมนตรีอาเบะมีการประชุมร่วมกันถึง 2 ครั้ง จากนั้น มีการติดต่อด้านการเมืองระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงร่วมกันอีกหลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโลเป็นการเริ่มต้นการจัดกิจกรรมอีกหลายอย่างในปีนี้ เนื่องในโอกาสครบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
การสู้รบระหว่างกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกับจีนใกล้สะพานดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2480 กลายเป็นจุดแตกหักไปสู่การทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งยุติลง เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 2488
สำหรับงานนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ได้แสดงให้เห็นความโหดร้ายน่าสยดสยองของสงคราม เช่น กะโหลกของเหยื่อผู้หนึ่งในเหตุการณ์สังหารหมู่เมืองนานกิงเมื่อปี 2480 หรือกรงเหล็กที่ใช้ขังทรมาณนักโทษชาวจีน ตลอดจนรูปถ่ายของหญิงชาวจีน ที่ถูกทหารญี่ปุ่นข่มขืน และถูกคว้านท้อง แล้วโยนทิ้งข้างถนน
นอกจากนั้น มีข้อน่าสังเกตว่า มีการแปลคำอธิบายเกี่ยวกับรูปภาพเป็นภาษาอังกฤษเกือบทุกรูป ซึ่งตอกย้ำเจตนาของรัฐบาลปักกิ่งในการตีแผ่ความโหดร้ายของญี่ปุ่นและความกล้าหาญของฝ่ายทหารพรรคคอมมิวนิสต์ไปสู่สายตาชาวโลก รวมทั้งเป็นการชี้แจงว่า พรรคอมมิวนิสต์จีนคือผู้มีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้จีนประสบชัยชนะ มิใช่กองทัพจีนคณะชาติ ซึ่งอพยพไปอยู่ไต้หวันในเวลาต่อมาอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน