เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ความเห็นของเจ้าหน้าที่จีนส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนโยบายของแดนมังกรจากการมุ่งเก็บสำรองคลังธัญญาหารของชาติ โดยหันมาเน้นการสร้างความปลอดภัยด้านอาหารเป็นอันดับแรก พร้อมกับเพิ่มการนำเข้าผลผลิตการเกษตรจากตลาดต่างประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารอีกทางหนึ่ง
ในการประชุมว่าด้วยการพัฒนาจีน 2015 (China Development Forum 2015 ) ซึ่งเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นจากบุคคลในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจัดที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันเสาร์ ( 14 มี.ค.) นายฮั่น จวิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกลุ่มผู้นำงานชนบทกลาง ( Office of Central Rural Work Leading Group) ระบุว่า ที่ผ่านมาจีนหมดเปลืองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไปกับการเพิ่มผลผลิตธัญพืชมหาศาลสำหรับเก็บสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ แต่ขณะนี้จีนต้องมุ่งเน้นด้านการเพิ่มผลผลิตธัญญาหารอย่างมีคุณภาพควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายฮั่นเสนอว่า จีนควรรักษานโยบายคลังสำรองธัญญาหารสำหรับการบริโภคอย่างเพียงพอของประชากรในประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรผ่อนคลายเป้าหมายการจัดเก็บ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ที่รัฐบาลเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะจำกัดการใช้ทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
ด้านนายเฉียง เคอหมิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกระทรวงเกษตรจีนระบุว่า สัดส่วนการสำรองธัญญาหารให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศของจีนสามารถลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 85 ได้ภายในปี 2563 จากร้อยละ 95 ที่รัฐบาลปักกิ่งคงไว้ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา โดยผลผลิตข้าวเจ้าและธัญพืชอื่น ๆ อาจลดระดับการผลิตอยู่ที่ 610 ล้านตัน จากในช่วงที่ผ่านมา 650 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับการเก็บสำรองเกือบจะสูงสุด แต่ทำให้แหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมถูกใช้อย่างหนัก
ขณะที่นายหนิง เกานิ่ง ประธานบริษัทธัญพืช น้ำมัน และอาหารแห่งชาติ (China National Cereals, Oils and Foodstuffs Corp) เสนอว่า จีนควรเปิดตลาดด้านสินค้าเกษตรให้มากกว่าในปัจจุบัน โดยนอกจากการบริโภคข้าวเจ้าและข้าวสาลีในปริมาณ ที่เพิ่มขึ้นแล้ว จีนยังกำลังบริโภคอาหาร ที่อุดมด้วยโปรตีนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหมายถึงการมีซัปพลาย ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้