เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - บริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แข่งประมูลที่ดินเซี่ยงไฮ้อย่างดุเดือด ทำราคาสูงสุดพุ่งถึง 44,000 หมื่นล้านบาท นับเป็นราคาที่ดินสูงสุดในเซี่ยงไฮ้ในปีนี้
วันพุธที่ผ่านมา (3 มิ.ย.) ได้มีการจัดประมูลที่ดินในเซี่ยงไฮ้ และมีบริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เข้าร่วมแข่งขันประมูลหลายบริษัท โดยกลุ่มบริษัทหวาฟา (Huafa Group ) ร่วมกับบริษัทไชน่า รีซอร์ซ แลนด์ (China Resources Land) ชนะการประมูลที่ดินที่ราคาสูงที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ในเขตจ๋าเป่ย ทางเหนือของเซี่ยงไฮ้ สร้างสถิติใหม่ด้วยราคา 8,800 ล้านหยวนหรือราว 44,000 ล้านบาท คำนวณเป็น 38,061 หยวน หรือราว 190,305 บาทต่อตารางเมตร
วันเดียวกัน ก็มีการประมูลที่ดินในเขตเป่าซาน ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ ผิงอัน บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของจีนร่วมกับบริษัทไชน่า เมอร์ชานต์ส พร็อพเพอร์ตี้ ชนะการประมูลไปด้วยราคา 3,010 ล้านหยวนหรือราว 15,000 ล้านบาท ราคาต่อตารางเมตรประมาณ 23,277 หยวน หรือราว 116,385 บาท
แม้ว่าที่ดินในเซี่ยงไฮ้จะเป็นที่ดินยุทธศาสตร์ที่อาจทำกำไรมหาศาลได้ในอนาคต แต่บริษัทหลายรายก็จำใจถอนตัวจากการแข่งขันเนื่องจากสู้ราคาที่สูงขนาดนั้นไม่ไหว
“เซี่ยงไฮ้” เป็นดินแดนที่ถูกกล่าวขวัญกันในเรื่องราคาที่ดินที่สูงลิบ ก่อนหน้านี้ในปี 2013 ซึ่งเป็นยุคทองของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน บริษัท ซุน ฮุง ไก พร็อพเพอร์ตี (Sun Hung Kai Properties) ได้ซื้อที่ดินที่ราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เซี่ยงไฮ้ด้วยราคา 21,800 ล้านหยวน หรือราวแสนล้านบาท ด้วยราคาต่อตารางเมตรราว 37,000 หยวน หรือราว 185,000 บาท
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ที่ดินในเซี่ยงไฮ้มีจำกัดมาก ทำให้บริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พร้อมจะแข่งกันควักกระเป๋าซื้อที่ดินในเซี่ยงไฮ้ แม้แต่ที่ดินที่ดูเหมือนไร้ค่าก็ตาม โดยสุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเสียเงินเปล่า เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ดูมีอนาคตที่สดใส
ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มกังวลว่าราคาที่ดินที่สูงขึ้นจะทำให้อัตราการขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง และยังเพิ่มภาระทางการเงินให้แก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
เมื่อตลาดที่ดินในเมืองเล็กๆเริ่มล้นไปด้วยโครงการพัฒนาที่ดินต่างๆและเริ่มไม่เหมาะสมกับการลงทุน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงแห่กันไปซื้อที่ดินในหัวเมืองหลัก (First-tier) อย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น แทน ซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นและจำนวนที่ดินที่จำกัดทำให้ราคาที่ดินในเมืองหลักปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญ อย่างโอวหยัง เจี๋ย (Ouyang Jie) ผู้บริหารระดับสูง Future Holdings ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า เขาเริ่มกังวลว่าราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจกระทบต่อการทำกำไรของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต โดยส่วนต่างราคาต้นทุนกับราคาขายที่ดินในเซี่ยงไฮ้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 13,000 หยวน หรือราว 65,000 บาทต่อตารางเมตรในปี 2013 กลายเป็น 8,000 หยวนหรือราว 40,000 บาทในปีที่แล้ว และลดลงเหลือ 6,000 หยวนหรือราว 30,000 บาทในไตรมาสแรกของปีนี้
หลายคนเห็นว่าราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เซี่ยงไฮ้ไม่ใช่ทำเลทองคำสำหรับการลงทุนอีกต่อไป